HoonSmart.com>> “ภากร “ฝากนักลงทุนติดตามข่าวโควิดแพร่ระบาดรอบใหม่ ประเมินไม่มีผลกระทบต่อตลาดอย่างมีนัยสำคัญ เชื่อภาคธุรกิจ บริษัทจดทะเบียน มีบทเรียน รับมือไหว เศรษฐกิจยังเดินต่อ มั่นใจวัคซีนมา ตลาดฟื้นตัวแรง ส่วนเงินทุนไหลเข้าเดือนเม.ย. ซื้อสุทธิ 1 พันล้านบาท ชูตลาดไทยน่าสนใจ มีหุ้นพื้นฐาน หุ้นยั่งยืนติด DJSI ส่วนเกณฑ์ใหม่ Free Float ยังไม่จบ มีเวลาภายในปีนี้ หุ้นพลิกกลับมาบวก 2 จุด เทคนิคเคิลรีบาวด์
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในครั้งนี้ ประเมินว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากภาคธุรกิจ และบริษัทจดทะเบียน มีการป้องกันและเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดตั้งแต่ปีก่อนหน้า ทำให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
“ผมอยากฝากนักลงทุนให้ติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่อง ผลกระทบมันมีอยู่แล้วทั่วโลก แต่เราต้องมาวิเคราะห์ว่าแท้จริงแล้วกระทบอะไรบ้าง กระทบใคร หรือกระทบอย่างไร เพราะไม่ได้ทุกคนที่จะได้รับผลกระทบ ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักในรอบก่อน ก็คงไม่กระทบหนักไปกว่านี้ จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ไม่หมายความว่าเศรษฐกิจไทยจะหยุดไป ถ้ามีข่าวดีเข้ามาหนุน เช่นการเริ่มฉีดวัคซีนในวงกว้าง เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ตลาดหุ้นมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้น” นายภากร กล่าว
ส่วนทิศทางของเงินทุนไหลเข้าในเดือนเม.ย.2564 ยังต้องติดตามต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นเดือนมาถึงปัจจุบันซื้อสุทธิประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งมีปัจจัยหนุนที่ทำให้ตลาดมีความน่าสนใจ ด้วยการที่มีหุ้นพื้นฐานจำนวนมาก และมีหุ้นที่ติดอยู่ในดัชนี Dow Jones Sustainability Index (DJSI) โดยเดือน มี.ค.2564 เริ่มเห็นนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แต่มีแนวโน้มลดลง เดือนก่อนขายสุทธิเพียง 87 ล้านบาท สำหรับในช่วงไตรมาสแรกปี 2564 ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 29,370 ล้านบาท
ขณะที่การคำนวณดัชนี โดยใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ปรับขึ้นด้วย Free Float (Free Float Adjusted Market Capitalization) นั้นยังอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ลงทุน บริษัทจดทะเบียน และสถาบันตัวกลาง เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด และเหมาะสม นอกจากนี้ยังศึกษาอีกหลายเครื่องมือเพื่อนำมาให้ตลาดหุ้นไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น คาดว่าจะเห็นความชัดเจนการออกเกณฑ์ต่างๆได้ในปีนี้ 2564 นี้
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในเดือนมี.ค. 2564 ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นเพิ่มขึ้น 6.0% จากเดือนก่อนหน้า ถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ และกลับมาอยู่ระดับเดียวกับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สาเหตุหนึ่งมาจากความคืบหน้าการกระจายวัคซีนและแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในหลายประเทศ ทำให้ภาคส่วนต่างๆ คาดว่าจะสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ
ภาพรวมในเดือนมี.ค. 2564 มีหลายอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มที่ปรับตัวดีกว่าตลาดได้แก่ ธุรกิจการเงิน เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร สินค้าอุตสาหกรรม บริการ สินค้าอุปโภคบริโภค และอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ส่วนมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 95,918 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.8% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน รวมในไตรมาสแรก มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 96,951 ล้านบาท
ส่วน Forward และ Historical P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทยอยู่ที่ระดับ 20.4 เท่า และ 39.7 เท่าตามลำดับ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 15.1 เท่า และ 24.1 เท่าตามลำดับ และอัตราเงินปันผลตอบแทนอยู่ที่ระดับ 2.42% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 2.30%
ด้านตลาดหุ้นวันที่ 8 เม.ย. ดัชนีตีกลับปิดที่ระดับ 1,558.83 จุด +2.27 จุดหรือ +0.15% มูลค่าการซื้อขายรวม 83,642.81 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อต่อ 334 ล้านบาท นักลงทุนไทยเก็บด้วย 1,087 ล้านบาท ขณะที่สถาบันขายน้อยลงเพียง 909 ล้านบาท
ตลาดดีดกลับทางเทคนิค หลังจากหุ้นร่วงลงแรงติดต่อกัน 2 วัน และไทยยังไม่มีมาตรการปิดประเทศ แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่จะเพิ่มขึ้นก็ตาม โดยมีแรงซื้อหุ้นอิเล็กทรอนิกส์ HANA บวกแรงสุด 7.89% เพิ่มขึ้น 4.50 บาท ปิดที่ 61.50 บาท และกลุ่มเหล็ก INOX ปิดที่ 0.96 บาท เพิ่มขึ้น 0.06 บาทหรือ 6.67% อย่างไรก็ตามแนวโน้มตลาดยังมีความผันผวนตามความความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิดและเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์