เมินหุ้นแบงก์ สินเชื่อชะลอ Q2 คุมธุรกิจกทม. MAJOR-SPA ฝ่อ

HoonSmart.com>>หุ้นพลิกล็อค บวก 5 จุด จากความหวัง บล.เคทีบีเอสที เปิดโผหุ้นถูกกระทบ ปิด 31 สถานที่ในกรุงเทพฯ 14 วัน MAJOR-SPA-AU-ZEN-M-OISHI-SNP-CENTEL-MINT บล.หยวนต้าชูกลุ่ม Global Play บล.บัวหลวงเน้นส่งออก-ปิโตรฯ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดสินเชื่อไตรมาส 2 ชะลอตัวลง 

หุ้นแรงผิดคาด วันที่ 26 เม.ย. ช่วงเช้าติดลบเกือบ 10 จุด สุดท้ายดีดขึ้นปิดที่ 1,559.53 จุด เพิ่มขึ้น 5.94 จุด หรือ+0.38% ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวม 83,672.26 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อ 1,847.68 ล้านบาท และซื้ออนุพันธ์ 3,327 สัญญา ส่วนสถาบันขายหุ้นต่อ1,547.86 ล้านบาท ขายอนุพันธ์ด้วย 4,023 สัญญา และนักลงทุนไทยขายหุ้น 768.23 ล้านบาท

ตลาดตีกลับมาบวกได้ จากความหวัง ยอดผู้ติดเชื้อลดลงเหลือ 2,048 ราย และผู้เสียชีวิต 8 ศพ ลดลงจาก 11 ศพ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีประกาศจัดหาวัคซีน 10-15 ล้านโดส/เดือน เพื่อฉีดให้ครอบคลุม 50 ล้านคนปีนี้ ขณะที่ศบค.เตรียมทบทวนมาตรการ วันที่ 29 เม.ย.หลังหลายพื้นที่ดีขึ้น หลังจากเพิ่งประกาศปิด 31 สถานที่ในกรุงเทพฯ 14 วัน

ข่าวดีส่งผลให้ราคาหุ้นโรงพยาบาล และโรงแรมปรับตัวขึ้น ขณะที่หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ลดลง KBANK ปิดที่ 131.50 บาท ลดลง 0.50 บาท SCB ปิดที่ 103.50 บาท ลบ 1 บาท BBL ปิดที่ 121 บาท ลดลง 0.50 บาท หลังหมดสิทธิรับเงินปันผล (XD) และธุรกิจได้รับผลกระทบลจากโควิด-19 ที่แพร่ระบาดมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที (KTBST) ออกบทวิเคราะห์หุ้นที่กระทบจากมาตรการปิด 31 สถานที่เสี่ยงในกรุงเทพฯ อาทิ ปิดโรงภาพยนตร์ ร้านนวดสปา ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า เปิดบริการได้ตั้งแต่เวลา 11.00-21.00 น. ร้านสะดวกซื้อ เปิดตั้งแต่เวลา 05.00-22.00 น. ส่วนร้านอาหารมาตรการเหมือนเดิม ให้รับประทานที่ร้านถึง 21.00 น. หลังจากนั้นถึง 23.00 น. ให้สั่งกลับ

บริษัทที่ได้รับผลกระทบเชิงลบนัยสำคัญ ได้แก่ MAJOR มีโรงภาพยนตร์ 36 แห่งในกรุงเทพฯ  คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 41% และปริมณฑล 44%   ส่วน SPA ได้รับผลกระทบโดยตรง มีสาขาอยู่ในกรุงเทพฯ 38 สาขา จากทั้งหมด 70 สาขา สำหรับร้านอาหารที่ต้องนั่งเว้นระยะห่างเพิ่มขึ้นส่งผลต่อรายได้ของ AU, ZEN, M, OISHI, SNP, CENTEL, MINT

ขณะที่กลุ่มโรงพยาบาล,ถุงมือยาง และสินค้าวิตามิน คือ MEGAได้ประโยชน์ราคาระยะสั้นปรับขึ้นดีกว่าตลาด

บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) แนะเพิ่มความระมัดระวัง หากดัชนีปิดต่ำกว่า 1,545 จุด เสี่ยงสร้างฐาน 1,500 จุด ชูกลุ่ม Global Play กระทบโควิดในประเทศน้อย กลุ่ม Domestic Play ถูกกระทบหลังรัฐออกมาตรการคุมเสี่ยงโควิด คัดหุ้นแนะนำวันนี้สะสม ADVANC เก็งกำไร EKH-IRPC

บล.บัวหลวงแนะนำหุ้นส่งออกเชื่อมโยงเศรษฐกิจโลก และปิโตรเคมี แนะนำ RCL ,LEO และ PTTGC

ด้านบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ภาพรวมสินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับสุทธิของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ 19 แห่งในไตรมาสแรกปี 2564 อยู่ที่ระดับ 12.85 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 0.55%  นำโดย สินเชื่อสำหรับภาคธุรกิจและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย  แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สินเชื่อชะลอการขยายตัวลงมาที่ 4.43%   จากที่เติบโต 6.13% ในไตรมาส 4/2563 เนื่องจากเทียบกับฐานที่สูงมากในไตรมาสที่ 1/2563 ซึ่งเป็นช่วงที่สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจที่ต้องรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด 19 ระลอกแรก

ส่วนภาพรวมเงินรับฝากของธนาคารอยู่ที่ระดับ 14.70 ล้านล้านบาทในไตรมาส 1/2564 ชะลอการเติบโตลงมาที่ 4.98%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เทียบกับเติบโตสูงถึง 10.92% ในไตรมาสที่ 4/2563 อย่างไรก็ดี ยอดคงค้างเงินฝากยังคงขยับขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า นำโดย การเพิ่มขึ้นของเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวัน

สำหรับแนวโน้มสินเชื่อในไตรมาส 2/2564 คาดว่าจะสามารถประคองทิศทางการขยายตัวไว้ได้ต่อเนื่อง แต่อัตราการเติบโตน่าจะทำได้ใกล้เคียงหรือชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก  เพราะสถานการณ์โควิด-19 ระลอกสามที่มีความเสี่ยงมากขึ้นและยังคงแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทำให้ธุรกิจมีความต้องการ เพื่อลงทุนใหม่หรือเป็นเงินทุนหมุนเวียนยังจำกัดตามภาพเศรษฐกิจ ขณะที่ธนาคารยังคงต้องประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของการปล่อยสินเชื่อใหม่อย่างระมัดระวัง ควบคู่ไปการเน้นติดตามให้ความช่วยเหลือกับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ และดูแลคุณภาพสินเชื่อในพอร์ตไปพร้อมกัน