TU ลั่นกำไรนิวไฮ 5 ปีติด รายได้ 1.6 แสนลบ. มาร์จิ้นเฉลี่ย17.5%

HoonSmart.com>>”ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป” สัญญาจะทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ทุกปี ตามแผน 5 ปี(64-68)  เพิ่มธุรกิจใหม่ที่มาร์จิ้นดีขึ้น “กัญชง”มีการศึกษาแล้วพร้อมขายหากกฎหมายไทย-ต่างประเทศเปิดทาง  ปีนี้ตั้งงบลงทุน 6-6.5 พันล้านบาท  สัดส่วนหนี้สินต่อทุนต่ำเพียง 0.94%  การเงินพร้อมลงทุนมากหากเห็นโอกาส  พร้อมเปิดโครงการซื้อหุ้นคืนรอบใหม่ หากทางการปลดล็อคเกณฑ์

ธีรพงศ์ จันศิริ

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) เปิดเผยว่า ในปี 2563 บริษัทมีกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 6,246.09 ล้านบาท เติบโตถึง 63.69% เทียบกับกำไรสุทธิ 3,815.88 ล้านบาท เพราะในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดผู้คนใช้เวลาอยู่บ้านกับครอบครัวและสัตว์เลี้ยงมากขึ้น ผู้บริโภคมีไลฟ์สไตล์ที่ใส่ใจและดูแลสุขภาพมากขึ้น ผลิตภัณฑ์ของบริษัทได้รับการยอมรับทั้งในด้านสุขภาพและคุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงกลยุทธ์ของบริษัทในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน  ซึ่งตามแผน 5 ปีข้างหน้า (2564-2568) กำไรก็จะยังเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง คาดว่ารายได้จะเติบโตปีละ 5% จากที่ทำได้ 132,402 ล้านบาท และอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ย 17.5% ต่อปี

ในปี 2563 ไทยยูเนี่ยนฯมีผลงานยอดเยี่ยม โดยในช่วง 9 เดือนแรก อัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 18% ก่อนจะลดลงเล็กน้อยในไตรมาส 4 เหลือเฉลี่ย 17.5% ต่อปี ส่วนปีนี้คงจะไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา แม้คาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวอีกอย่างน้อย 2 ปี  เพราะบริษัทหันมาเน้นธุรกิจที่ให้อัตรากำไรสูง ได้แก่ ธุรกิจส่วนประกอบอาหาร (Ingredients) และ อาหารเสริม (Supplements)ได้แก่ ทูน่าออยล์ แคลเซียม โปรตีนไฮโดรไลเสท คอลลาเจนเปปไทด์ เป็นต้น โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายรายได้ 100 ล้านบาท และคาดว่าภายใน 5 ปีจะเพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาทเช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือก  หลังจากได้ลงทุนด้านนวัตกรรมมานาน 5 ปี

 

ธุรกิจใหม่มีอัตรากำไรขั้นต้นมากกว่า 20% จะมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 10% แต่สร้างกำไรมากกว่า 15% ขณะที่ธุรกิจหลัก ทูน่ากระป๋องและอาหารทะเลมีอัตรากำไรขั้นต้น 18%  นอกจากนี้ยังหาโอกาสในการลงทุนในธุรกิจใหม่ และที่ผ่านมาได้ร่วมกับพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่ง ได้แก่  บริษัทอินเตอร์ ฟาร์มา (IP) ร่วมทุนผลิตและจำหน่ายอาหารเสริมที่ IP มีความเข้มแข็งด้านช่องทางขายผ่านโรงพยาบาล คาดว่าจะเริ่มผลิตในไตรมาส 2 นี้ การร่วมทุนกับกลุ่มไทยเบฟ ในการผลิตและจำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพ คาดจะเริ่มได้ในช่วงครึ่งหลังปี 2564

สำหรับงบลงทุนในปีนี้ตั้งไว้  6,000-6,500 ล้านบาท มากกว่าปกติที่ใช้ปีละ 4,500 ล้านบาท  โดยแบ่งการลงทุนในประเทศไทย ที่จะผลิตโปรตีนไฮโดรไลเสท และคอลลาเจน วงเงิน 28 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 800 ล้านบาท ธุรกิจอาหารสำเร็จ วงเงิน 1,000 ล้านบาท คาดเริ่มผลิตและขายในไตรมาส 2 ขณะที่ในต่างประเทศจะลงทุนก่อสร้างห้องเย็นใหม่ในประเทศกานาวงเงิน 11 ล้านเหรียญสหรัฐ  พร้อมลงทุนด้านเทคโนโลยี โดยไม่จำเป็นจะต้องลงทุนในการเพิ่มกำลังการผลิต เพราะปัจจุบันใช้ในอัตรา 80% ยังมีเพียงพอกับความต้องการ ทั้งนี้ในปีก่อนใช้เงินลงทุนเพียง 3,700 ล้านบาท จากงบที่ตั้งไว้จำนวน 4,900 ล้านบาท ส่วนการลงทุนในช่วงปี 2565-2568 จะลงทุนปกติปีละ 4,500 ล้านบาท โดยบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 0.94 เท่า ฐานะการเงินมีความพร้อมมากขึ้นถ้ามีโอกาสลงทุน

ส่วนการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ  ปัจจุบันได้ลงทุนแล้ว 8 บริษัท โดยปีที่ผ่านมาลงทุน 4 บริษัท  ทั้งนี้ 3 บริษัทแรกจากโครงการสเปซ-เอฟ ได้แก่ มีนนา ฟู้ดส์ บริษัท โปรตีนทางเลือก อัลเคมี ฟู้ดเทค ธุรกิจนวัตกรรมอาหารสำหรับผู้ป่วย และบริษัท ไฮโดรนีโอ บริษัทเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ  ส่วนบริษัทที่ 4 คือ วิสไวร์ส นิวโปรตีน  อีกหนึ่งบริษัทเงินทุนสัญชาติสิงคโปร์ที่ทำธุรกิจบริหารกองทุนที่มองหาโอกาสความร่วมมือและร่วมลงทุนในเทคโนโลยีอาหาร โดยในตลาดโปรตีนทางเลือก

“เราเน้นเรื่องการเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมจะลงทุนในธุรกิจใหม่ที่มีมาร์จิ้นสูง และพร้อมร่วมลงทุนกับพันธมิตร ถ้าพบผู้ที่เข้มแข็ง ไม่จำเป็นต้องทำคนเดียว อย่าง Medical Food กำลังคุย ซึ่งต้องการเห็นภาครัฐขับเคลื่อน Medical Food เพื่อเพิ่มความสามารถแข่งขันระดับโลกได้  จากปัจจุบันที่เรานำเข้า ส่วนธุรกิจกัญชง  บริษัทได้ศึกษาที่จะนำมาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์หลายอย่าง เช่น อาหารเสริม อาหารกระป๋อง โดยได้ทดลองทำเป็นทูน่ากระป๋องในน้ำมันกัญชงที่มีโอเมก้า 3 และโปรตีนจากกัญชง ขณะนี้รอกฎหมายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ พร้อมประเมินความต้องการของผู้บริโภคด้วย”  นายธีรพงศ์ กล่าว

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า  กำไรที่ดีขึ้นมากในปี 2563 บริษัทได้จ่ายเงินปันผลทั้งปีหุ้นละ 0.72 บาท  เพิ่มขึ้น 53.2% จากปีก่อนให้ผลตอบแทนหุ้นละ  0.47 บาท  นอกจากนี้ บริษัทมีความพร้อมที่จะเปิดโครงการซื้อหุ้นคืนรอบใหม่ หากเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์เปิดโอกาสให้ทำได้ จากปัจจุบันยังมีเกณฑ์ห้ามซื้อหุ้นคืนภายใน 2 ปี หลังจากบริษัทเพิ่งซื้อจำนวน 116 ล้านหุ้นหรือ 2% เพราะเห็นว่าราคาหุ้นของบริษัทต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานมาก

วันที่ 9 มี.ค.2565 ราคาหุ้นปิดที่ 14.30 บาท +0.30 บาทหรือ 2.14%