ก.ล.ต.ผลักดันบริการ digital services เต็มรูปแบบ มุ่งสู่ตลาดทุนดิจิทัล

HoonSmart.com>> ก.ล.ต.พัฒนาการให้บริการของผู้ประกอบการในตลาดทุนรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (digital services) อย่างครบวงจร มุ่งสู่ตลาดทุนดิจิทัล เริ่มโครงการรับ-ออกหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ 100% ตั้งแต่ไตรมาส 3/64

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.มีแนวคิดจะพัฒนาการให้บริการของผู้ประกอบการในตลาดทุนเป็นในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (digital services) อย่างครบวงจร ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทุกภาคส่วน และพัฒนาบริการให้ตอบโจทย์ผู้เกี่ยวข้องได้อย่างเหมาะสม พร้อมปักธงให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ครบวงจร โดยเริ่มโครงการรับและออกหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ 100% ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2564

ก.ล.จ.จึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคธุรกิจในตลาดทุนเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนา digital services โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานเอกชนในตลาดเงินและตลาดทุน รวมถึงหน่วยงานจากภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟัง เพื่อนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปพัฒนา การให้บริการดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป พร้อมกันนี้ นายจินตพันธุ์ ทังสุบุตร ผู้อำนวยการกองพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ให้เกียรติร่วมบรรยาย ในหัวข้อ “ร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ….” เพื่อให้ภาคธุรกิจเข้าใจทิศทางและนโยบายในการนำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการของภาครัฐและเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนอีกด้วย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 ณ โรงแรมคาร์ลตัน โฮเทล แบงคอก สุขุมวิท

น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ก.ล.ต. ตระหนักดีว่า เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการดำเนินชีวิตของประชาชน และยังเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับภาคเอกชน ก.ล.ต. จึงมีแผนพัฒนาบริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้บริการกับทุกภาคส่วนอย่างครบวงจรซึ่งจะช่วยให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวกและเหมาะสมมากยิ่งขึ้น และช่วยลดต้นทุนของกระบวนการดำเนินงานและการให้บริการของภาคธุรกิจในตลาดทุนให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีตามแนวทาง Regulatory Guillotine* เพื่อผลักดันให้เกิดตลาดทุนดิจิทัลอย่างแท้จริง รวมทั้งยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์ และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้วย โดย ก.ล.ต. จะนำข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมงานไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคตต่อไป”

ทั้งนี้ ผู้แทนจากภาคธุรกิจที่เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ ประกอบด้วย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุนสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ สมาคมประกันชีวิตไทย สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อ และผู้แทนจากบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น