DMT จ่อขายไอพีโอ 140 ล้านหุ้น ปักธงเข้าเทรด SET 7 พ.ค.64

HoonSmart.com>> “ทางยกระดับดอนเมือง” เตรียมเสนอขายหุ้นไอพีโอ 140 ล้านหุ้น  ระดมเงินกว่า 2 พันล้านบาท ชำระคืนเงินกู้ เป็นบริษัทปลอดดอกเบี้ย ใช้เป็นเงินหมุนเวียน-ลงทุนโครงการใหม่ พร้อมลงสนามประมูล 5 โครงการปี 64-65 เสริมสัมปทานปัจจุบันจะหมดอายุ  11 ก.ย. 2577  คาดกำไรปี 64 ดีกว่าปีก่อน ปริมาณการจราจรฟื้นตัว หวังปี 66-67 รายได้กลับสู่ระดับปกติ 3 พันล้านบาท 

วรวัสส์ วัสสานนท์

นายวรวัสส์ วัสสานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อวานการ์ด แคปปิตอล ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง (DMT) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เริ่มนับหนึ่งไฟลิ่ง เพื่อเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนครั้งแรกต่อประชาชน (IPO) จำนวน 140 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 5.20 บาท คาดว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เป็นวันแรก ในวันที่ 7 พ.ค.2564

สำหรับวัตถุประสงค์ของการระดมทุนในครั้งนี้ ประมาณ 2,000 ล้านบาทเศษ DMT จะนำเงินไปชำระคืนหนี้ที่มีดอกเบี้ยระยะยาวประมาณ 1,354 ล้านบาท และชำระคืนหนี้ระยะสั้นประมาณ 330 ล้านบาท ทำให้บริษัทไม่มีหนี้ที่มีดอกเบี้ย จากปัจจุบันมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนประมาณ (D/E) 0.4 เท่า ส่วนเงินระดมทุนที่เหลือประมาณ 300-400 ล้านบาท จะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและลงทุนสำหรับโครงการในอนาคต

” DMT เป็นบริษัทปลอดหนี้ที่มีดอกเบี้ย จะทำให้มีอัตรากำไรที่ดีขึ้น และมีความแข็งแกร่งด้านกระแสเงินสด เสริมความมั่นคงให้กับธุรกิจในอนาคต โดยมีนโยบายการจ่ายปันผลไม่น้อยกว่า 90% ของกำไรสุทธิในแต่ละปี อีกทั้งยังมีโอกาสในการกู้ยืมเงินจากสถาบันได้อีกมาก เพื่อรองรับการลงทุนต่างๆในอนาคต  ส่วนราคาขายหุ้นปัจจุบันยังต้องรอสำรวจราคากับนักลงทุนสถาบัน (Book Building) ด้วยวิธีการคิดลดจากกระแสเงินสด (DCF) คาดว่าจะเห็นความชัดเจนเร็วๆนี้” นายวรวัสส์ กล่าว

ธานินทร์ พานิชชีวะ

ด้านนายธานินทร์ พานิชชีวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง (DMT) เปิดเผยว่า บริษัทฯเป็นหนึ่งในผู้บริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ โดยเป็นผู้บริหารจัดการทางยกระดับดอนเมืองแบบครบวงจร ภายใต้สัญญาสัมปทานทางหลวงในทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 ถนนวิภาวดี-รังสิต รวมระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร ประกอบด้วยช่วงดินแดง-ดอนเมือง ระยะทาง 15.4 กิโลเมตรและช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ระยะทาง 5.6 กิโลเมตร อยู่ภายใต้ขอบเขตความรับผิดชอบของบริษัทฯ โดยในด้านทิศเหนือเชื่อมต่อกับทางหลวงส่วนต่อขยายรังสิต รับผิดชอบโดยกรมทางหลวง จากบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ถึงบริเวณหน้าโรงกษาปณ์ ระยะทางประมาณ 6.8 กิโลเมตร และด้านทิศใต้เชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) และ ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ที่บริเวณดินแดง

ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ที่ผ่านมา บริษัทฯมุ่งมั่นเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการที่ดีและสร้างความพึงพอใจแก่ผู้ใช้ทาง ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘เป็นบริษัทบริหารทางด่วนชั้นนำที่เชื่อมต่อเครือข่ายถนนและระบบคมนาคมขนส่ง มุ่งการให้การบริการที่เป็นเลิศด้วยความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัยสำหรับการเดินทาง ด้วยระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ พัฒนาเทคโนโลยีและศึกษาโครงการใหม่ และยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อส่วนรวม’ โดยได้ดำเนินกลยุทธ์และแผนงานที่เพิ่มศักยภาพขององค์กรไปสู่เป้าหมายและคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย

ส่วนโครงการทางยกระดับดอนเมือง ภายใต้สัญญาสัมปทานปัจจุบันที่จะหมดลงในวันที่ 11 กันยายน 2577 นั้น บริษัทฯคาดว่าจะได้รับความไว้วางใจและได้รับคัดเลือกจากกรมทางหลวงในการบริหารโครงการทางยกระดับดอนเมืองเช่นเดิม เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้ทางยกระดับ และกรมทางหลวงยังคงยึดนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุนเช่นเดิม เนื่องจากเป็นวิธีที่ลดภาระงบประมาณแผ่นดินและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาครัฐและผู้ใช้ทาง

ขณะที่โครงการใหม่ในปี 2564-2565 บริษัทยังมีงานที่รอการประมูลจากกรมทางหลวงอีกประมาณ 5 โครงการ แบ่งออกเป็นในปี 2564 ได้แก่ โครงการ M5 รังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 18 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 39,956 ล้านบาท ,โครงการ M8 นครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 119 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 79,006 ล้านบาท ,โครงการ M82 บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ระยะทาง 25 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 48,310 ล้านบาท , โครงการทางพิเศษกระทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ระยะทาง 44 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 14,177 ล้านบาท ส่วนโครงการ M9 บางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 38 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 64,848 ล้านบาท จะคัดเลือกเอกชนปี 2564-2565

“ความเสี่ยงจากสัมปทานปัจจุบันที่เหลือ 13 ปี เป็นระยะเวลาที่ไม่สั้น ซึ่งช่วงที่เหลือ เราจะไม่อยู่กับที่ จะมีการพัฒนาความพร้อมต่างๆ เมื่อภาครัฐเปิดประมูลโครงการต่างๆ เรามั่นใจว่าด้วยมีศักยภาพและประสิทธิภาพในการแข่งขันของเรา รวมถึงประสบการณ์ที่กว่ามาก 30 ปี จะทำให้เรามีความสามารถที่แข็งแกร่งที่ดีในการเข้าแข่งขันประมูลงานได้ แต่ทั้งนี้เรายังต้องประเมินความเสี่ยงของโครงการเบื้องต้นก่อนที่จะเข้าลงทุน เพื่อผลตอบแทนที่ดีแก่ผู้ถือหุ้น” นายธานินทร์ กล่าว

ด้านดร.ศักดิ์ดา พรรณไวย รองกรรมการผู้จัดการสายงานธุรกิจและการเงิน DMT เปิดเผยว่า บริษัทฯคาดว่าในปี 2564 จะมีผลประกอบการที่ดีขึ้นกว่าปี 2563 ที่มีรายได้รวม 2,063 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 791 ล้านบาท จากภาพรวมธุรกิจเริ่มฟื้นตัวจากจุดต่ำ โดยประเมินว่าปริมาณการจราจรต่อวันจะกลับมาสู่ภาวะปกติก่อนเกิดโควิด-19 ได้ในช่วงปี 2566-2567 และมีรายได้กลับสู่ระดับปกติที่ 3,000 ล้านบาท สามารถรองรับปริมาณการจราจรสูงสุดต่อวันได้ 180,000 คัน ทั้งนี้ บริษัทมีมูลค่าหุ้นทางบัญชีอยู่ที่ 6.56 บาทต่อหุ้น ณ วันที่ 30 ก.ย. 2562

อย่างไรก็ตามด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในปี 2563  ส่งผลให้ปริมาณการจราจรเฉลี่ยต่อวันของบริษัท ระหว่างดินแดง-อนุสรณ์สถาน อยู่ที่ 95,283 คันต่อวัน ลดลงจากปี 2560-2562 ที่มีปริมาณเฉลี่ย 154,484 คันต่อวัน ทำให้รายได้จากการค่าผ่านทางรวม 2,047 ล้านบาท ลดลงจากปี 2560-2562 ที่มีรายได้ 2,978 ล้านบาท 3,025 ล้านบาท และ 2,816 ล้านบาท ตามลำดับ

“เรามีความมั่นใจอย่างมากว่า หลังจากเราขายหุ้นแล้วเสร็จ และนำเงินชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน จะทำให้ความสามารถในการทำกำไรจะดีขึ้นอย่างโดดเด่น จากปีก่อนที่มีอัตรากำไรสุทธิที่ 38.7% และการเติบโตในภาพข้างหน้ายังมีอีกมาก ตามเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนตลอดเวลา  การขนส่งและการเดินทางยังมีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน” ดร.ศักดิ์ดากล่าวทิ้งท้าย