ความจริง ความคิด : 8 ความกังวลทางการเงินที่พบบ่อยที่สุด

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP

ช่วงวันหยุดได้อ่านพบบทความที่น่าสนใจจาก www.sinsaehwang.com เป็นข้อมูลจากการสำรวจเรื่องเงินนิตยสารทางการเงินของครอบครัวอเมริกัน โดยผลที่มี 8 ความกังวลทางการเงินที่พบบ่อยที่สุด ซึ่งอ่านดูแล้วไม่น่าจะต่างจากคนไทยเท่าไหร่ ดังนี้ครับ

1.เกิดอะไรขึ้นถ้ารายได้ของฉันหายไป?

ไม่ว่าคุณจะทำงานในบริษัทหรืออุตสาหกรรมที่มั่นคงเพียงไรก็ตาม แต่ในภาวะที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนทำให้บริษัทชั้นนำระดับโลกหลายแห่งต้องปิดตัวลง ทำให้ทุกคนกังวลเกี่ยวกับการสูญเสียงาน สูญเสียรายได้ คำถามคือเราจะทำอะไรเพื่อยังชีพหากวันนั้นมาถึง

2. วิธีที่ฉันจะล้างหนี้ของฉันให้หมดได้อย่างไร

จากการศึกษาครัวเรือนอเมริกันที่มีรายได้ปานกลางในปี 2012 พบว่า ผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไปเกือบร้อยละ 33 มีค่าเฉลี่ยของหนี้บัตรเครดิตมากกว่าผู้ที่อายุต่ำกว่า 50 ข้อมูลนี้ก่อให้เกิดคำถามที่น่ากังวล คือ สมมติว่าผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไปที่อีกไม่กี่ปีก็จะไม่ได้ทำงาน และสมมติว่าเงินออมของพวกเขาก็หมด เขาจะจัดการชีวิตอย่างไรในภาวะวิกฤติเรื่องเงินอย่างนี้ ปัญหาหนี้ของคนไทยก็ไม่ได้น้อยเพราะคนไทยเป็นหนี้นอกระบบกว่า 1.3 ล้านราย คิดเป็นวงเงินหนี้นอกระบบราว 1 แสนล้านบาทจนกระทรวงการคลังประกาศให้ปี 2560นี้เป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้นอกระบบ แล้ววันหนึ่งถ้าไม่มีรายได้ ไม่มีเงินออม แต่ยังเป็นหนี้อยู่ จะแก้ปัญหาอย่างไร

3. ฉันสามารถที่จะเลี้ยงดูบุตรได้แค่ไหน?

สำหรับคนที่มีครอบครัว ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงเด็กเป็นกังวลที่สุด เพราะไม่ใช่แค่ค่าใช้จ่ายทั่วไป ค่าเล่าเรียน ก็เป็นค่าใช้จ่ายที่น่าห่วงเช่นกัน ประมาณกันว่าถ้าให้ลูกเรียนอินเตอร์ มหาลัยเมืองนอก รวมค่าใช้จ่ายจนเรียนจบไม่ต่ำกว่า 12 ล้านบาทต่อเด็ก 1 คน ถึงแม้เรียนแต่ในไทย ค่าใช้จ่ายก็ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท/เด็ก 1 คน

4. ฉันจะวางแผนการเกษียณอายุได้รึเปล่า?

ประเทศไทยเป็นสังคมคนสูงอายุไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2548 คือมีสัดส่วนคนสูงอายุต่อประชากรทั้งประเทศเกิน 10% และทุกวันนี้ด้วยเทคโนโลยีที่เจริญเร็วมาก ทำให้คนไทยอายุยาวขึ้น แต่กลับมีลูกน้อยลง จนทำให้ความหวังที่จะพึ่งลูกหลานมาเลี้ยงดูยามเกษียณเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น คนสูงอายุจึงมีแนวโน้มต้องพึ่งพาตนเองให้ได้ ปัญหาการวางแผนเพื่อวัยเกษียณจึงเป็นปัญหาใหญ่ของคนไทยในปัจจุบันนี้

5. สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจและพนักงานของฉันในอนาคต?

ส่วนใหญ่เจ้าของธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กที่เน้นการเติบโต บริษัทด้วยตัวเขาเอง การสร้างฐานลูกค้าที่ภักดีจะเพิ่มรายได้ ในฐานะที่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก ส่วนใหญมีความกังวลทางการเงิน ถ้าผมไม่สามารถทำงานต่อไปที่จะดูแลฐานลูกค้าของฉันได้อย่างไร พนักงานของฉัน? ครอบครัวของฉัน? ในเมืองไทยก็ไม่ต่างกัน ความได้เปรียบของธุรกิจขนาดใหญ่ การเริ่มต้นของธุรกิจ startup ทำให้รูปแบบการแข่งขันเปลี่ยนไป เจ้าของธุรกิจที่ไม่มีการปรับตัวคงอยู่ได้ลำบากมากขึ้น

6. เกิดอะไรขึ้นถ้าฉันได้เจ็บป่วยหนักยามชรา?

สิ่งที่มาพร้อมอายุที่มากขึ้น ก็คือปัญหาสุขภาพ แต่นับเป็นโชคร้ายของคนวัยเกษียณ เพราะในวัยที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพสูง ก็เป็นวัยที่สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลหมดไป หรือหากต้องการสร้างสวัสดิการรักษาพยาบาลของตนเองด้วยการซื้อประกันสุขภาพ ก็ไม่ค่อยมีบริษัทประกันไหนขาย หรือถ้าขายเบี้ยประกันก็จะแพงมาก หรือ เราเองไม่มีคุณสมบัติพอที่จะซื้อ แล้วอย่างนี้ถ้าเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยจะทำอย่างไร

7. ฉันจะยังสามารถที่จะทำบุญการกุศลได้อีกแค่ไหน?

คนไทยเป็นคนที่มีเมตตา ใจบุญสุนทานมาแต่ไหนแต่ไร ต่อให้มีปัญหาการเงินอย่างไร ก็ยังทำบุญไม่ว่าจะเป็นการตักบาตร ทำบุญตามวัด ฯลฯ การทำบุญถือเป็นการสร้างความสุขทางใจอย่างหนึ่ง แต่เมื่อปัญหาทางการเงินมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น เงินที่จะทำบุญก็ลดน้อยลง การไม่มีความสุขทางการเงินก็ส่งผลกระทบต่อความสุขทางใจด้วยเช่นกัน

8. อะไรจะเป็นมรดกทางการเงินของฉันให้ลูกหลาน

หลายคนไม่มีการวางแผนเรื่องมรดกให้กับลูกหลานที่มีชีวิตอยู่ได้ดีนัก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลว่า ทรัพย์สินเรามีไม่เยอะ หรือ ไม่อยากแช่งตัวเอง หรือ เดี๋ยวค่อยทำยังไม่ตายวันพรุ่งนี้หรอก ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร การไม่วางแผนมรดกให้เรียบร้อยถือเป็นการประมาท การวางแผนมรดกไม่ใช่แค่การทำพินัยกรรม หรือ ซื้อประกันชีวิต แต่คือการวางแผนทางการเงินเพื่อคนที่อยู่ข้างหลังว่าเราจะเตรียมพร้อมอย่างไรให้พวกเขายามที่เราไม่อยู่ต่างหาก

ท่านที่สนใจบทความทางการเงินที่ผมได้เขียนเองและได้รวบรวมจากแหล่งต่างๆสำหรับเผยแพร่ให้ท่านผู้สนใจ ขอเชิญไปกด Like ได้ที่ page ใน face book ชื่อ Sathit CFP เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารต่อไปได้ครับ…ขอบคุณครับ