ย้อนดู & รู้จัก Circuit Breaker 3 ครั้งในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย

ภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย และรองประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เสนอให้ ศึกษา “Circuit Breaker หุ้นรายตัว” เพื่อนำมาใช้ในกรณีที่ราคาหุ้นตกเร็วและแรงเกินไป เพื่อให้นักลงทุนมีเวลาศึกษาข้อมูลมากขึ้น

โดยให้ความเห็นว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ผู้เกี่ยวข้องต้องเข้ามาช่วยดูแลว่า จะมีกระบวนการอะไรที่ไม่ปล่อยให้ราคาหุ้นตกเร็วและแรงเกินไป

“ควรปล่อยให้มีเวลาคิด มีสติตั้งรับ ซึ่งในต่างประเทศจะมีกระบวนการ Circuit Breaker ระดับหุ้น ไม่ใช่ระดับตลาด เวลาหุ้นลงมา เขาจะให้หยุดคิด 5 นาที อันนี้เป็นคอนเซ็ปหนึ่งที่เป็นไปได้ เพื่อไม่ให้หุ้นลงแรงเกินความจำเป็น ดังนั้น เราควรเอามาศึกษาดูว่ามันช่วยได้หรือไม่” ภัทธีรากล่าว

Circuit Breaker กับตลาดหุ้นไทย ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีมาตรการ “หยุดการซื้อขายเป็นการชั่วคราวกรณี Circuit Breaker” อยู่แล้ว โดยกำหนดไว้ว่า…

“กรณีที่สภาวะการซื้อขายมีความผันผวนรุนแรง ราคาหลักทรัพย์โดยรวมเปลี่ยนแปลงลดลงมาก เพื่อให้นักลงทุนมีเวลาในการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่มีผลกระทบต่อการลงทุนอย่างครบถ้วน ตลาดหลักทรัพย์จะหยุดทำการซื้อขายโดยอัตโนมัติเป็นการชั่วคราว”

ตามหลักเกณฑ์ดังนี้ :

ครั้งที่ 1 เมื่อ SET Index เปลี่ยนแปลงลดลงถึง 10% ของค่าดัชนีปิดในวันทำการก่อนหน้าตลาดหลักทรัพย์ จะพักการซื้อขายหลักทรัพย์ ทั้งหมดเป็นเวลา 30 นาที และ

ครั้งที่ 2 เมื่อ SET Index เปลี่ยนแปลงลดลงถึง 20% (ลดลงอีก 10%) ของค่าดัชนีปิดใน วันทำการก่อนหน้าตลาดหลักทรัพย์จะพักการซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งหมดเป็นเวลา 1 ชั่วโมง

และหลังจากการทำงานครั้งที่ 2 ของ Circuit Breaker แล้วตลาดหลักทรัพย์จะเปิดให้ทำการซื้อขายต่อไป จนถึงเวลาปิดทำการตามปกติโดยไม่มีการหยุดพักการซื้อขายอีก

หากระยะเวลาในรอบการซื้อขายที่ Circuit Breaker ทำงานนั้นเหลือไม่ถึง 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง ก็ให้หยุดพัก การซื้อขายเพียงระยะเวลาที่เหลือในรอบการซื้อขายนั้นแล้วเปิดให้ซื้อขายหลักทรัพย์ได้ตามปกติในรอบ การซื้อขายถัดไป

ในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเคยหยุดซื้อขายชั่วคราวอย่างเป็นทางการมาแล้ว 3 ครั้ง หลังจากมีมาตรการนี้เมื่อปี 2542

(หมายเหตุ : ตลาดหุ้นไทยเคยหยุดซื้อขายชั่วคราวอย่างไม่เป็นทางการครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2554 เนื่องจากระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ ขัดข้องทำให้ต้องหยุดซื้อขายไปประมาณ 5 นาที ในขณะที่ SET Index ร่วงลงไป 9.42% ซึ่งนักลงทุนเรียกเหตุการณ์ในวันนั้นว่า “ปลั๊กหลุด”)

Circuit Breaker ครั้งแรกในประวัติศาสตร์
วันที่ 19 ธ.ค. 2549 เวลา 11.26 น.
SET Index ลดลง 74.06 จุด หรือ 10.14%
พักการซื้อขาย 30 นาที
สาเหตุ : ในช่วงเย็นวันที่ 18 ธ.ค. 2549 ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศใช้มาตรการสำรอง 30% โดยให้
สถาบันการเงินที่รับซื้อหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ต้องกันเงินสำรองเป็นเงินตราต่างประเทศไว้ 30% เพื่อสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาท

ในวันนั้นเกือบจะได้ใช้ Circuit Breaker ถึง 2 ครั้ง เพราะ SET Index ตกลงไปถึง 142.63 จุด หรือ 19.52% ซึ่งหากลดลงถึง 20% จะต้องพักการซื้อขายอีก 1 ชั่วโมง แต่มีแรงซื้อกลับมาและปิดตลาดที่ 622.14 จุด ลดลง 108.41 จุด หรือ 14.84%

Circuit Breaker ครั้งที่ 2
วันที่ 10 ต.ค. 2551 เวลา 14.35 น.
SET Index ลดลง 50.08 จุด หรือ 10.02%
พักการซื้อขาย 30 นาที
สาเหตุ : ผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลก หรือ ที่เรียกว่า “Hamburger Crisis” เพราะเริ่มมาจากวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐอเมริกา เนื่องจากปัญหาสินเชื่อซับไพรม์

Circuit Breaker ครั้งที่ 3 (ในอีกไม่กี่วันต่อมา)
วันที่ 27 ต.ค. 2551 เวลา 16.04 น.
SET Index ลดลง 43.29 จุด หรือ 10.00%
พักการซื้อขาย 30 นาที
สาเหตุ : ยังคงเป็นผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลก หรือ ที่เรียกว่า “Hamburger Crisis” เพราะเริ่มมาจากวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐอเมริกา เนื่องจากปัญหาสินเชื่อซับไพรม์

จะดีไหม ถ้าจะนำมาตรการ Circuit Breaker แบบที่ใช้กับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ มาใช้กับหุ้นรายตัว

เพราะ ภัทธีรา ก็ยอมรับว่า นักลงทุนบางส่วนอาจไม่ชอบ เช่น นักลงทุนบางคนจะบอกว่าเขาต้องรีบออก ต้องรีบขาย เพราะในอดีตมีนักลงทุนบางส่วนไม่เห็นด้วยกับมาตรการ Circuit Breaker เพราะทำให้การซื้อขายไม่สะดวก ไม่สนุก

“ดังนั้น จึงเป็นเรื่องความพอดีของการดูแล และเป็นเรื่องของเหรียญสองด้านที่ต้องมาดูให้เกินพอดี” ภัทธีรา กล่าว

อ่านประกอบ
“ภัทธีรา” เสนอศึกษา “Circuit Breaker หุ้นรายตัว” สกัดราคาขึ้น-ลงผิดปกติ

“ภัทธีรา” เสนอศึกษา “Circuit Breaker หุ้นรายตัว” สกัดราคาขึ้น-ลงผิดปกติ