KTBST เปิดโผหุ้นถูกกระทบปิด 31 สถานที่เสี่ยงกทม. MAJOR หนักสุด

HoonSmart.com>> บล.เคทีบีเอสที เปิดโผหุ้นถูกกระทบถูกปิด 31 สถานที่ในกรุงเทพฯ 14 วัน สะท้อนสถานการณ์น่าห่วง กลุ่มโรงภาพยนตร์กระทบหนักสุด รองลงมาร้านนวด-ร้านอาหาร คาดกระทบเชิงลบหุ้น “MAJOR-SPA-AU-ZEN-M-OISHI-SNP-CENTEL-MINT” ด้านธุรกิจได้ผลบวก “โรงพยาบาล-ถุงมือยาง-ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” หนุนราคาหุ้น outperform ระยะสั้น

บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที (KTBST) ออกบทวิเคราะห์หุ้นที่กระทบจากมาตรการปิด 31 สถานที่ เสี่ยงในกรุงเทพฯ หลังกทม.สั่งปิดสถานที่เสี่ยง เริ่ม 26 เม.ย. – 9 พ.ค.2564 โดยมองเป็นลบจากการออกมาตรการปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลา 14 วัน เนื่องจากเป็นการแสดงให้เห็นว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทยอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงและหากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่ดีขึ้น มีโอกาสมากที่จะเห็นการใช้มาตรการนี้กับจังหวัดอื่นเพิ่มเติม หรือหากสถานการณ์เลวร้ายลง มีโอกาสที่จะเห็นการใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น และขยายระยะเวลาปิดสถานที่เสี่ยง

ทั้งนี้สถานที่ถูกปิดชั่วคราว อาทิ ปิดโรงภาพยนต์ ร้านนวดสปา ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า เปิดบริการได้ตั้งแต่เวลา 11.00-21.00 น. ร้านสะดวกซื้อ เปิดตั้งแต่เวลา 05.00-22.00 น. ส่วนร้านอาหารมาตรการเหมือนเดิม ให้รับประทานที่ร้านถึง 21.00 น. หลังจากนั้นถึง 23.00 น. ให้สั่งกลับ

KTBST มองหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล,ถุงมือยาง และสินค้าวิตามิน คาดว่าจะ outperform ระยะสั้น

กลุ่มโรงพยาบาลและถุงมือยาง : จากจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงมากกว่า 2,500 รายต่อวัน และมีผู้เข้ารับการตรวจคัดกรองโควิดสูงถึง 7-8 พันรายต่อวัน ส่งผลให้รายได้กลุ่มโรงพยาบาลมีแนวโน้มสูงกว่าที่เราคาด โดยเราเลือก Top pick กลุ่มโรงพยาบาล คือ BCH (ซื้อ/เป้ า 20.20 บาท) จากการเป็นผู้นำในการตรวจคัดกรอง COVID-19 ที่มีศักยภาพรองรับการตรวจคัดกรองสูงที่สุดใน รพ.เอกชน

นอกจากนี้เรายังแนะนำ “ซื้อ” STGT ที่ราคาเป้าหมาย 58.00 บาท ได้รับปัจจัยบวกจาก sentiment ผู้ติดเชื้อในประเทศสูง สะท้อนความต้องการถุงมือยางโลกยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง

หุ้นกลุ่มสินค้าวิตามิน : MEGA (ซื้อ/เป้า 49.00 บาท) เนื่องจากผู้บริโภคหันมาบริโภควิตามินเพิ่มขึ้น เพื่อเสริมสร้าง immune วิตามินที่ขายดี ได้แก่ NAT C, NAT B, NAT D โดย MEGA มีสัดส่วนรายได้จาก Mega We Care ที่ 46% จาก Southeast Asia ที่ 77%

ส่วนธุรกิจและบริษัทที่ได้รับผลกระทบเชิงลบนัยสำคัญ เรียงลำดับจากมากไปน้อย คือ

1) ปิดโรงภาพยนตร์ : MAJOR (มี 36 แห่งในกรุงเทพฯ โดยสัดส่วนรายได้จากกรุงเทพและปริมณฑลอยู่ที่ 41-44% ของรายได้รวม)

2) ปิดร้านนวดแผนไทย : SPA เราคาดว่ามาตราการของรัฐครั้งนี้ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อหุ้น SPA โดยบริษัทมีสาขาอยู่ในกรุงเทพฯ จำนวน 38 สาขา จากสาขารวมทั้งหมด 70 สาขา ทั้งนี้ หากตั้งสมมุติฐานในการปิดร้านนวดเป็นเวลา 14 วัน คาดว่ารายได้ของ SPA ใน 2Q21E จะลดลงจากรายได้ช่วง new normal ใน 3Q20-4Q20 ที่ทำได้ราว 80 ล้านบาท อีก 8% และหากรัฐบาลยืดการปิดให้บริการของร้านนวดในกรุงเทพฯ ออกไปอีกเป็น 1 เดือน จะส่งผลกระทบต่อรายได้ราว 18% ทั้งนี้เราอยู่ระหว่างกระปรับประมาณการของ SPA

3) ร้านอาหารต้องนั่งเว้นระยะห่างเพิ่มขึ้น : AU, ZEN, M, OISHI, SNP, CENTEL, MINT

ส่วนธุรกิจและบริษัทที่ได้รับผลกระทบเชิงบวก คือ

1) โรงพยาบาล (BCH, BDMS, CHG, THG, PR9, EKH) ตามศักยภาพในการตรวจคัดกรองและจำนวนเตียงที่รองรับ

2) ถุงมือยาง (STGT) จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีความต้องการใช้ถุงมือยางสูงขึ้นตามไปด้วย

3) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร MEGA จากความต้องการวิตามินเพิ่มขึ้น เพื่อเสริมสร้าง immune โดยเฉพาะ NAT C, NAT B และ NAT D