DTC-CPN เพิ่มงบลงทุน ‘ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค’ กว่า 9.3 พันลบ.ชูแลนด์มาร์คใหม่

HoonSmart.com>> ‘ดุสิตธานี’ ปรับแผนลงทุน ‘ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค’ ตอบโจทย์วิถีนิวนอร์มอล เพิ่มงบลงทุนตามสัดส่วนอีก 4,335 ล้านบาท ด้าน CPN ใส่เงินเพิ่ม 3,751 ล้านบาท หลังตัดสินใจขยายขนาดโครงการจาก 36,700 ล้านบาท เป็น 46,000 ล้านบาท เตรียมปรับแผนยกระดับโครงการให้เป็นหมุดหมายของกรุงเทพฯ หลังโควิด-19 สร้างบทเรียนและมาตรฐานใหม่

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี (DTC) เปิดเผยว่า หลังจากกลุ่มดุสิตธานี ได้ร่วมกับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบผสมผสาน (Mixed-Use) ภายใต้ชื่อ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” ล่าสุดกลุ่มดุสิตธานี และเซ็นทรัลพัฒนา ตัดสินใจร่วมกันเพิ่มเงินลงทุนโครงการอีก 9,300 ล้านบาท จากเดิม 36,700 ล้านบาท เป็น 46,000 ล้านบาท โดยกลุ่มดุสิตธานีจะเพิ่มเงินลงทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการนี้อีก 4,335 ล้านบาท จากเงินลงทุนเดิม 12,915 ล้านบาท เพิ่มเป็น 17,250 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ ได้เตรียมเงินลงทุนจากส่วนของผู้ถือหุ้นและวงเงินจากสถาบันการเงินไว้เรียบร้อยแล้ว

สำหรับเงินทุนที่เพิ่มขึ้นในส่วนนี้ จะนำไปพัฒนาโครงสร้างและพื้นที่โดยรวมของโรงแรม อาคารที่พักอาศัย และโครงสร้างศูนย์การค้า ส่งผลให้พื้นที่ใช้งานโดยรวมเพิ่มขึ้นเกือบ 1 ใน 3 หรือคิดเป็นพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นกว่าเจ็ดหมื่นตารางเมตร ซึ่งบริษัทฯได้ทำการศึกษาอย่างรอบคอบและเชื่อมั่นว่าการเพื่มเงินลงทุนในครั้งนี้จะทำให้โครงการมีผลตอบแทนที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ บริษัทฯ จะนำเสนอวาระดังกล่าวเพื่อขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นจากผู้ถือหุ้นด้วยคะแนนเสียง 75% ของผู้ถือหุ้นทั้งหมดที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียง

“การตัดสินใจเพิ่มเงินทุนโครงการ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” มาจากสาเหตุหลัก 3 ประการ ประการแรก เราต้องการดึงศักยภาพของสถานที่ตั้งโครงการให้ออกมาได้สูงสุด เนื่องจากโครงการตั้งอยู่ในย่าน Super Core CBD ซึ่งเป็นจุดตัดของการจราจรทั้งลอยฟ้า บนดิน และใต้ดินที่เชื่อมโยงกรุงเทพมหานครทั้งย่านเก่าที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรม ย่านใหม่ที่มีความทันสมัย ย่านการค้าที่คึกคัก และย่านการเงินที่เข้มแข็งเข้าด้วยกัน รวมถึงอยู่ตรงข้ามกับสวนลุมพินี ซึ่งเป็นปอดของกรุงเทพฯ จึงทำให้สถานที่ตั้งโครงการมีความพิเศษ ซึ่งการเพิ่มเงินทุนจะทำให้เราสามารถลงรายละเอียดในแต่ละส่วนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการทำรูฟพาร์ค หรือ สวนสาธารณะลอยฟ้าขนาด 7 ไร่ ที่มีความสูงถึง 20 เมตรไล่ระดับ ตั้งแต่ดาดฟ้าชั้น 3 ถึงดาดฟ้าชั้น 7 ของอาคาร ในการสร้างพื้นที่สีเขียวที่มอบประโยชน์กลับคืนสู่ สังคม ชุมชน และสาธารณะ เพื่อเพิ่มคุณค่าของการใช้ชีวิตให้ตอบโจทย์รูปแบบการใช้ชีวิตวิถีใหม่ และจับกลุ่มเป้าหมายได้ครอบคลุมและชัดเจนขึ้น” นางศุภจีกล่าว

ประการที่สอง กลุ่มดุสิตธานีต้องการสร้างจุดเด่นและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ แห่งใหม่ให้สามารถสานต่อวิสัยทัศน์ในการเป็นสัญลักษณ์ของโรงแรมไทยที่ได้มาตรฐานระดับโลก ด้วยการออกแบบห้องพักขนาดใหญ่ให้มีความเป็นส่วนตัวสูงสุดสำหรับผู้เข้าพัก และทุกห้องสามารถรับวิวสวนลุมพินีได้อย่างเต็มที่

นอกจากนั้นยังดึงเรื่องราวอันเป็นเอกลักษณ์แห่งความทรงจำของดุสิตธานีเดิม ไม่ว่าจะเป็นล็อบบี้ที่มีน้ำตกอยู่ในภายในเหมือนโอเอซิสของกรุงเทพฯ ห้องจัดเลี้ยงหรือห้องประชุมมีหลากหลายขนาดไว้รองรับความต้องการ ซึ่งที่โดดเด่นที่สุดคือ ห้องนภาลัยบอลรูม ที่มีขนาดใหญ่และโดดเด่นด้วยทัศนียภาพของสวนลุมพินีแบบไร้การบดบัง อีกทั้งยังเชื่อมต่อเข้ากับสวนหย่อมของโรงแรมและน้ำตก ซึ่งจะทำให้ลูกค้าที่มาใช้บริการได้รับบรรยากาศของการจัดเลี้ยงหรือจัดประชุมสัมมนาที่มีความพิเศษจากการแวดล้อมด้วยพื้นที่สีเขียวที่ปลอดโปร่ง

พร้อมกันนี้ ทางกลุ่มดุสิตธานียังได้นำห้องอาหารเทียร่าที่เคยอยู่ชั้นบนสุด และยอดเสาสีทองที่เป็นสัญลักษณ์ของโรงแรม กลับมาให้ลูกค้าได้สัมผัสในรูปแบบ รูฟท็อบบาร์ ใหม่อีกครั้ง ซึ่งจุดเด่นเหล่านี้ จะทำให้โครงการได้รับรายได้จากการดำเนินธุรกิจโรงแรมมากขึ้นอีกด้วย

ประการสุดท้าย คือ ความคาดหวังรายได้ที่สูงขึ้นจากการปรับโครงการที่พักอาศัยที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนเมือง เป็นสองแบรนด์ คือ ในระดับลักชัวรีสำหรับแบรนด์ดุสิต เรสซิเดนเซส และระดับไฮเอนด์สำหรับแบรนด์ดุสิต พาร์คไซด์ โดยทุกยูนิตจะถูกออกแบบให้มีความโล่ง โปร่ง สบาย มองเห็นวิวสวนลุมพินีจากทุกมุม เน้นฟังก์ชั่นการใช้สอย มีสิ่งอำนวยความสะดวก และให้ความเป็นส่วนตัวสูงสุดในทุกยูนิตด้วยไพรเวทลิฟต์ล็อบบี้สำหรับแบรนด์ดุสิต เรสซิเดนเซส และระเบียงเดี่ยวสำหรับแบรนด์ดุสิต พาร์คไซด์

นอกจากนี้ พื้นที่ส่วนกลางยังได้รับการออกแบบให้แยกสัดส่วนตอบโจทย์การใช้ชีวิตแบบมาตรฐานใหม่ เปิดโอกาสให้กับผู้พักอาศัยได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ในพื้นที่ส่วนตัวของโครงการ หรือจะใกล้ชิดกับธรรมชาติผ่านสวนสาธารณะลอยฟ้าขนาด 7 ไร่ รวมถึงการเพิ่มบริการดูแลอย่างเอาใจใส่ระดับห้าดาวจากทีมงานของดุสิตธานี

“จากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เราได้บทเรียนและตัดสินใจพัฒนามูลค่าเพิ่มให้กับโครงการ เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตในวิถีใหม่ แม้ว่าจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่เราคิดอย่างรอบคอบและประเมินอย่างรอบด้านแล้วว่า นี่เป็นการเพิ่มโอกาสในการแข่งขันภายใต้สภาวะอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงเพิ่มโอกาสในการรับรู้รายได้ที่สูงขึ้นจากการดึงศักยภาพของโครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ให้กลายเป็นโครงการระดับโลกบนมาตรฐานใหม่ที่มีคุณค่ามากขึ้นใน 4 ด้าน คือ 1) การผสานนวัตกรรมเข้ากับมรดกและเรื่องราวทางประวัติศาสาตร์ 2) การเชื่อมโยงทุกย่านสำคัญด้วยระบบคมนาคมทุกระนาบ 3) การสร้างคุณภาพชีวิตที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ และ 4) การใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยสีสันพร้อมกับเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับชุมชน เพื่อทำให้โครงการแห่งนี้กลายเป็นศูนย์กลางและหมุดหมายใหม่ของกรุงเทพฯ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี กล่าว

ด้านบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติงบประมาณการลงทุนเพิ่มเติมในโครงการดุสิต เซ็นทรัลพาร์ค สำหรับการลงทุนของบริษัทฯ จำนวน 3,751 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากที่ได้รับอนุมัติไว้ที่ 17,393 ล้านบาท เป็นงบลงทุนใหม่ 21,144 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการบริษัทพิจารณาแล้วเห็นว่าการลงทุนดังกล่าวมีความเหมาะสมสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว และจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ

อ่านข่าว

CPN เพิ่มงบลงทุนดุสิต เซ็นทรัลพาร์ค 3.7 พันลบ. รวมมูลค่า 2.1 หมื่นลบ.