ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดปี 64 ตลาดรถ xEV ในไทยโตแรงไม่ต่ำกว่า 69%

HoonSmart.com>> ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดปี 64 ตลาดรถยนต์ไฮบริด-รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (xEV) ในไทยโตไม่ต่ำกว่า 69% หลัง 2 เดือนแรกยอดจดทะเบียนรถยนต์ xEV โตกว่า 42% พร้อมประเมินไม่เกิน 10 ปี สัดส่วนยอดขายรถ xEV ในประเทศสูงเกินครึ่ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรือ ตลาดรถยนต์กลุ่ม xEV ประกอบด้วยรถยนต์ไฮบริดหรือ HEV รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดหรือ PHEV และรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าล้วนจากแบตเตอรี่หรือ BEV ในตลาดโลกปัจจุบันกำลังพัฒนาก้าวหน้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าแบบเสียบปลั๊กหรือ PHEV และ BEV ซึ่งมองว่าในปี 2564 ค่ายรถหลายค่ายจะดันให้ HEV และ PHEV กลายมาเป็นโมเดลมาตรฐานสำหรับรถยนต์ในหลายรุ่น เพื่อเตรียมพร้อมการเปลี่ยนไปสู่เทคโนโลยีการขับเคลื่อนรูปแบบใหม่อย่างสมบูรณ์ในอนาคต ทั้งในกลุ่มรถยนต์ขนาดเล็กไปจนถึงรถยนต์ขนาดใหญ่ โดยคาดว่าจะมีประมาณ 48,000-50,000 คัน หรือขยายตัวกว่า 63-70% ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2563 ที่ขยายตัว 11.3% คิดเป็นยอดขาย 29,417 คัน

ส่วนรถยนต์ BEV ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปี 2564 นี้ มีโอกาสเติบโตก้าวกระโดดหลังรถยนต์ BEV สัญชาติจีนเริ่มเข้ามาบุกตลาดมากขึ้นในปีนี้ โดยในระยะแรกใช้สิทธิ์ภาษีนำเข้า 0% ผ่านข้อตกลงการค้าเสรีไทย-จีน ก่อนลงทุนประกอบในไทยในอนาคต ซึ่งระดับราคาที่จับต้องได้มากขึ้นของรถยนต์ BEV สัญชาติจีนน่าจะทำให้ตลาดเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงเพิ่มการรับรู้และเข้าใจของตลาดมากขึ้นในอนาคต โดยในปี 2564 ยอดขายรถยนต์ BEV น่าจะแตะที่ประมาณ 4,000 ถึง 5,000 คัน ขยายตัวกว่า 210-288% และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2563 ที่ขยายตัว 79.4% คิดเป็นยอดขาย 1,288 คัน

อนึ่ง พบว่ายอดจดทะเบียนรถยนต์ xEV ทั้งกลุ่ม ช่วง 2 เดือนแรกปี 2564 จากกรมการขนส่งทางบกได้เพิ่มขึ้นไปถึง 9,164 คันแล้ว หรือขยายตัวกว่า 42.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งที่อยู่ในช่วงของการระบาดระลอกใหม่ของเชื้อโควิด-19 ในไทย ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า หากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ไม่กลับมารุนแรงขึ้นไปกว่าช่วงต้นปีที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์กลุ่มนี้ในไทยมีโอกาสจะเร่งตัวขึ้นได้สูง โดยเฉพาะเมื่อค่ายรถต่างเริ่มรุกตลาด xEV มากขึ้นในรุ่นระดับราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ตลาดเข้าสู่ระดับ mass มากขึ้น และทำให้การแข่งขันทวีความดุเดือดขึ้นนับจากนี้

ปัจจัยสนับสนุนหลักของตลาด BEV ในอนาคต คือ การที่ภาครัฐและเอกชนจะสามารถเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับตลาดซึ่งมีกำลังซื้อพร้อมแต่ยังขาดความมั่นใจในเรื่องของการวางเครือข่ายสถานีชาร์จไฟฟ้าที่ทั่วถึง เมื่อเทคโนโลยีรถยนต์ BEV ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดในเรื่องระยะทางวิ่งและระยะเวลาในการชาร์จไฟที่ยังใช้เวลานานอยู่ โดยปัจจุบัน พบการสร้างเครือข่ายพันธมิตรระหว่างค่ายรถหรือหน่วยงานด้านพลังงานกับสถานีบริการเติมน้ำมันมากขึ้นเพื่อกระจายพื้นที่สถานีชาร์จไฟฟ้าให้ครอบคลุมเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีอยู่ 647 (1,974 หัวจ่าย) แห่งในปีที่แล้ว ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการกระตุ้นให้ผู้บริโภคที่สนใจตัดสินใจซื้อรถยนต์ BEV ได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตามจากทิศทางการขยายตัวของตลาดรถยนต์ xEV ในประเทศที่จะเติบโตขึ้นดังกล่าว เมื่อผนวกรวมเข้ากับการส่งออกรถยนต์ xEV ที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้นด้วย เมื่อการผลิตรถยนต์ xEV ในไทยเพิ่มมากขึ้น ทั้งในรุ่นที่ถูกวางตำเหน่งให้เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งกลับไปญี่ปุ่น หรือในรุ่นที่ไทยถูกวางตำแหน่งให้เป็นฐานการผลิตหลักเพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค โดยเฉพาะรถยนต์ HEV และ PHEV ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ปริมาณการผลิตรถยนต์กลุ่ม xEV ในประเทศปี 2564 น่าจะทำได้ 72,000 ถึง 80,000 คัน ขยายตัวกว่า 60-78๔ จากที่คาดว่าจะผลิตประมาณ 45,000 คันในปี 2563 ในกรณีที่ไม่พบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงจนส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจให้ชะลอลงกว่าที่คาด

นอกจากนี้ จำนวนยอดขายและยอดผลิตรถยนต์กลุ่ม xEV ที่คาดการณ์ในไทยดังกล่าวเป็นเพียงตัวเลขขั้นต่ำจากการพิจารณาโครงการลงทุนที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน และจากที่ยังไม่มีมาตรการกระตุ้นตลาดอื่นใดออกมา ซึ่งหากมีการลงทุนเข้ามาเพิ่มเติมรวมถึงมาตรการกระตุ้นตลาดรถยนต์จากรัฐเข้ามาโดยตรงเพิ่มเติมก็คาดว่าจะทำให้ตลาดรถยนต์ xEVเติบโตสูงขึ้นกว่าที่คาดได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า จากทิศทางการขยับขยายของอุตสาหกรรมรถยนต์โลกไปสู่เทคโนโลยีรถยนต์ xEV และดูเหมือนสถานะของไทยเองในปัจจุบันก็ได้ถูกวางตำแหน่งให้เป็นส่วนหนึ่งในแผนการวางยุทธศาสตร์การผลิตและทำตลาดรถยนต์ประเภทดังกล่าวของค่ายรถหลายสัญชาติ ซึ่งหากไทยสามารถรักษาสถานะดังกล่าวไว้ได้ด้วยการเร่งสร้างความร่วมมืออย่างเหมาะสมระหว่างภาครัฐและเอกชนในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ อาจช่วยให้ไทยทำตลาดรถยนต์กลุ่ม xEV ในประเทศได้ดีเสริมแรงดึงดูดการลงทุนให้เข้ามาในประเทศได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ไทยรักษาความสามารถในการแข่งขันในการเป็นฐานผลิตรถยนต์กลุ่ม xEV ของภูมิภาคได้ไม่ยาก

ขณะที่ ในอนาคตไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า สัดส่วนยอดขายรถยนต์กลุ่ม xEV ในประเทศมีโอกาสขึ้นไปแตะระดับ 55% ของปริมาณยอดขายรถยนต์รวมในปีนั้น ขณะที่การผลิตรถยนต์ในประเทศกลุ่ม xEV ของไทยก็มีโอกาสที่จะขยับส่วนแบ่งขึ้นไปสูงกว่า 50% โดยมาตรการหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นการขยายตัวของตลาดรถ xEV นอกเหนือจากการเพิ่มสถานีชาร์จไฟฟ้า และมาตรการด้านภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุนและการบริโภค อาจเป็นการเพิ่มจำนวนรอบในการเปลี่ยนรถยนต์ใหม่มากขึ้น ผ่านมาตรการกระตุ้นที่เหมาะสม

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า สำหรับมาตรการกระตุ้นตลาดที่อาจช่วยได้ในอนาคตเพิ่มเติมจากประเด็นเรื่องการเพิ่มสถานีชาร์จไฟฟ้า และมาตรการด้านภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุนและการบริโภค ซึ่งอาจจะช่วยเพิ่มศักยภาพของไทยในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ xEV ที่แข็งแกร่งขึ้นในอนาคต ได้แก่ การสร้างความพร้อมของอุตสาหกรรมกำจัดซากรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพในประเทศ และการออกแบบมาตรการจำกัดและลดปริมาณรถยนต์ที่มีอายุมากกว่า 15 ปีที่เหมาะสมในอนาคตเพื่อลดความต้องการถือครองรถยนต์เก่าของผู้บริโภคลง และเพิ่มโอกาสหมุนเวียนรถยนต์ในตลาดให้มากขึ้น เป็นต้น