หุ้นโลจิสติกส์ติดเครื่องวิ่ง “ทางทะเล” กำไรกระโดดต่อปี 64

HoonSmart.com>>”หุ้นโลจิสติกส์”เป็นดาวเด่นอย่างต่อเนื่องจนถึงปีนี้ หุ้นหลายตัว ราคาสร้างสถิติสูงสุดใหม่(นิวไฮ) ทิศทางเดียวกับกำไรสุทธิในปี 2563 เห็นได้ชัดเจนในไตรมาส 4 พุ่งกระฉูด โดยเฉพาะบริษัทที่ให้บริการขนส่งทางทะเล เนื่องจากอัตราค่าระวางเรือสูงขึ้นมาก ส่งผลให้กำไรของ PSL-RCL พุ่งขึ้น 2-3 เท่าตัว ยกเว้น JUTHA ที่ยังคงขาดทุนอยู่ ส่วนบริษัทอื่นๆ ก็มีสัญญาณที่ดีขึ้นเช่นเดียวกัน เป็นแรงส่งถึงปี 2564

บริษัทในกลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ ประกาศกำไรปี 2563 ออกมาแล้ว บริษัทหลายแห่งมีกำไรสูงเกินคาดการณ์ บางแห่งฟอร์มสวยโตก้าวกระโดด สวนทางเศรษฐกิจและการส่งออกที่หดตัวอย่างรุนแรงจากพิษโควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก แต่กลับเป็นผลดีต่อธุรกิจขนส่งทางทะเล การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ผลักดันให้ค่าระวางเรือสูงขึ้น ขณะเดียวกันราคาน้ำมันดิบก็ตกต่ำ ท่ามกลางการปรับตัวของผู้ประกอบการในการเพิ่มประสิทธิภาพดำเนินงาน

“สุเมธ ตันธุวนิตย์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์ ซี แอล (RCL) กล่าวว่า ในปี 2563 บริษัทสามารถสร้างกำไรจำนวน 1,745 ล้านบาท พลิกจากขาดทุนสุทธิ 493 ล้านบาทในปี 2562 เพราะไตรมาส 4 มีกำไรสุทธิถึง 1,260 ล้านบาท พลิกจากขาดทุน 169 ล้านบาทในไตรมาส 4/2562

อัตราค่าระวางเรือมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ทำให้ผลงานโดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลัง ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมขนส่งทางทะเล แม้ว่าจะมีสถานการณ์โควิด-ระบาดก็ตาม ในไตรมาสที่ 4 บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 26% เป็น 5,224 ล้านบาท แม้ปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มเพียง 3% เป็น 533,000 ตู้ ก็ตาม สาเหตุหลักมาจากอัตราค่าระวางเรือพุ่งสูงขึ้น 22% เป็น 9,555 บาทต่อตู้ เพราะการขาดแคลนตู้สินค้าอย่างรุนแรงในทุกสถานที่ ขณะที่ความต้องการเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศต่างๆทั่วโลกเริ่มเปิดดำเนินงานด้านเศรษฐกิจอีกครั้ง และบริษัทยังคงเน้นจัดการต้นทุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนการเดินเรือลดลง 11% และต้นทุนน้ำมันต่ำลง ทำให้ค่าใช้จ่ายรวมลดลง 5% หรือ 218 ล้านบาท

” ปี 2563 บริษัทเพิ่มอัตรากำไรเกือบ 10% เทียบกับปี 2562 ที่ติดลบ 3% มีรายได้การเดินเรือเพิ่มขึ้น 4% เป็น 1.72 หมื่นล้านบาท ต้นทุนการเดินเรือลดลง 10% หรือ 1,595 ล้านบาทเป็น 14,360 ล้านบาทจากการปรับปรุงประสิทธิภพการดำเนินงานดีขึ้น ”

ในปี 2563 กำไรที่สวยงามมาก นอกจากผู้ถือหุ้น RCL จะได้กำไรจากราคาหุ้นที่พุ่งขึ้นเป็น 1,000% เทียบกับราคาต่ำสุดในรอบปีที่ซื้อขายไม่ถึง 2 บาท ขึ้นไปสูงสุดกว่า 28 บาท ก่อนมาเคลื่อนไหวบริเวณ 21 บาท ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือมาร์เก็ตแคปกระโดดจาก 11,768 ล้านบาท มาอยู่ที่ระดับ 17,901 ล้านบาทและคณะกรรมการบริษัทยังได้อนุมัติให้จ่ายเงินปันผลหุ้นละ 0.50 บาท ขึ้นเครื่องหมาย XD 24 มี.ค. หลังจากที่ไม่ได้จ่ายผลตอบแทนมานาน

ส่วนบริษัท พรีเชียส ชิพปิ้ง (PSL) แม้ว่าปี 2563 ยังประสบปัญหาการขาดทุน 1,294 ล้านบาท แย่ลงกว่าปีก่อน 466% แต่ไตรมาส 4 กลับพลิกมีกำไร 27 ล้านบาท เพราะมีรายได้ต่อวันต่อลำเรืออยู่ที่ 10,022 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ทั้งปีอยู่ที่ 8,332 เหรียญสหรัฐ แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการเดินเรือต่อวันต่อลำเรือเฉลี่ยอยู่ที่ 5,067 เหรียญสหรัฐ และทั้งปีอยู่ที่ 4,705 เหรียญสหรัฐต่ำกว่าปีก่อนที่ 4,778 เหรียญสหรัฐ โดยค่าเฉลี่ยของ BDI อยู่ที่ 685 จุดในครึ่งปีแรกและ 1,444 จุดในครึ่งปีหลัง หรือเพิ่มขึ้น 110%

“ปริมาณคำสั่งต่อเรือใหม่ต่อปริมาณกองเรือในปี 2552 มีมากถึง 81% อุตสาหกรรมจึงอยู่ในภาวะถดถอยเป็นเวลา 12 ปี (ปี 2552-2563) เพียงแค่พยายามรองรับอุปทานส่วนเกินนี้ แต่คำสั่งต่อเรือในปี 2563 ถูกจำกัด เพราะเศรษฐกิจถดถอยยานานกว่า 12 ปี ธนาคารไม่ปล่อยเงินกู้ ทำให้ปี 2564 ปริมาณคำสั่งต่อเรือใหม่ต่อปริมาณกองเรือ อยู่ที่ 6.07% ต่ำสุดในรอบ 20 ปีหรือนานกว่านั้น ส่งผลให้เจ้าของเรือสามารถทำเงินได้ในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า คาดว่าอุปสงค์จะยังคงขยายตัวต่อไป 4.36-6.7% เทียบกับกองเรือโตสุทธิ 1.7-1.5% ส่งผลให้อัตราการเช่าเหมาลำแข็งแกร่ง และปี 2564 จะเป็นจุดเริ่มต้นของรายได้ที่แข็งแรงสำหรับเรือขนส่งสินค้าแห้เทกอง

PSL ระบุว่า การขนส่งโดยตู้คอนเทนเนอร์ได้เปลี่ยนไปจากวันโลกาวินาศเป็นวันเบิกจ่ายภายในเวลาไม่กี่เดือน Sea-Intelligence บริษัทที่ปรึกษาสัญชาติเดนมาร์กได้คาดการณ์ผลขาดทุนรวม 2.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐสำหรับการขนส่งโดยตู้คอนเทนเนอร์ในช่วงเริ่มต้นของการระบาดโควิด-19 ในเดือนเม.ย.2563 คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมการขนส่งจะทำกำไรได้ถึง 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้ ซึ่งถือเป็นการพลิกผันทางโชคชะตาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ในรอบ 64 ปี ของการขนส่งโดยตู้คอนเทนเนอร์

ราคาหุ้น PSL ที่กระโดดขึ้นจาก 7 บาทเศษ มาซื้อขายเหนือ 11 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขายมากกว่า 800 ล้านบาท/วัน จากไม่ถึง 100 ล้านบาท ภายในระยะเวลารวดเร็ว ส่งผลให้หุ้น PSL เข้าเกณฑ์แคชบาลานซ์ นักลงทุนจะต้องวางเงินสดทั้ง 100 % ก่อนสั่งซื้อหุ้นเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.-9 เม.ย.2564 อาจจส่งผลให้ราคาพักฐานระยะหนึ่ง แต่เป็นโอกาสในการซื้อเพื่อลงทุน

ด้านบริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ (III) แม้ว่าในปี 2563 มีกำไรสุทธิ  162.49  ล้านบาท ลดลง-1.23% จากช่วงปีก่อน “ทิพย์ ดาลาล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร III กล่าวว่า ครึ่งปีหลังมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 48% โดยเฉพาะไตรมาสที่ 4 มีการเติบโตสูงถึง 70% โดยรวมทั้งปี 2563 ลดลงเล็กน้อยเพียง 1.2% เพราะธุรกิจโลจิสติกส์โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศจากการที่สายการบินทั่วโลกไม่สามารถให้บริการได้ตามปกติ

“บริษัทปรับแผนกลยุทธ์ในการบริหารธุรกิจภายใต้วิกฤต รวมถึงความสามารถในการปรับตัวทั้งการหารายได้ทดแทนและการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และบริหารความเสี่ยงด้วยการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั้งในและต่างประเทศ ยังคงสร้างผลตอบแทนได้อย่างดี ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้น 4.6%จาก 16.1% เพิ่มเป็น 20.8% “ทิพย์กล่าว

ส่วนแนวโน้มในปี 2564  ตั้งเป้าการเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% โดยมีกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจหลักทั้ง 4 กลุ่ม 10-15% และจากการพัฒนาธุรกิจใหม่

ธุรกิจขนส่งโดยรวมที่ดีขึ้น แต่บริษัทที่ทำธุรกิจขนส่งทางเรือมานาน  บริษัทจุฑานาวี (JUTHA )ยังคงประสบปัญหาขาดทุนมากขึ้น เป็น 140 ล้านบาทในปี 2563 เพราะมีเรือจำนวนน้อยและเจอพิษโควิด

สำหรับบริษัทที่ทำธุรกิจโลจิสติกส์ ในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) อาทิ บริษัท โซนิค อินเตอร์เฟรท (SONIC) มีกำไรสุทธิ 59.83 ล้านบาท เติบโตสูงกว่าปีก่อนที่ทำได้ 46.53 ล้านบาท จากการมีรายได้การให้บริการ เพิ่มขึ้น 18.04% เป็น 1,352 ล้านบาท และไตรมาสที่ 4 จำนวน 456 ล้านบาท เติบโตถึง 52.62% เท่ากับ 157 ล้านบาทเทียบไตรมาสที่ 3 โดยเฉพาะบริการขนส่งทางเรือเติบโตถึง 76% เป็น 326 ล้านบาท เพราะมีลูกค้าใหม่และลูกค้าเดิมใช้บริการเพิ่มขึ้น

บริษัท วี.แอล.เอ็นเตอร์ไพรส์ (VL)ประกอบธุรกิจเรือขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์เป็นหลัก มีกำไรสุทธิ 84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.5% แม้ว่ารายได้ขนส่งในประเทศลดลง แต่ค่าใช้จ่ายในการบริหารและต้นทุนทางการเงินก็ลดลงด้วย

ทั้งนี้ SONIC และ VL มีการจ่ายเงินปันผลและออกใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้น(วอร์แรนต์)ให้ผู้ถือหุ้น  โดย SONIC ปันผลหุ้นละ 0.055 บาทและแจก SONIC-W1 จำนวน 275 ล้านหน่วย อายุ 2 ปี สัดส่วน 2 ต่อ 1 ราคาแปลงสภาพ 1 บาท ส่วน VL จ่ายเงินปันผล 0.05 บาท/หุ้น  แจก VL-W1 จำนวน 400 ล้านหน่วย สัดส่วน 2 ต่อ 1 ราคา ราคาใช้สิทธิ 0.50 บาท จูงใจมากเทียบกับราคาหุ้นล่าสุดอยู่ที่ 1.89 บาท เมื่อผู้ถือวอร์แรนต์มาใช้สิทธิแปลงสภาพเป็นหุ้น สามารถสร้างความแข็งแกร่งให้เงินกองทุนในอนาคต