HoonSmart.com>> ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินบอนด์ยีลด์เร่งตัวขึ้น เพิ่มภาระดอกเบี้ยการระดมทุนภาครัฐและเอกชนปี 64 กว่า 9,050-10,800 ล้านบาท จับตาหุ้นกู้เอกชนระยะยาวครบกำหนด 5.89 แสนล้านบาท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (บอนด์ยีลด์) อายุ 10 ปี ยังมีโอกาสทรงตัวอยู่ในกรอบสูงต่อเนื่องเหนือระดับ 2.00% ในช่วงที่เหลือของปี 2564 และอาจทยอยขยับสูงขึ้นอีกในปีหน้า ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ไทยในจังหวะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยยังไม่ฟื้นตัวกลับมาอย่างเต็มที่ อาจมีผลกระทบต่อต้นทุนการระดมทุนของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน นับเป็นเม็ดเงินที่ทำให้เกิดภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นประมาณ 9,050-10,800 ล้านบาท
สำหรับภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น แบ่งเป็น ดอกเบี้ยที่เพิ่มของภาครัฐ 3,550-4,600 ล้านบาท จากคาดการณ์ต้นทุนการออกพันธบัตรที่เพิ่มขึ้นประมาณ 0.50-0.65% ในปีนี้และภาคเอกชน 5,500-6,200 ล้านบาท ภายใต้สมมติฐานที่บอนด์ยีลด์ไทยขยับสูงขึ้น และค่าชดเชยความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ออกหุ้นกู้บางกลุ่มที่ยังไม่กลับเข้าสู่ระดับปกติ และสถานการณ์ดังกล่าวน่าจะเห็นต่อเนื่องไปในช่วงปีข้างหน้าด้วย
ทั้งนี้ บอนด์ยีลด์ไทยทยอยปรับตัวสูงขึ้นนับตั้งแต่ต้นปี 2564 โดยในส่วนของบอนด์ยีลด์อายุ 10 ปีปรับสูงขึ้นแตะจุดสูงสุดของปีนี้ที่ 2.05% ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2562 ซึ่งสูงสุดในรอบ 2 ปี 8 เดือน
“คงต้องยอมรับว่า แนวโน้มของบอนด์ยีลด์ยังอาจทยอยขยับสูงขึ้นอีกในปีหน้า เนื่องจากหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถรักษาเส้นทางการฟื้นตัวไว้ได้อย่างต่อเนื่อง และตลาดแรงงานสหรัฐฯ กลับมามีการจ้างงานอย่างเต็มที่แล้ว คงทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เริ่มพิจารณาจังหวะถอยออกจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินบางส่วนในปี 2565 ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวคงมีผลกระทบต่อทิศทางของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และต่อเนื่องมาถึงบอนด์ยีลด์ของไทยให้ขยับสูงขึ้นด้วยเช่นกัน”ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ
สำหรับแนวโน้มของต้นทุนดอกเบี้ยในตลาดตราสารหนี้ดังกล่าว ตอกย้ำว่า ทั้งภาครัฐและเอกชนไทยอาจต้องเตรียมวางแผนเพื่อรับมือกับภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในปีนี้
อย่างไรก็ตามสำหรับในส่วนของภาครัฐนั้น ประเมินว่า ภาครัฐค่อนข้างมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการช่องทางการระดมทุน โดยภาระดอกเบี้ยที่ขยับขึ้นไม่น่าจะมีผลกระทบมากนักต่อฐานะและเสถียรภาพด้านการคลัง เพราะยังเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับกรอบวงเงินงบประมาณโดยรวม ขณะที่ในส่วนของภาคเอกชนนั้น ภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นสำหรับบริษัทแต่ละรายมีความแตกต่างกันตามอันดับเครดิต สถานะทางการเงิน และความสามารถในการพลิกฟื้นรายได้ของแต่ละกิจการ ซึ่งหากสถานการณ์ของบริษัทกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจภาพรวมก็น่าจะสามารถรับมือกับแรงกดดันจากภาระในส่วนนี้ไปได้
สำหรับผู้ออกหุ้นกู้บางบริษัท คงต้องยอมรับว่า สถานการณ์เศรษฐกิจและธุรกิจที่ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ น่าจะยังเป็นข้อจำกัดในการฟื้นฟูกระแสรายได้ของกิจการ รวมถึงเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับการบริหารต้นทุนทางการเงิน และการมองหาทางเลือกการระดมทุนอื่นๆ เพื่อเสริมสภาพคล่องในระยะนี้ โดยเฉพาะผู้ที่มีแผนการออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุนใหม่ หรือผู้ที่ต้องออกหุ้นกู้เพื่อทดแทนรุ่นที่ครบกำหนดไถ่ถอน ซึ่งในช่วงที่เหลือของปี 2564 จะมีหุ้นกู้ระยะยาวที่ครบกำหนดประมาณ 5.89 แสนล้านบาท