ฟิทช์คาดแบงก์เหนื่อย น้ำมัน-ปิโตรฯติดลบ บอนด์ยีลด์ดันต้นทุนเงินพุ่ง 1 หมื่นลบ.

HoonSmart.com>> รมว.คลังเผย IMF คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 2.6% คลังหวังสูงถึง 4% เกียรตินาคินภัทรขยับเป็น 2.7% ฟิทช์คาด 3.7% มองธุรกิจปี 64 ธนาคารยังเผชิญความเสี่ยง ตั้งสำรองส่วนเพิ่มต่อ ส่วนน้ำมัน-ก๊าซ-ปิโตรเคมี ผลงานฟื้น แต่อัตราส่วนหนี้สินสูง โทรคมนาคม-อาหาร-วัสดุก่อสร้าง-ไฟฟ้าและสาธารณูปโภค ยังคงมีเสถียรภาพ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินบอนด์ยีลด์เร่งตัวขึ้น รัฐ-เอกชนแบกดอกเบี้ยเพิ่มกว่า 9,050-10,800 ล้านบาท จับตาหุ้นกู้ระยะยาวครบอายุ 5.89 แสนล้านบาท OR ร้อนแรง ไร้ข่าวใหม่ ต่างชาติขายต่อ รอผลประชุมเฟด

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่าได้มีโอกาสหารือกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ราว 2.6% ซึ่งใกล้เคียงกับที่กระทรวงการคลังประเมินไว้ที่ 2.8% และกรอบคาดการณ์ของสภาพัฒน์ที่ 2.5-3.5% แต่คลังต้องการให้โตถึง 4%
” IMFเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้อย่างแน่นอน หลังจากสามารถใช้นโยบายการคลังและการเงินได้ดี แต่อาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะ และขอให้ทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป จนกว่าจะมั่นใจได้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน” นายอาคม กล่าว

ด้านบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจธนาคารในปี 2564 ยังคงเผชิญกับความท้าทายจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ช้าและความเสี่ยงที่ยังคงมีอยู่จากโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อกลุ่มลูกค้าที่มีความเปราะบาง เช่น  SME แต่กิจกรรมในภาคธุรกิจน่าจะมีการเติบโตดีขึ้น จากระดับฐานที่ค่อนข้างต่ำในปี 2563 ที่เศรษฐกิจหดตัวลง 6.1% ส่วนปี 2564 และ 2565 คาดฟื้นตัวเป็น 3.7% และ 3.6% ตามลำดับ

ฟิทช์ปรับลดระดับสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานของอุตสาหกรรมธนาคารไทยลงจาก ‘bbb+’ เป็น ‘bbb’ และแนวโน้มมีเสถียรภาพเมื่อเดือนเมษายน 2563 เนื่องจากความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด  โดยประมาณการว่าสัดส่วนของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคาร (ไม่รวมธนาคารรัฐ) ที่ยังอยู่ภายใต้มาตรการการช่วยเหลือน่าจะอยู่ที่ประมาณ 17% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2563  ส่วนความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ยังคงมีกันชนในการรองรับความเสี่ยงได้ หลังจากตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้น 40% ในปี 2563 และอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ 142% ส่วนการตั้งสำรองส่วนเพิ่มน่าจะยังคงมีต่อเนื่องในปี 2564 แต่มีความเป็นไปได้ที่การตั้งสำรองหนี้สูญจะทรงตัวหรือปรับลดลงได้บ้าง ในกรณีที่ไม่มีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อกิจกรรมในภาคธุรกิจ

น.ส.สมฤดี ไชยวรรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดอันดับเครดิตภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า อุตสาหกรรมที่ให้ฟิทช์จัดเรทติ้ง คาดว่าจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และ ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้นแม้ต้นทุนการดำเนินงานน่าจะเพิ่มขึ้น ส่วนอัตราส่วนหนี้สินน่าจะปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าการลดหนี้สินของบางบริษัทอาจจะมีความล่าช้าจากการลงทุนและการจ่ายเงินปันผลที่สูงขึ้น

ในปี 2564 แนวโน้มของธุรกิจน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และปิโตรเคมี น่าจะยังคงเป็นลบ เนื่องจากมีอัตราส่วนหนี้สินที่ยังอยู่ในระดับสูงแม้ว่าจะมีการฟื้นตัวของผลประกอบการ ในขณะที่ผู้ประกอบการในธุรกิจโทรคมนาคมน่าจะยังคงสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับสอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบันได้ แม้ว่าจะมีการลงทุนก่อสร้างเครือข่าย 5G และค่าคลื่นความถี่ที่สูงขึ้น

ส่วนแนวโน้มของธุรกิจค้าปลีกประเภทอาหารน่าจะยังคงมีเสถียรภาพ เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินที่คาดว่าจะลดลงตามการฟื้นตัวของผลประกอบการ นอกจากนี้ ฟิทช์คาดว่าแนวโน้มของธุรกิจวัสดุก่อสร้าง และในธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปโภค น่าจะยังคงมีเสถียรภาพในปีนี้เช่นเดียวกัน

ด้านบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (บอนด์ยีลด์) อายุ 10 ปี ยังมีโอกาสทรงตัวอยู่ในกรอบสูงต่อเนื่องเหนือระดับ 2.00% ในช่วงที่เหลือของปี 2564 และอาจทยอยขยับสูงขึ้นอีกในปีหน้า อาจมีผลกระทบต่อต้นทุนการระดมทุนของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เกิดภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นประมาณ 9,050-10,800 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็น ดอกเบี้ยที่เพิ่มของภาครัฐ 3,550-4,600 ล้านบาท จากต้นทุนการออกพันธบัตรที่เพิ่มขึ้นประมาณ 0.50-0.65% ในปีนี้และภาคเอกชน 5,500-6,200 ล้านบาท

“ภาครัฐและเอกชนอาจต้องเตรียมวางแผนเพื่อรับมือกับภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะบริษัทที่มีแผนการออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุนใหม่ หรือเพื่อทดแทนรุ่นที่ครบกำหนด  ซึ่งในช่วงที่เหลือของปี 2564 จะมีหุ้นกู้ระยะยาวที่ครบกำหนดประมาณ 5.89 แสนล้านบาท เพราะเศรษฐกิจและธุรกิจยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ”บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร โดย  KKP Research ปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจขึ้นจาก 2.0% เป็น 2.7% ตามผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่ที่น้อยกว่าที่ประเมินไว้และการฟื้นตัวของการส่งออก จึงมีโอกาสเห็นการบริโภคและการลงทุนกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในช่วงหลังจากนี้ไป แต่ราคาวัตถุดิบหลายอย่าง เช่น น้ำมันดิบที่สูงขึ้นเกินกว่า 70 ดอลลาร์/บาร์เรลแล้ว ผลต่อเนื่องถึงต้นทุนการผลิตสินค้าของไทยกำลังจะสูงขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวส่วนภาคการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะกลับมาได้ในจำนวนที่จำกัด และปรับคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวลง อีกครั้งจาก 2 ล้านคนเหลือ 1 ล้านคน

“ดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐฯสูงขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไทยมักจะปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย โดยดูจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปีของไทยจากสิ้นปีที่ 1.3% กลายเป็น 2.0% แล้วในปัจจุบัน  ทำให้ต้นทุนในการระดมทุนของบริษัทที่จะเพิ่มสูงขึ้น ความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัท และการออกหุ้นกู้ใหม่ของบริษัทเอกชน  อาจปรับตัวสูงขึ้น”กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

บล.โนมูระ พัฒนสิน มองตลาดหุ้นโลกแกว่งตัวรอผลการประชุมเฟด คาดจะมีมุมมองต่อบอนด์ยีลด์สหรัฐที่ทรงตัวสูง และแนวโน้มเงินเฟ้อที่เร่งตัว ขณะที่เอเชียและไทยยังถูกกดดันจากเงินทุนไหลออกต่อเนื่องและไทยจะมีแรงกดดันเพิ่มเติมของ FTSE Rebalance ที่จะมีผลราคาปิด 19 มี.ค. ซึ่งหุ้นขนาดใหญ่ส่วนใหญ่ถูกลดน้ำหนัก ส่วนระยะยาวคงคำแนะนำถือหุ้นไทยราว 50% ตั้งรับ Cyclical ปิโตรเคมีกลางปลาย ธนาคาร ประกัน ค้าปลีก ยานยนต์

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นวันที่ 17 มี.ค. ดัชนีปิดที่ 1,566.76 จุด เพิ่มขึ้น 2.73 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 92,178.77 ล้านบาท ขณะที่มีแรงซื้อ OR พุ่งขึ้นโดดเด่น มูลค่าการซื้อขาย 12,053.79 ล้านบาท ราคาปิดที่ 33.00 บาท เพิ่มขึ้น 3.25 บาท นักลงทุนต่างชาติขาย 1,446 ล้านบาท สถาบันไทยซื้อ 739 ล้านยบาท บัญชี บล. ซื้อด้วย 711 ล้านบาท รายย่อยขายเล็กน้อย 4 ล้านบาท