ดาวโจนส์ปิดลบ 153 จุด บอนด์ ยีลด์พุ่ง ยื่นรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่ม

HoonSmart.com>> ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วง ดาวโจนส์ปิดลบ 153 จุด บอนด์ ยีลด์พุ่ง ยื่นรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่ม ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น แรงซื้อหุ้นกลุ่มทรัพยากร ด้านราคาน้ำมันดิบดิ่ง 7%

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 18 มีนาคม 2564 ปิดที่ 32,862.30 จุด ลดลง 153.07 จุด หรือ 0.46% จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นส่งผลให้มีการเทขายกลุ่มเทคโนโลยีและหันมาซื้อหุ้นที่คาดว่าจะโดดเด่นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,915.46 จุด ลดลง 58.66 จุด, -1.48%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,116.17 จุด ลดลง 409.03 จุด, -3.02%

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีเพิ่มขึ้น 11 จุดมาที่เหนือ 1.75% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2020 ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 30 ปีก็เพิ่มขึ้น 6 จุดมาแตะระดับ 2.5% ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2019

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากธนาคารกลาง (Federal Reserve) แถลงหลังการประชุมวันก่อนหน้าว่า จะปล่อยให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น รวมทั้งปรับการคาดการณ์การเติบโตที่แข็งแกร่งสุดในรอบเกือบ 40 ปี และยังคงอัตราดกเบี้ยไว้ที่ระดับใกล้ 0% ไว้อีก 2 ปี

นักวิเคราห์จาก Piper San ระบุว่า ตลาดยังกังวลต่อการปรับขึ้นอย่างรวดเร็วของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรและแรงซื้อไม่มากพอที่จะหนุนตลาด ประกอบกับหุ้น Growth Stock ยังมีราคาตามกลุ่มอื่นอยู่มาก

กลุ่มธนาคารปรับตัวขึ้นตามความคาดหวังว่า กำไรจะดีขึ้นจากการปรับขึ้นอย่างรวดเร็วของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น โดยหุ้น U.S. Bancorp เพิ่มขึ้น 3.3% หุ้นเวลลส์ ฟาร์โกเพิ่มขึ้น 2.4% หุ้นเจพี มอร์แกน เพิ่มขึ้น 1.7% หุ้นแบงก์ ออฟ อเมริกาเพิ่มขึ้น 2.6%

หุ้นแอปเปิลลดลง 3.39% หุ้นแอมะซอนลดลง 3.44% หุ้นอัลฟาเบทลดลง 2.92% หุ้นเฟซบุ๊ก ลดลง 1.9%

นักวิเคราะห์จาก Inverness Counsel มองว่า เฟดเพียงเกาะติดสถานการณ์ แต่หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรยังคงปรับขึ้นต่อเนื่อง ก็จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

กระทรวงแรงงานรายงาน การยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ที่แล้วเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 770,000 ราย สูงกว่า 700,000 ราย ที่นักวิเคราะห์คาด สะท้อนว่าการฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง ด้านธนาคารกลาง สาขาฟิลาเดลเฟีย เผยดัชนีภาวะธุรกิจในภูมิภาคมิด-แอตแลนติกเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 51.8 สูงสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2018 จากระดับ 23.1 ในเดือนกุมภาพันธ์

ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น นำโดยกลุ่มทรัพยากรพื้นฐานที่เพิ่มขึ้น 2% ส่วนหนึ่งมาจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯส่งสัญญานตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้จนถึงปี 2023 ขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษคงอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมไว้ที่ 0.1% และคงวงเงินการซื้อสินทรัพย์ไว้ที่ 895 ล้านปอนด์

นักลงทุนยังเกาะติดสถานการณ์การระบาดของไวรัส หลังจากฝรั่งเศสประกาศล็อกดาวน์รอบใหม่ในหลายภูมิภาค ทำให้กังวลว่าเศรษฐกิจจจะฟื้นตัวช้า อีกทั้งการฉีดวัคซีนก็ล่าช้า

องค์การยาแห่งสหภาพยุโรป หรือ European Medicines Agency สรุป วัคซีนของแอสตราเซเนก้ามีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ หลังจากกังวลว่าอาจเป็นสาเหตุของการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน

ดัชนี Stoxx 600 ปิดที่ 426.59 จุด เพิ่มขึ้น 1.68 จุด, +0.40%
ดัชนี FTSE 100 ปิดที่ 6,779.68 จุด เพิ่มขึ้น 17.01 จุด, +0.25%
ดัชนี CAC 40 ปิดที่ 6,062.79 จุด เพิ่มขึ้น 7.97 จุด, +0.13%,
ดัชนี DAX ปิดที่ 14,775.52 จุด เพิ่มขึ้น 178.91 จุด, +1.23%

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนเมษายน ลดลง 4.60 ดอลลาร์ หรือ 7.1% ปิดที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม ลดลง 4.72 ดอลลาร์ หรือ 6.9% ปิดที่ 63.28 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 
 
อ่านข่าว

ราคาน้ำมันดิบดิ่ง 7% ยุโรปล็อกดาวน์รอบใหม่-ดอลลาร์แข็ง