บลจ.ทิสโก้ชูหุ้นกลาง-เล็กเสริมพอร์ต มอง Q2/64 ดัชนีย่ำ 1,600 จุด

HoonSmart.com>> บลจ.ทิสโก้มองหุ้นไทยไตรมาส 2/64 แกว่งแถว 1,600 จุด แนะเทรดดิ้งทำกำไร ชูหุ้นขนาดกลางและเล็กโอกาสสร้างผลตอบแทน มองโควิดระลอกใหม่ “คลัสเตอร์” ทองหล่อไม่น่าห่วง หวังกระจายฉีดวัคซีน เปิดประเทศหนุนหุ้นสิ้นปี 1,650 จุด ชู 2 กองทุนหุ้นไทย “ทิสโก้ สแตรทิจิก ฟันด์-ทิสโก้ Mid/Small Cap อิควิตี้” ทางเลือกลงทุน

นายสาห์รัช ชัฏสุวรรณ ผู้อำนวยการสายการตลาดและที่ปรึกษาการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 2 นี้มองดัชนีเคลื่อนไหวอยู่บริเวณ 1,600 จุด เนื่องจากราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมามาก พี/อีสูงเมื่อเทียบตลาดหุ้นหลายแห่ง ในขณะที่ปัจจัยพื้นฐานไม่ได้เปลี่ยน เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าประเทศพัฒนาแล้ว จึงต้องติดตามการกระจายฉีดวัคซีนภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อการเปิดประเทศและการกลับเข้ามาของนักท่องเที่ยว จึงมองดัชนีในครึ่งปีหลังมีโอกาสแตะ 1,650 จุด

อย่างไรก็ตามช่วงที่ผ่านมาหุ้นไทยปรับตัวขึ้นได้ดี (Outperform) เนื่องจากมีหุ้นคุณค่า (Value) สัดส่วนที่มากในกลุ่มปิโตรเคมี พลังงานและแบงก์ อย่างไรก็ตามแต่ต้องยอมรับว่าหุ้นไทยยังขาดเสน่ห์ เนื่องจากโครงสร้างตลาดหุ้นไทย ธุรกิจส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมเก่า ไม่มีกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี อินเตอร์เน็ต ไบโอเทค เฮลธ์แคร์ที่เกี่ยวกับคิดค้นยา ขณะที่การเมืองไม่มีเสถียรภาพ ทำให้หุ้นไทยไม่ไปไหน

“เรามองหุ้นไทยไม่ใช่ Longterm Investment แต่ต้องหาจังหวะเข้าออกเทรดดิ้ง เลือกหุ้นให้ถูกตัว จึงอาจเป็นการยากสำหรับนักลงทุน กองทุนรวมจึงเป็นทางเลือกให้แก่นักลงทุนโดยมีผู้จัดการกองทุนทำหน้าที่คัดสรรหุ้นและปรับพอร์ตให้”นายสาห์รัช กล่าว

พร้อมกันนี้แนะนำนักลงทุนจัดพอร์ตกระจายลงทุน เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทน โดยจัดสรรเงิน 70% ลงทุนหุ้นต่างประเทศ ส่วน 30% ลงทุนหุ้นไทยโดยในส่วนของการลงทุนต่างประเทศแนะนำกระจายลงทุนในธีมต่างๆ ที่น่าสนใจและแนวโน้มเติบโต เช่น หุ้นเฮลธ์แคร์ที่เกี่ยวกับนวัตกรรมต่างๆ หุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ หุ้นเทคโนโลยีจีน หุ้นรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

สำหรับนักลงทุนที่สามารถลงทุนในระยะยาวสามารถทยอยลงทุนได้ ขณะที่นักลงทุนเล่นเก็งกำไรระยะสั้น 1-3 เดือนอาจยังต้องติดตามสถานการณ์ต่างประเทศ ส่วนหุ้นไทยในระยะสั้น ในช่วงที่ตลาดยังไม่มีทิศทางชัดเจนนั้น มองหุ้นขนาดกลางและเล็กราคายังขึ้นไม่มากเมื่อเทียบหุ้นขนาดใหญ่

นายสาห์รัช กล่าวว่า ในส่วนของกองทุนหุ้นไทยที่เป็นดาวเด่นของ บลจ.ทิสโก้ ในปีที่ผ่านมา มี 2 กองทุน คือ 1. กองทุนเปิด ทิสโก้ สแตรทิจิก ฟันด์ ชนิดหน่วยลงทุน A (TSF-A) เน้นลงทุนหุ้นที่มีการเติบโตสูง ลงทุนได้ทั้งหุ้นขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก และปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ ผู้จัดการกองทุนจะคัดเลือกหุ้นด้วยวิธี Bottom Up จากนั้นจึงวิเคราะห์และคัดสรรจนเหลือหุ้นที่จะลงทุนเพียง 10-15 ตัว โดยในพอร์ตให้น้ำหนักกลุ่มพาณิชย์ กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม

ปี 2563 ที่ผ่านมา กองทุน TSF-A สามารถทำผลตอบแทนได้ 18.3% มากกว่าดัชนี SET TRI ที่เป็นดัชนีชี้วัด (Benchmark) ที่ในช่วงเวลาเดียวกันมีอัตราผลตอบแทนติดลบ 5.24% ซึ่งกองทุน TSF-A สามารถเอาชนะดัชนีชี้วัดได้มากกว่า 23%

กองทุนเปิด ทิสโก้ Mid/Small Cap อิควิตี้ ชนิดหน่วยลงทุน A (TISCOMS-A) เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ไม่เกิน 80,000 ล้านบาท ซึ่งในปี 2563 มีผลการดำเนินงานที่โดดเด่นสามารถสร้างผลตอบแทนได้ 14.1% มากกว่าดัชนีชี้วัด SET TRI ที่ในช่วงเวลาเดียวกันมีผลตอบแทนติดลบ 5.24% หรือสร้างผลตอบแทนได้มากกว่า 19% โดยในพอร์ตให้น้ำหนักกลุ่มพาณิชย์ กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม

ด้านนายสุพงศ์วร เมี้ยนโภคา ผู้บริหารสายงานจัดการลงทุน บลจ.ทิสโก้ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ของกลุ่มคลัสเตอร์ใหม่ในกรุงเทพฯ ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้จนเกิดความกังวลการแพร่ระบาดรอบ 3 นั้นเชื่อว่าจะไม่สงผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดหุ้นไทย เมื่อเทียบกับสองครั้งแรกที่ดัชนีปรับตัวลงรุนแรง 34% และครั้งที่สองลดลง 80 จุด โดยมองลาดเริ่มรับรู้สถานการณ์ของโควิด-19 แล้วและเม็ดเงินต่างชาติเองปัจจุบันขายออกไปมาก ซึ่งหากตลาดหุ้นต่างประเทศปรับตัวขึ้นไปมากหรือไทยเปิดประเทศได้เร็วจะส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติกลับมามองหุ้นไทย ซึ่งเศรษฐกิจมีการพึ่งพาท่องเที่ยวมาก

ส่วนปัจจัยลบต่อตลาดหุ้นอยู่ที่การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ โดยหากอัตราดอกเบี้ยมีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะส่งผลลบต่อค่าเงินในกลุ่มประเทศเกิดใหม่รวมทั้งตลาดหุ้นไทย ซึ่งทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนลดลง รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการกระจายวัคซีนป้องกัน COVID -19 ที่ต้องจับตาว่าจะดำเนินการได้ดีเพียงใด เพราะส่วนนี้จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต