บลจ.ไทยพาณิชย์ชี้โควิดไม่กระทบ 5 กองอสังหาฯ-อินฟราฯ ลุยจ่ายปันผล

HoonSmart.com>> บลจ.ไทยพาณิชย์ โชว์บริหารกองอสังหาฯ – โครงสร้างพื้นฐานไตรมาส 4/63 จ่ายปันผล 5 กองทุน “SIRIP-POPF-CPNCG-PPF-DIF” พร้อมลดทุน ERWPF รวมมูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท แจง COVID-19 ไม่กระทบ

นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมจ่ายเงินปันผล กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานภายใต้การบริหารงานสำหรับไตรมาสที่ 4/2563 จากงวดผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 ต.ค.– 31 ธ.ค.2563 และ/หรือกำไรสะสม จำนวน 5 กองทุน และจ่ายลดทุนจำนวน 1 กองทุน รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 3,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ การจ่ายปันผลประกอบด้วย กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารสำนักงานให้เช่าจำนวน 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์แสนสิริ ไพร์มออฟฟิศ (SIRIP) ลงทุนในกรรมสิทธิ์ในโครงการอาคารสิริภิญโญ จ่ายเงินปันผลในอัตรา 0.0800 บาทต่อหน่วย นับเป็นครั้งที่ 26 รวมจ่ายเงินปันผล 3.6531 บาทต่อหน่วย (นับตั้งแต่วันที่จ่ายปันผลครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2557) กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ไพร์มออฟฟิศ (POPF) ลงทุนในอาคารสมัชชาวานิช 2 อาคารเพลินจิต เซ็นเตอร์ และอาคารบางนา ทาวเวอร์ ได้กำหนดจ่ายเงินปันผลในอัตรา 0.3100 บาทต่อหน่วย นับเป็นครั้งที่ 39 รวมจ่ายเงินปันผล 9.9788 บาทต่อหน่วย (นับตั้งแต่วันที่จ่ายปันผลครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 ก.ย.2554)

กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ CPN คอมเมอร์เชียล โกรท (CPNCG) ที่ลงทุนในสิทธิการเช่าของอาคารสำนักงานให้เช่าบริเวณเขตปทุมวัน จ่ายปันผลในอัตรา 0.2650 บาทต่อหน่วย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้ในปี 2563 ทางกองทุนจ่ายเงินปันผลรวมทั้งสิ้น 1.0195 บาทต่อหน่วยนับว่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณ 1% นับเป็นการจ่ายปันผลครั้งที่ 33 รวมจ่ายเงินปันผล 7.5411 บาทต่อหน่วย (นับตั้งแต่วันที่จ่ายปันผลครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 ก.พ.2556)

นอกจากนี้ ยังมีกองทุนอสังหาฯ ประเภทโรงงานและคลังสินค้า จำนวน 1 กองทุน ได้แก่ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค (PPF) ลงทุนในโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าบริเวณเขตพื้นที่ EEC (โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) โดยในไตรมาส 4 ปี 2563 มีผลประกอบการที่มั่นคงต่อเนื่อง อีกทั้งราคาของหุ้นของกองทุนค่อนข้างมีเสถียรภาพ ไม่ผันผวนมากตามตลาด โดยทางกองทุนพิจารณาการจ่ายปันผล ที่ 0.1908 บาท/หน่วย ส่งผลให้ในปี 2563 ทางกองทุนจ่ายเงินปันผลรวมทั้งสิ้น 0.7158 บาท/หน่วย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณ 2% นับเป็นการจ่ายปันผลครั้งที่ 26 รวมจ่ายเงินปันผล 4.9095 บาทต่อหน่วย (นับตั้งแต่วันที่จ่ายปันผลครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 พ.ย.2557) โดยทั้ง 4 กองทุน มีกำหนดจ่ายปันผลในวันที่ 5 มี.ค.2564 นี้

กองทุนโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม 1 กองทุน ได้แก่ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (DIF) ลงทุนในทรัพย์สินด้านโทรคมนาคม โดยตลอดปี 2563 กองทุนไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาด Covid-19 ซึ่งเห็นได้จาก กองทุนได้รับค่าเช่าจากผู้เช่า คือ กลุ่มบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และผู้เช่ารายอื่นครบถ้วนและต่อเนื่อง ส่งผลให้ในปี 2563 กองทุน DIF มีกำไรจากการดำเนินงานที่ดีสม่ำเสมอต่อเนื่องและเป็นไปตามที่กองทุนคาดการณ์ไว้ เนื่องจากรายได้หลักของกองทุนมาจากสัญญาให้เช่าทรัพย์สินเสาโทรคมนาคม และสาย Fiber Optic Cable ระยะยาว กับกลุ่มบริษัททรู

ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่สำคัญที่กลุ่มบริษัททรูใช้ให้บริการในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอินเตอร์เน็ต บรอดแบนด์ ที่ทรูเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการรายใหญ่ของประเทศ และสอดคล้องกับทิศทางการเติบโตแบบก้าวกระโดด ของความต้องการใช้งานอินเตอร์เน็ตทั่วโลก ทั้งในด้านการประกอบอุตสาหกรรมการผลิต การแพทย์ การสื่อสาร และด้านความบันเทิง ส่งผลให้กองทุนพิจารณาจ่ายปันผลในอัตรา 0.2610 บาทต่อหน่วยติดต่อเป็นไตรมาสที่ 5 สำหรับการจ่ายปันผลครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 28 รวมจ่ายปันผล 6.9084 บาทต่อหน่วย (นับตั้งแต่วันที่จ่ายปันผลครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557) โดยกำหนดจ่ายปันผลในวันที่ 12 มีนาคม 2564 นี้

พร้อมกันนี้ได้จ่ายเงินลดทุนจำนวน 1 กองทุน เป็นกองทุนอสังหาฯ ประเภทโรงแรม ได้แก่ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เอราวัณ โฮเทล โกรท (ERWPF) ที่ลงทุนในโรงแรมไอบิส ป่าตอง และโรงแรมไอบิส พัทยา เป็นการจ่ายเงินลดทุนในอัตรา 0.0994 บาทต่อหน่วย เพื่อเป็นการจ่ายคืนสภาพคล่องส่วนเกินจากกรณีที่กองทุนมีการรับรู้รายการการขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงเนื่องจากการลดลงของราคาการสอบทานค่าทรัพย์สิน ซึ่งเป็นรายการทางบัญชีที่ไม่ได้มีกระแสเงินสดจ่ายออกไปจริง โดยกำหนดจ่ายปันผลในวันที่ 5 มี.ค.2564 นี้