แบงก์กำไร 46,632 ลบ.สูงเกินคาด Q1 หนุนปรับเป้าบจ.ปีนี้เกิน 8 แสนลบ.

HoonSmart.com>>10 ธนาคารโชว์กำไรทั้งสิ้น 46,632 ล้านบาท ลดลงแค่ 0.44% จากไตรมาส1/63 กระโดดไกลเกิน 46 % จากไตรมาส 4  ตั้งสำรองฯ รวม 48,309 ล้านบาท ธุรกิจไปได้สวย สินเชื่อ-ค่าธรรมเนียมโต บล.เอเซีย พลัส มองกำไรแบงก์ดีกว่าคาด ได้ราคาน้ำมันดิบขึ้นช่วย เล็งปรับเป้ากำไรบจ.ปีนี้อีก 2 หมื่นล้านบาท จากเดิมคาดไว้ที่ 7.96 แสนล้านบาท ดัชนีสิ้นปี 1,670 จุด มองหุ้นไตรมาส 2 ไปต่อ ชอบ BBL-BDMS-STEC-SCC-SPALI-BLA ตัวเล็กแนะ AS ส่วนเช่าซื้อเชียร์ MTC-ASK อสังหาฯ ต้องมี SPALI-ORI-LH

ธนาคาร 10 แห่งเปิดผลงานไตรมาส 1/2564 ออกมาแล้ว มีกำไรทั้งสิ้น 46,632 ล้านบาท ลดลงเพียง 207 ล้านบาท  หรือ  0.44% เทียบกับไตรมาสแรกปีก่อน และดีขึ้นมากถึง 14,814 ล้านบาท หรือ 46.56% จากไตรมาส 4 ที่ผ่านมา โดยมีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นรวม 48,309 ล้านบาท

ธนาคารกสิกรไทย (KBANK ) มีกำไรสุทธิมากที่สุด 10,627 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.10% จากไตรมาส 1/2564 หลังตั้งสำรองฯจำนวน 8,650 ล้านบาท แต่เป็นธนาคารเพียงแห่งเดียวที่มีกำไรลดลงจากไตรมาส 4/2563 ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ตั้งสำรองมากที่สุด 10,008 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรสุทธิ 10,088 ล้านบาท เติบโต +9.05% จากช่วงเดียวกันปีก่อนและเพิ่มขึ้น +103.18% จากไตรมาส 4 ที่ผ่านมา  และธนาคารกรุงเทพ (BBL) มีกำไรสุทธิ 6,923 ล้านบาท ลดลงเพียง  -9.75% หลังตั้งสำรองจำนวน 6,326 ล้านบาท  นับว่าดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ทำให้ราคาหุ้นวันที่ 21 เม.ย.ปิดที่ 126.50 บาท ลดลงเพียง 1 บาท  น้อยกว่าการขึ้น XD  สิทธิรับเงินปันผลหุ้นละ 2.50 บาท

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ผลงานที่แข็งแกร่งในไตรมาสแรกแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวของธุรกิจหลัก และความได้เปรียบทางการแข่งขันจากการพัฒนาขีดความสามารถในด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี นอกจากนี้การควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพและการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบยังมีส่วนสำคัญในการช่วยให้ธนาคารสามารถรับมือกับช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนนี้

ทั้งนี้ ธนาคารยังคงมุ่งเน้นในการเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีใหม่ และขยายขีดความสามารถด้านดิจิทัลและระบบนิเวศทางธุรกิจโดยอาศัยความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ”

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส (ASPS) เปิดเผยว่า กลุ่มแบงก์รายงานกำไรไตรมาส 1 ดีกว่าที่คาด และราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นอยู่ที่ประมาณ 62 เหรียญต่อบาร์เรล โดยทุกๆการปรับขึ้น 5 เหรียญ จะทำให้กำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เพิ่มขึ้นอีก 10,000 ล้านบาท หรือ 1 บาทต่อหุ้น คาดจะมีการปรับเป้ากำไรบจ.ปีนี้เพิ่มขึ้นอีกกว่า 20,000 ล้านบาท จากเดิมที่คาดไว้ทั้งสิ้น 7.96 แสนล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น (EPS) 70.20 บาทต่อหุ้น เป้าหมายดัชนีปีนี้ที่ 1,670 จุด บนสมมติฐานราคาน้ำมันดิบที่ 50 เหรียญ

“เราเริ่มเห็นสัญญาณการปรับประมาณการกำไรบจ. ขึ้นแล้ว หลังจากเห็นกลุ่มแบงก์ แนวโน้มกำไรบจ.อาจจะออกมาดีกว่าคาด ทำให้ตลาดหุ้นเรายังมีโอกาสปรับขึ้น มากกว่าปรับลด  และดีกว่าภูมิภาคในไตรมาส 2/2564 รวมถึงสภาพคล่องส่วนเกินที่อยู่ในระดับสูง ปัจจุบันที่มีเงินฝากอยู่ในระบบประมาณ 15.72 ล้านล้านบาท และเริ่มเห็นการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ในเดือน ก.พ. มียอดเปิดบัญชีใหม่ถึง 2.7 แสนบัญชี สูงกว่า 8 เท่าของการเปิดบัญชีใหม่ต่อเดือนในอดีต”นายเทิดศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ถึงแม้ว่าการเกิดโควิด-19 รอบใหม่ที่แพร่ระบาดในวงกว้าง โดยเฉพาะในเดือนเม.ย.แต่มองว่าผลกระทบรอบนี้มีอย่างจำกัด เนื่องจากโครงสร้างกำไรหลักของตลาดหุ้นหนึ่งในสามมาจากสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) และอีก 20% มาจากกลุ่มธนาคาร

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในช่วงไตรมาส 2  แนะนำลงทุนในหุ้นมีมูลค่าราคาหุ้น (Valuation) ดี และมีปัจจัยสนับสนุนเฉพาะตัว รวมถึงได้ประโยชน์หากตลาดหลักทรัพย์เปลี่ยนวิธีคำนวณดัชนีเป็นแบบ Free Float Adjusted Market Cap โดยแนะนำ BBL , BDMS , STEC , SCC , SPALI และ BLA ส่วนหุ้นที่มีขนาดไม่ใหญ่ แต่มีการเติบโตของกำไรที่ดี แนะนำ AS

ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นางสาวนวลพรรณ น้อยรัชชุกร ผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเชีย พลัส คาดว่าในปี 2564 ธุรกิจจะกลับมาฟื้นทั้งแนวราบ-คอนโดมิเนียม พร้อมเปิดโครงการใหม่ แนะนำเลือกหุ้นที่มีกำไรเติบโตมากกว่ากลุ่ม ให้เงินปันผลสูง และมี Backlog สูง แนะ SPALI ราคาเป้าหมาย 25.50 บาท/หุ้น, ORI  เป้าหมาย 9.55 บาท , LH  9.75 บาท

นายเอนกพงศ์ พุทธาภิบาล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซียพลัส กล่าวว่า ในปีนี้กลุ่มเช่าซื้อน่าสนใจ แนวโน้มกำไรจะเติบโต 22% จากสินเชื่อขยายตัว 12% มาอยู่ที่ 3.3 แสนล้านบาท นำโดยกลุ่มสินเชื่อจำนำทะเบียนรถคาดโต 17% แนะซื้อ MTC ให้ราคาเป้าหมาย 80 บาท  และ ASK ได้รับผลบวกจากสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกที่จะเติบโต 13% ให้ราคาเป้าหมาย 21.60 บาท