บจ.แห่ SPIN-OFF ลูกกตัญญูพารวย-ดันแม่กำไรฟ้าผ่า

HoonSmart.com>>ยุคทองหุ้นไอพีโอ บจ.แห่ SPIN-OFF ดันบริษัทลูกเข้าตลาดหุ้น ตามรอย OR-NCAP ส่งแม่กำไรบานฉ่ำ

แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกสอง  แต่ขณะนี้ทั่วโลก มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 และใช้ได้ผล เป็นความหวังของมวลมนุษยชาติ  ทำให้สถานการณ์เริ่มคลี่คลายมากขึ้น นำไปสู่การทยอยปลดล็อคกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ปูทางสู่การเปิดประเทศในอนาคต

ตลาดหุ้นไทยในปี 2564 ตอบรับข่าววัคซีน  SET กลับมายืนเหนือระดับ 1,500 จุด ได้อีกครั้ง โดยขึ้นไปทดสอบจุดสูงสุดในปีนี้  1,543 จุด เพิ่มขึ้นกว่า 94 จุด เทียบสิ้นปี 2563 ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดที่ระดับ 1,449 จุด

หุ้นไอพีโอในปี 2564 ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนอย่างล้นหลาม เห็นได้จากราคาเปิด หลังเข้าเทรดวันแรก ราคาทะยานเหนือจอง เฉลี่ยตั้งแต่ 47.22-200%

ช่วงไตรมาส 1/64 มีหุ้นน้องใหม่ไอพีโอเข้าเทรด 4 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท จักรไพศาล เอสเตท  (JAK) ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ขนาดเล็ก ตามมาด้วย บริษัท ปตท. นํ้ามันและการค้าปลีก  (OR)  ยักษ์ใหญ่น้ำมันและค้าปลีกขวัญใจมหาชน หุ้นแห่งประวัติศาสตร์ที่มีประชาชนแห่จองซื้อทั่วประเทศ  ,บริษัท ที คิว อาร์ (TQR) บริษัทนายหน้าประกันภัยต่อ และบริษัท โรจูคิส อินเตอร์เนชั่นแนล (KISS) บริษัทเครื่องสำอางที่มาพร้อมกับกระแสความงาม

JAK เข้าเทรดวันแรก เปิดตลาดที่ 2.26 บาท เพิ่มขึ้น 0.81 บาท หรือ 55.86% จากราคาไอพีโอที่ 1.45 บาท

OR เทรดวันแรก เปิดตลาด  26.50 บาท เพิ่มขึ้น 8.50 บาท หรือ 47.22% จากราคาไอพีโอที่ 18.00 บาท

QR  วันแรกเปิดตลาด  15.30 บาท เพิ่มขึ้น 10.20 บาท หรือ 200% จากราคาไอพีโอที่ 5.10 บาท

และ KISS เปิดที่ 15.00 บาท เพิ่มขึ้น 6.00 บาท หรือ 66.66% จากราคาไอพีโอที่ 9.00 บาท

ปัจจุบันยังมีบริษัทที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมากกว่า  14 บริษัท ส่วนอีก 3 เป็นกองทรัสต์เพื่อการลงทุนประกอบด้วย บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง  (SNNP)   บริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์  (SAV) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ บี แอนด์ จี (BGREIT)  บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง (DMT) บริษัท ไทยเทคโนกลาส กรุ๊ป  (TTG)

บริษัท แอสเซทไวส์  (ASW) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ เคทีบีเอสที (KTBSTMR)  , บริษัท มีนาทรานสปอร์ต (MENA) บริษัท เอ็นฟอร์ซ ซีเคียว  (NFSC)  บริษัท โปรเอ็น คอร์ป  (PROEN)  บริษัท พรอสเพอร์ เอ็นจิเนียริ่ง  (PROS)    บริษัท เพรสซิเด้นท์ ออโตโมบิล อินดัสทรีส์  (PACO)

ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ศุภาลัย (SPALIRT)  บริษัท เซนต์เมด (SMD) บริษัท แอดเทค ฮับ  (ADD) บริษัท ดิทโต้ ประเทศไทย (DITTO)   บริษัท วินเนอร์ยี่ เมดิคอล (WINMED)

บจ.แห่ Spin Off บริษัทย่อย

หุ้นไอพีโอที่กำลังเข้าสู่ “ยุคทอง” ทำให้เริ่มเห็นความเคลื่อนไหวของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (บจ.)  เตรียมแผนจะ Spin Off หรือการแตกบริษัทลูกเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยเช่นกัน เริ่มจากปีที่ผ่านมา  บริษัท คอมเซเว่น (COM7) และ บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย)  (SYNEX) เข็นบริษัท เน็คซ์ แคปปิตอล (NCAP) หนึ่งในผู้นำธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อจักรยานยนต์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันที่ 9 พ.ย.63 ราคาเปิดเทรดวันแรกที่ 3.20 บาท เพิ่มขึ้น 1 บาท หรือ 45.45% จากราคาจอง 2.20 บาท

ไม่ต้องพูดถึงราคาหุ้นแม่ COM7  ขณะนี้ราคาสร้างสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง แตะ 60.75 บาท เช่นเดียวกับ SYNEX ที่ราคาแตะระดับสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง แตะ 27.25 บาท หลังส่ง “ลูกกตัญญู” NCAP เข้าตลาดหุ้นได้ไม่นาน

ขณะที่ บริษัท อาร์เอส  (RS) ภายใต้การนำทัพของ “เฮียม้อ” หลังจากที่ผันตัวเองจากเพลง สู่ TV Commercial ล่าสุด ขยับเข้าสู่ธุรกิจการเงิน ด้วยการเข้าลงทุนหุ้นเพิ่มทุนบริษัท เชฏฐ์ เอเชีย (CHASE) ในสัดส่วน 35% มูลค่า 920 ล้านบาท

CHASE ธุรกิจหลักครอบคลุมตั้งแต่การทวงถามหนี้ ดำเนินคดีและบังคับคดี ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ภายใต้การกำกับดูและของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธุรกิจให้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับดูแลของธปท. และรับโอนสินทรัพย์ด้วยคุณภาพจากผู้ประกอบธุรกิจสถาบันการเงิน และไม่ใช่สถาบันการเงิน ต่อยอดธุรกิจของ RS จาก Customer Data รวมถึงทีม Tele sales  ที่มีในมือ และในอนาคต RS เตรียมนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

นอกจากนี้ การผนึกกำลังของ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น  (SAWAD) และ บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์  (NOBLE) เซ็นสัญญาร่วมลงทุนในบริษัท บริหารสินทรัพย์ เอส ดับเบลิว พี จำกัด (SWP) ดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) และทรัพย์สินรอการขาย (NPA)  อนาคตเตรียมปั้นเข้าระดมทุนในตลาดฯ  รวมถึง บริษัทเงินสดทันใจ (FM) บริษัทย่อยของ SAWAD ที่ธนาคารออมสินสร้างความฮือฮาเข้ามาร่วมลงทุนด้วยจำนวนไม่เกิน 49 %  เพื่อปล่อยสินเชื่อทะเบียนรถดอกเบี้ยต่ำ

เช่นเดียวกับ บริษัท ไซแมท เทคโนโลยี  (SIMAT) เตรียมเข็น บริษัท ฮินซิซึ (ประเทศไทย)   บริษัทย่อย ซึ่งทำธุรกิจซิลค์ สกีน เข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ฯ โดย “ฮินซิซึ” สามารถสร้างกำไรได้เฉลี่ย 100 ล้านบาท/ปี คาดว่าชัดเจนในครึ่งหลังของปี 2564

ขณะที่บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป  (CWT)  มีรายงานว่า เตรียมส่ง บริษัท ชัยวัฒนา กรีน เพาเวอร์  จำกัด ซึ่งทำธุรกิจโรงไฟฟ้า เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) คาดเห็นความชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 เช่นเดียวกัน

ปี 2564 ถือเป็นปีทอง อีกปีของหุ้น ไอพีโอ  จึงถือเป็นช่วงเวลาเหมาะสำหรับการ Spin Off บริษัทย่อย เข้าระดมทุนตลาดหุ้น เพื่อเบ่งกำไรในอนาคตเติบโตอย่างก้าวกระโดด ไม่ใช่เฉพาะลูก แต่แม่ยังได้รับอานิสงส์จาก “ลูกกตัญญู” ด้วย ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ !!!!