“คลัง”เพิ่มเป้าส่งออกพุ่ง 9.7% หนุนศก.ทั้งปีโต 4.5%

“คลัง” คาดจีพีดีปีนี้โต 4.5% พร้อมปรับเป้าส่งออกพุ่ง 9.7% ขณะที่ครึ่งปีเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณดี “การบริโภค-ลงทุนเอกชน” ฟื้นต่อเนื่อง

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัว 4.5% จากเพดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.2% เร่งตัวจากปีก่อนที่ขยายตัว 3.9% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 9.7% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 8% และการใช้จ่ายภาครัฐตามรายจ่ายเพื่อการบริโภคและลงทุนที่ปรับเพิ่มต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบประมาณกลางปี 2561 เพิ่มเติม 1.5 แสนล้านบาท

“ความคืบหน้าของโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ และการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน จะมีส่วนช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ภาคธุรกิจและส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนภาคเอกชนในประเทศได้มากขึ้น”น.ส.กุลยากล่าว

สำหรับการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากรายได้ครัวเรือนนอก ภาคเกษตรที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นตามการจ้างที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก ขณะที่รายได้เกษตรกรเริ่มทยอยปรับตัวดีขึ้นจากด้านผลผลิต นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ จะมีส่วนช่วยสนับสนุนกำลังซื้อของครัวเรือนในระยะต่อไป และส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวที่ 3.8%

กุลยา ตันติเตมิท

น.ส.กุลยา กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนมิ.ย.2561 และไตรมาสที่ 2 ปีนี้ มีสัญญาณขยายตัวจากอุปสงค์ในประเทศ โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ดี สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่ขยายตัว 6.9% ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 2 ปีนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัว 6% ต่อปี ขณะที่ยอดขายรถยนต์นั่งเดือนมิ.ย.2561 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 ติดต่อกันที่ 26.2% ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 2 ปีนี้ ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัว 23.6% ต่อปี

นอกจากนี้ ปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคยังขยายตัวที่ 10.5% ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 2 ปีนี้ ปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัว 11.6% ต่อปี

ด้านการลงทุนภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง จากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัวต่อเนื่องที่ 6% ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 2 ปีนี้ ปริมาณนำเข้าสินค้าทุนขยายตัว 5.6% ต่อปี และปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวในระดับสูงที่ 25.6% ต่อปี เนื่องจากยอดจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตัน ขยายตัว 29.5% ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 2 ปีนี้ ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัว 28.2% ต่อปี

ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวที่ 9.0% ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 2 ปีนี้ ภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัว 15.2% ต่อปี

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศจะขยายตัวชะลอลงที่ 3.4% ต่อปี แต่ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ ขยายตัว 4.0% ต่อปี ส่วนดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมิ.ย.2561 ขยายตัว 4.4% ต่อปี สูงสุดในรอบ 72 เดือน ทำให้ไตรมาสที่ 2 ปีนี้ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัว 3.6% ต่อปี

สำหรับอุปสงค์จากต่างประเทศ สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้ายังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนมิ.ย.2561 มีมูลค่า 2.18 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐขยายตัว 8.2% ต่อปี และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 โดยเป็นการขยายตัวได้ดีในตลาดสำคัญ โดยเฉพาะสหรัฐที่มีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งการส่งออกไป ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และจีน ยังขยายตัวได้ดี

ทั้งนี้ สินค้าที่สนับสนุนการส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ แร่และเชื้อเพลิง ยานพาหนะ และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ที่ขยายตัว 24.6% 10.1% และ 10.5% ต่อปีตามลำดับ ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 10.6% ต่อปี

ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือนมิ.ย.2561 มีมูลค่า 2.02 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องที่ 10.8% ต่อปี โดยสินค้านำเข้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ เชื้อเพลิง สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าทุน เป็นต้น

ด้านเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานในเดือนมิ.ย.2561 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมและรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่ขยายตัวได้ดี

นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าไทยที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยเดือนมิ.ย.2561 มีจำนวน 3.03 ล้านคน ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ 11.6% ต่อปี โดยนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีมาจากนักท่องเที่ยวชาวจีน เป็นสำคัญ ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวน 8.87 ล้านคน ขยายตัว 9.1% ต่อปี สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศมูลค่า 442,581 ล้านบาท ขยายตัว 12.1% ต่อปี