HoonSmart.com>>กระทรวงพาณิชย์คาดคืนนี้ “ทรัมป์” ประกาศขึ้นภาษีนำเข้า ไทยถูกกระทบแน่มากกว่า 2 แสนล้านบาท หากขึ้นภาษีเท่าที่ไทยเก็บเฉลี่ย 11% กลุ่มข้าว กุ้งแปรรูป ยางล้อรถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ แนะรัฐ-เอกชนรับมือ ชงข้อเสนอ”การบินไทย” (THAI) เช่าหรือซื้อเครื่องบินจากสหรัฐฯ และปตท. (PTT) นำเข้าพลังงานเพิ่ม ด้านบล.ทิสโก้คาดหุ้น TU, ITC,AAI เสี่ยงเจ็บตัว แต่ยังคงแนะนำซื้อ CGSI คาดกนง.ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ประชุม 30 เม.ย.นี้
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความพร้อมของไทยในการรับมือกับนโยบายด้านภาษีของสหรัฐฯ ที่กำลังจะประกาศออกมา 2 เม.ย. 2568 ว่า ได้ประเมินมาตรการภาษีสหรัฐ 4 รูปแบบ คือ 1.ขึ้นภาษีรายประเทศ 2.ขึ้นภาษีรายสินค้า 3.ขึ้นภาษีกับกลุ่มประเทศที่มีปัญหายาเสพติด และอพยพเข้าเมือง 4.ขึ้นภาษีตอบโต้ โดยที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้ทยอยขึ้นภาษีแล้ว และที่กระทบกับไทย คือ กลุ่มเหล็ก และผลิตภัณฑ์ รวมถึงอะลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์ เป็น 25%
แนวโน้มที่จะต้องจับตาต่อไป คือการขึ้นภาษีกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน ในวันที่ 3 เม.ย.2568 จากปัจจุบัน 0-4.9% เป็น 25% และยังจะมีเพิ่มเติมอีก 2-3 รายการ ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์ อาจขึ้นเป็น 25% ผลิตภัณฑ์ยา และไม้และผลิตภัณฑ์จากป่า รวมถึงการขึ้นภาษีตอบโต้สินค้าไทยอีกหลายรายการ จากกรณีที่ไทยเก็บภาษีนำเข้าสูงกว่าที่สหรัฐฯ เก็บจากไทย โดยปัจจุบัน ไทยเก็บภาษีนำเข้าสูงกว่าสหรัฐเฉลี่ย 11% หากสหรัฐฯขึ้นภาษีเท่ากับไทย จะทำให้ไทยเสียหาย 7,000-8,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (230,000-270,000 ล้านบาท) สินค้าที่จะได้รับผลกระทบ เช่น ข้าว กุ้งแปรรูป ยางล้อรถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์
อย่างไรก็ตาม ไทยได้เตรียมแนวทางการเจรจาไว้แล้ว โดยอาจลดภาษีนำเข้า และเพิ่มปริมาณนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพื่อลดการเกินดุลการค้า เช่น เพิ่มปริมาณนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วเหลือง รวมถึงประสานให้ บริษัทการบินไทย (THAI) เช่าหรือซื้อเครื่องบินจากสหรัฐฯ และให้บริษัทปตท. (PTT) นำเข้าพลังงาน เช่น น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และก๊าซธรรมเหลว รวมทั้งปิโตรเคมี เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ จะดำเนินการในมิติอื่น ทั้งการลงทุนในสหรัฐฯ เพิ่มเติม เพื่อเพิ่มการจ้างงาน ซึ่งภาคเอกชน ทั้งกลุ่มอาหาร และพลังงาน พร้อมลงทุนเพิ่ม จากปัจจุบันนที่ไทยลงทุนอยู่แล้วใน 20 มลรัฐ มีการจ้างงานกว่า 11,000 ตำแหน่ง
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการห่วงคือ สินค้าจีนเข้ามาสวมสิทธิสินค้าไทยเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ซึ่ง ส.อ.ท.จับตาดูตัวเลขการส่งออกของไทยมาตั้งแต่ปลายปี 2567 ที่ตัวเลขส่งออกเพิ่มขึ้นมาก และยังต่อเนื่องมาจนถึงเดือนก.พ.68 สวนทางกับดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ที่ยังไม่เพิ่มขึ้น ขณะที่การนำเข้าสินค้าจีนก็เพิ่มขึ้นมาก เช่น เดือนม.ค.68 เพิ่มขึ้นถึง 20% เช่น เหล็ก ยางรถยนต์ ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจมีการนำสินค้าจีนเข้ามาเพื่อใช้สวมสิทธิไทยส่งออก ดังนั้น ส.อ.ท.จึงตั้งทีมติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
บล.ทิสโก้ คาดว่าประเทศไทยมีโอกาสได้รับผลกระทบจากนโยบายขึ้นภาษีอากรนำเข้าของสหรัฐฯ คาดหุ้นที่อาจจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ TU, ITC และ AAI กลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงคาดกระทบเกือบทั้งอุตสาหกรรม รวมถึงกลุ่มอาหารทะเลและปลาทูน่า แต่ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” AAI, ITC และ TU ราคาเป้าหมาย 6.5 บาท, 22 บาท และ 14.8 บาท ตามลำดับ จากราคาหุ้นปัจจุบันลดลงมาค่อนข้างต่ำสะท้อนปัจจัยลบต่างๆแล้ว และความต้องการอาหารสัตว์เลี้ยงยังเติบโตตามภาพรวมอุตสาหกรรมที่คาดเติบโตเฉลี่ยปีละ 6%
ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI ระบุว่า ทิศทางหุ้นไทยเดือนเม.ย.นี้ ยังเผชิญปัจจัยลบรุนแรงทั้งจากภายในและนอกประเทศ หากสหรัฐฯปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากไทย จะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อไทย โดยเฉพาะต่อภาคการผลิตและการบริโภคภายในประเทศรวมทั้งกลุ่มผู้มีรายได้น้อยจนถึงปานกลาง
ฝ่ายวิเคราะห์ฯคาดว่า ธปท.อาจปรับลดดอกเบี้ยอีก 0.25% เป็น 1.75% ในวันที่ 30 เม.ย.นี้ ซึ่งจะเป็นข่าวดีสำหรับ SET หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.68 และประมาณการว่า เหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นน่าจะทำให้ GDP ลดลง 0.1-0.2%
“CGSI มองดัชนี SET แกว่งตัวช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า จึงเน้นการลงทุนในหุ้นปลอดภัยและหุ้นที่มีอัตราผลตอบแทนสูง และคงเป้าดัชนี SET สิ้นปี 68 อยู่ที่ 1,380 จุด ซึ่งเท่ากับ P/E 14 เท่าในปี 69 หรือ -2SD ของค่าเฉลี่ย 10 ปี โดยมองว่า downside risk จะมาจากสถานการณ์การเมืองของไทยที่ตึงเครียดมากขึ้นและการปรับภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ”
ตลาดหุ้นวันที่ 2 เม.ย. ดัชนีปิดที่ 1,172.69 จุด บวก 4.67 จุดหรือ +0.40% ด้วยมูลค่าการซื้อขายเบาบาง 24,952.72 ล้านบาท
———————————————————————————————————————————————————–