KTAM FOCUS : Sell อะไร? ทำไม? May

โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์
บลจ.กรุงไทย

Sell in May and Go Away” ภาษิตการเงินโบราณอันเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายยาวนานตั้งอยู่บนความเชื่อว่า สภาพอากาศอบอุ่นขึ้น (ในสหรัฐและยุโรป) มักทำให้สภาพคล่องลดลงเนื่องจากเทรดเดอร์บางส่วนไปพักร้อน liquidity risk สูงขึ้นกดดันโอกาสแสวงหากำไรจากตลาดหุ้นช่วง summery พ.ค.-ต.ค. ให้ด้อยกว่าอีก 6 เดือนที่เหลือ (wintery พ.ย.-เม.ย.) นักลงทุนที่เชื่ออย่างนี้จึงเทขายลดสัดส่วนหุ้นในเดือน พ.ค. (ปลายฤดูใบไม้ผลิ) แล้วค่อยกลับเข้าซื้อในเดือน พ.ย. (กลางฤดูใบไม้ร่วง) เว็บไซต์ Investopedia เผยสถิติจากบางแหล่งข้อมูลพบว่า ผลตอบแทนของดัชนี Dow Jones ช่วง summery แย่กว่า wintery โดยเฉลี่ยระหว่างปี 1950-2013 แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาภาษิตโบราณดังกล่าวดูเหมือน “ไม่เวิร์ค” เพราะมีหลายปีที่หุ้นสหรัฐทะยานขึ้น พ.ค.-ต.ค. ถ้าใครเชื่อ Sell in May ปีนั้นก็ “ขายหมู” ชวดกำไรงาม

“แอบทวิสต์” KTAM Focus อาทิตย์ที่แล้วตั้งข้อสังเกต เฟดส่งสัญญาณ “ปรับเล็ก” (minor change) นโยบายคล้าย operation twist ช่วยยกระดับราคาสินทรัพย์แทบทั้งกระดาน ตลาดหุ้นโลกระยะนี้จึงน่าจะมีแนวโน้ม “ขึ้นง่ายกว่าลง”

“ข่าวร้าย” มักสร้างโอกาสซื้อดีๆในตลาดหุ้นขาขึ้น

24 มี.ค. หุ้นจีนเทรดในสหรัฐ (ADRs) ร่วงยกแผง หลังคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) เริ่มใช้กฎเกณฑ์ใหม่ซึ่งรู้กันทั่วไปว่าน่าจะพุ่งเป้าขับหุ้นจีนให้พ้นสหรัฐ ตลาดฮ่องกงรับข่าวในวันถัดมา จากนั้นดัชนี MSCI China ก็พ้นจุดต่ำสุดแล้วเริ่มกลับตัวขึ้น

 

29 มี.ค. Archegos เฮดจ์ฟันด์ซึ่งกู้เงินลงทุนเกินตัว (leverage สูงมาก) ประสบผลขาดทุนมหาศาลและโดนบังคับขาย (forced liquidation) ก่อความวิตกกังวลไปทั่วโลกเป็นข่าวฮือฮาส่งท้ายไตรมาสแรก แต่แล้วเรื่องที่ดูร้ายก็กลับกลายเป็นฉากโหมโรงของตลาดหุ้นขาขึ้นแห่งเดือน เม.ย. ซึ่งนำโดยกลุ่มเทคโนโลยี ดัชนี Nasdaq +7.3% นับจากวันนั้น

“หัวหรงหลังสงกรานต์” สัปดาห์ที่ผ่านมาหุ้นจีน A-shares รีบาวด์รับข่าวหน่วยงานกำกับดูแลธนาคารและประกันยืนยันว่า “บริษัทจัดการสินทรัพย์หัวหรง” รัฐวิสาหกิจใหญ่ผู้บริหารหนี้เสีย ยังคงดำเนินงานตามปกติและมีสภาพคล่องเพียงพอ ช่วยคลายความวิตกในตลาดเครดิตย่านเอเชียซึ่งถึงจุดพีคช่วงที่เราหยุดสงกรานต์ อันมีสาเหตุมาจากหัวหรงยังไม่ส่งรายงานประจำปีหลังพ้นกำหนด 31 มี.ค.

ระยะนี้น่าใช้สูตร “ซื้อสวนข่าวร้าย” สำหรับ positions ที่เราชอบอยู่แล้วได้แก่ 5 กองทุนหุ้นต่างประเทศซึ่งมีปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตระยะยาวโดดเด่นประกอบด้วย “สองสิงห์ Megatrends” KT-CLIMATE, KT-WTAI “หุ้นเอเชียสไตล์ Growth & Quality” KT-ASIAG และ “พญามังกรคู่” KT-CHINA, KT-Ashares นอกจากนี้ก็คงจะมีโอกาสลงทุนใหม่ๆผุดขึ้นได้อีกซึ่งอาจมาในรูปของ “ข่าวร้าย” เตรียมใจไว้ให้พร้อม!

คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

อ่านบทความอื่นๆ

KTAM Focus : แอบทวิสต์