PTTEP กำไรลด 52% ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน

PTTEP ไตรมาส 2 กำไร 3,590 ล้านบาท ลดลง 52% เมื่อเทียบกับปีก่อน เหตุขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน

บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) แจ้งผลประกอบการไตรมาส 2/2561 มีกำไรสุทธิ 3,590.27 ล้านบาท ลดลง 52.35% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 7,535.56 ล้านบาท ส่งผลให้งวด 6 เดือนแรก มีกำไรสุทธิ 16,970.98 ล้านบาท ลดลง 14.37% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 19,819.75 ล้านบาท

PTTEP ระบุว่า ไตรมาส 2/2561 บริษัทมีกำไรสุทธิในรูปเงินเหรียญสหรัฐอยู่ที่ 113 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 49% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 220 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ เนื่องจากไตรมาส 2/2561 ส่วนงานสำนักงานใหญ่และอื่นๆ มีการขาดทุนสุทธิ 184 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงมากกว่า 100% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 18 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ และรับรู้ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 2/2561 เงินบาทอ่อนค่าลง 1.94 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เทียบกับไตรมาส 2/2560 ที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น 0.47 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้จากผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น 230 ล้านเหรียญสหรัฐ

PTTEP ยังคาดว่าแนวโน้มราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบในครึ่งหลังของปี 2561 จะอยู่ในช่วง 65-75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยมีปัจจัย สนับสนุนจากการส่งออกน้ำมันดิบที่ลดลงอย่างต่อเนื่องของเวเนซุเอลาและอิหร่านที่ถูกมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐ ประกอบกับการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐที่ชะลอตัวจากข้อจัดด้านท่อขนส่งน้ำมัน

นอกจากนี้ เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นว่ากลุ่มประเทศโอเปกและกลุ่มนอก โอเปกจะขยายเวลาความร่วมมือในการจำกัดกำลังการผลิตออกไปถึงปี 2562 หลังจากที่ข้อตกลงเดิมจะจบในสิ้นปี 2561 เนื่องจากบริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดิอาระเบีย (Aramco) มีแผนเข้าตลาดหุ้น (IPO) ในปี 2562

อย่างไรก็ตาม บริษัทต้องติดตามปัจจัยกดดันราคาน้ำมันดิบ โดยหลักจากประเทศในกลุ่มโอเปกนำโดยซาอุดิอาระเบียและรัสเซียที่ประกาศเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อทดแทนการผลิตที่หายไปจากลิเบีย อิหร่าน และเวเนซุเอลา รวมไปถึงการที่สหรัฐดำเนินนโยบายตั้งกำแพงภาษีกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะจีน ซึ่งอาจมีการตอบโต้กลับจนกลายเป็นสงครามการค้า (Trade War) และการเลือกตั้งในอิตาลีในปลายปี 2561 ที่อาจมีผลต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ

ส่วนสถานการณ์ LNG ช่วงครึ่งหลังของปี 2561 คาดว่าสถานการณ์ LNG ในตลาดโลกจะยังคงอยู่ในสภาวะล้นตลาด โดยกำลังการผลิตรวมจากโครงการเดิมและโครงการใหม่จะเพิ่มขึ้นประมาณ 3% เป็น 320 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการใช้จะอยู่ที่ประมาณ 310 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาเฉลี่ยของ LNG จะปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันโลก โดยราคา Asian Spot LNG สำหรับปี 2561 ตลาดคาดการณ์ว่าจะอยู่ในช่วงราคา เฉลี่ยที่ 7.3- 9.6 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู

“ราคา LNG ในตลาดโลกอาจมีความผันผวนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่ต้องจับตามอง อาทิ ปัจจัยกดดันราคาจากปริมาณการ ผลิต LNG ที่เพิ่มขึ้นจากโครงการใหม่ๆ ในขณะที่ปัจจัยสนับสนุนมาจากการผลิต LNG ที่ไม่เป็นไปตามแผนและความต้องการ LNG ที่เพิ่มขึ้น กว่าคาดการณ์โดยเฉพาะในจีนและอินเดีย รวมไปถึงนโยบายทางพลังงานของประเทศต่าง ๆ แต่ทั้งนี้ ได้มีการคาดการณ์ว่าสภาวะตลาด LNG จะเริ่มกลับเข้าสู่จุดสมดุลหลังจากปี 2565”

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัท PTTEP มีมติเมื่อวันที่ 26 ก.ค.2561 อนุมัติจ่ายจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล สำหรับผลการดำเนินงานรวมของกลุ่มบริษัทฯ งวด 6 เดือนแรกของปี 2561 ในอัตราหุ้นละ 1.75 บาท ให้แก่ผู้ถือหุ้น โดยเป็นเงินปันผลจ่ายจากกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรรที่เสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรทั้งจำนวน โดยกำหนดวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 9 ส.ค. 2561 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 24 ส.ค.2561

นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTEP กล่าวว่า ผลประกอบการของ ปตท.สผ. ในครึ่งแรกของปี 2561 มีกำไรจากการดำเนินงานปกติ (recurring net income) อยู่ที่ 640 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 20,381 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 69% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีกำไรจากการดำเนินการปกติ 378 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 13,154 ล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม PTTEP มีขาดทุนจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติ (non-recurring items) รวม 104 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 3,410 ล้านบาท) โดยหลักเป็นการขาดทุนและค่าใช้จ่ายทางภาษีจากการอ่อนตัวของค่าเงินบาทระหว่างงวด และขาดทุนจากการป้องกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่กระทบต่อกระแสเงินสดของ ปตท.สผ. ส่งผลให้ครึ่งแรกของปี 2561 มีกำไรสุทธิ (net income) 536 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 16,971 ล้านบาท) ลดลงประมาณ 6% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 569 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 19,820 ล้านบาท)

สมพร ว่องวุฒิพรชัย

นายสมพร ระบุว่า PTTEP มีรายได้รวมในครึ่งปีแรก 2,562 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 81,343 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีรายได้รวม 2,121 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 73,693 ล้านบาท) ตามราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยที่ปรับตัวสูงเป็น 45.51 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 20% และปริมาณขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 297,999 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จาก 292,709 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว

ในส่วนของต้นทุนต่อหน่วย (unit cost) สำหรับครึ่งปีแรกปรับตัวขึ้นจาก 28.29 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ มาอยู่ที่ 30.37 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 7% เป็นผลของค่าภาคหลวงที่สูงขึ้นตามรายได้และการปรับตัวของค่าเสื่อมจากการรับรู้สินทรัพย์ที่พร้อมใช้งานของโครงการคอนแทร็ค 4 และโครงการเอส 1 ซึ่ง ปตท.สผ. เชื่อว่าจะสามารถรักษาต้นทุนต่อหน่วยสำหรับปี 2561 ได้ในระดับ 30-31 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ

นายสมพร กล่าวว่า PTTEP ยังเน้นดำเนินธุรกิจตามแผนกลยุทธ์ 3R (Reset-Refocus-Renew) โดยในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ได้มีความคืบหน้าจากการดำเนินการตามกลยุทธ์ Refocus โดยการเข้าซื้อสัดส่วนในโครงการบงกชจากบริษัทในเครือของกลุ่มเชลล์แล้วเสร็จ ส่งผลให้ ปตท.สผ. มีสัดส่วนการถือสัดส่วนในโครงการบงกชเพิ่มขึ้นเป็น 66.6667% และปริมาณการขายเพิ่มขึ้นประมาณ 35,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน

“ปตท.สผ. มองหาโอกาสและปรับแผนการลงทุนอยู่เสมอ สะท้อนผ่านการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา จากการเข้าซื้อสัดส่วน 22.2222% ในแหล่งบงกช ล่าสุดในเดือนก.ค. ทาง ปตท.สผ. ได้อนุมัติขายสัดส่วนการลงทุนทั้งหมดในแหล่งมอนทารา พร้อมทั้งเดินหน้าประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุสัมปทานทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณ โดย ปตท.สผ. ให้ความสำคัญกับการลงทุนและความพยายามที่จะเข้าซื้อกิจการเพิ่มเติมในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มีความชำนาญและความเสี่ยงต่ำ โดยหลักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลางเพื่อสร้างความเติบโตทั้งในเรื่องของปริมาณขายและปริมาณสำรอง”นายสมพร กล่าว

นอกจากนี้ โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ได้รับอนุมัติแผนพัฒนาจากรัฐบาลแอลจีเรียแล้ว ขณะที่โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน มีความคืบหน้าอย่างมากทั้งในเรื่องการเตรียมการก่อสร้างโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว และการสรุปสัญญาซื้อขายระยะยาวกับผู้ซื้อ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision หรือ FID) โดยมีเป้าหมายภายในครึ่งแรกของปีหน้า