วิจัยกสิกรฯ คาดศก.จีนปี 64 โต 8-8.5% แม้ Q1 ดีเกินคาดขยายตัว 18.3%

HoonSmart.com>> ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยเศรษฐกิจจีนไตรมาส 1/ 64 เติบโต 18.3% จากปีก่อน สูงสุดในรอบ 29 ปี จากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า มองทั้งปี 64 ยังคาดขยายตัว 8.0-8.5% เหตุฉีดวัคซีนโควิด-19 ยังล่าช้า การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนอาจชะลอตัว จากการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่อาจเร็วเกินไป ด้านความเสี่ยงด้านสงครามการค้าที่ยังคงไม่แน่นอน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมีมุมมองต่อภาพรวมการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนตลอดทั้งปี ไว้ในกรอบประมาณการเดิมที่ 8.0 – 8.5% แม้ว่าเศรษฐกิจจีนในไตรมาสแรกจะขยายตัวสูงกว่าที่คาด ซึ่งมาจากปัจจัยฐานที่ต่ำเป็นหลัก ในขณะที่เส้นทางการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในระยะถัดไป ยังคงเผชิญกับความเสี่ยงในประเด็นความคืบหน้าและประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีน รวมไปถึงความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ และความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่ยังไม่มีแนวโน้มที่คลี่คลายหลังการเข้าดำรงตำแหน่งของไบเดน รวมถึงมาตรการที่กลุ่มประเทศคู่ค้าจะออกมาตอบโต้จีนเพิ่มเติม ทำให้ตัวเลขต่างๆ ยังมีความไม่แน่นอนสูง

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความเสี่ยงที่ยังรุมเร้า คาดว่าทางการจีน ยังมีเครื่องมือและทรัพยากรทางการเงินและการคลังมากเพียงพอ ที่จะประคับประคองให้เศรษฐกิจจีนในปีนี้ ขยายตัวได้ใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวที่คาดการณ์ไว้

เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 1/2564 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 18.3 (YoY) จากไตรมาสที่ 4/2563 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.5 (YoY) ซึ่งเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจรายไตรมาสที่สูงสุดในรอบ 29 ปี นับตั้งแต่ที่จีนเริ่มเก็บสถิติในปี 2535 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากประสิทธิภาพของทางจีนการในควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินได้อย่างปกติ แม้จะมีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในหลากหลายหัวเมือง จนทำให้ทางการจีนต้องมีคำสั่งปิดเมือง และระงับการเดินทางข้ามเขตในช่วงเทศกาลตรุษจีน

แต่หลักๆ แล้วมาจากฐานที่ต่ำในไตรมาส 1/2563 ที่หดตัวร้อยละ (-)6.8 (YoY) เนื่องจากหากเปรียบเทียบการเติบโตรายไตรมาส ที่อาจสะท้อนการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดีกว่า จะเห็นว่าเศรษฐกิจจีนเติบโตเพียงร้อยละ 0.6 (QoQ) จากความเปราะบางของการบริโภคภาคเอกชน ภาคการผลิตและการลงทุนที่ฟื้นตัวไม่เท่ากันในแต่ละหมวดหมู่อุตสาหกรรม รวมถึงภาพรวมการส่งออกที่ยังถูกกดดันจากการที่เศรษฐกิจทั่วโลกยังไม่กลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มที่

สำหรับทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในช่วงไตรมาสที่เหลือของปี 2564 คาดว่าจะฉายภาพการเติบโตต่อเนื่อง แต่ต่ำกว่าที่คาดไว้ จากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ยังล่าช้า ข้อมูล ณ วันที่ 10 เม.ย.2564 ประชากรจีนได้รับวัคซีนแล้วทั้งสิ้น 164.5 ล้านโดส ซึ่งยังห่างไกลจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ในการได้รับวัคซีนครอบคลุม 560 ล้านคน หรือประมาณ 40% ของประชากรภายในเดือนมิถุนายน 2564 และครอบคลุม 70% ของประชากรเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ภายในเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งหากการฉีดวัคซีนยังคงล่าช้า อาจมีความเสี่ยงในการเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในบางหัวเมือง ดังเช่นที่เกิดในช่วงต้นปี 2564 ก่อให้เกิดความชะงักงันทางกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อาจลดลง และการชะลอตัวในภาคการลงทุนได้

นอกจากนี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่อาจชะลอตัวลงจากการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่อาจเร็วเกินไป และความเสี่ยงด้านสงครามการค้าที่ยังคงไม่แน่นอน จากท่าทีของกลุ่ม G7 ที่มีทิศทางในการรวมกลุ่มเพื่อตอบโต้จีน และกล่าวหาจีนในการใช้นโยบายแทรกแซงกลไกตลาด (non-market oriented policies) โดยกลุ่ม G7 มุ่งหวังการรวมกลุ่มเพื่อแก้ไขปัญหาการแข่งขันไม่เป็นยุติธรรมของจีน เพื่อให้เกิดการค้าที่เสรี มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม อาจลดทอนผลประโยชน์ที่จีนได้รับจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก