HoonSmart.com>>วัคซีนคืบหน้าทั่วโลก เมืองไทยรับล็อตแรก 24 ก.พ. ดันหุ้นโรงแรมขึ้นแรง สวนทางผลงานปี 63 เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท ขาดทุนหนัก 2,370 ล้านบาท เฉพาะไตรมาส 4 แบกกว่า 1,195 ล้านบาท ส่วนไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล บล.เอเซียพลัสแนะนำ”ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 34 บาท คาดปีก่อน บักโกรก 2 หมื่นล้านบาท ปีนี้ขาดทุนต่อ 14,000 ล้านบาท ปี 65 ถึงจะมีกำไร 1,400 ล้านบาท AAV บวกแรงกว่า 6% “เกียรตินาคินภัทร” เตือนวัคซีนไม่ช่วย โรงแรมกว่าครึ่งต้องหยุดบริการชั่วคราวหรือปิดถาวร พ่นพิษหนี้เสียระบบแบงก์
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เตรียมร่วมพิธีรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ล็อตแรก ที่จะมาถึงประเทศไทยวันที่ 24 ก.พ.2564 ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นปัจจัยบวกต่อการท่องเที่ยว ส่งผลให้หุ้นโรงแรมและการบินคึกคัก แม้ว่าในปี 2563 มีผลขาดทุนสูงก็ตาม และยังต้องใช้เวลาอีกนานในการพลิกฟื้นธุรกิจ
บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท (SHR) เปิดผลดำเนินงานปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 2,370.67 ล้านบาท แย่ลงจากปี 2562 ที่ขาดทุน 466.85 ล้านบาท เฉพาะไตรมาสที่ 4/2563 ขาดทุนมากถึง 1,195 ล้านบาท หนักกว่าไตรมาส 3 ที่ขาดทุนสุทธิ 599 ล้านบาท
สาเหตุที่ทำให้ SHR ขาดทุนมาก เนื่องจากรายได้จากการให้บริการทรุดลง 59.1% เหลือจำนวน 1,562.9 ล้านบาท เพราะมีการหยุดให้บริการโรงแรมชั่วคราวในทุกประเทศในไตรมาสที่ 2 และโรงแรมที่มีการดำเนินงานที่ทยอยเปิดในครึ่งปีหลัง ยังถูกกดดันจากภาวะอุตสาหรรมท่องเที่ยวที่ซบเซา จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่เข้มงวดในหลายประเทศ
อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้น SHR กลับปรับตัวขึ้นแรง ปิดที่ 3.02 บาท เพิ่มขึ้น 0.20 บาทหรือ 7.09%
ส่วนบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) คาดว่าจะแจ้งผลขาดทุนมากเช่นเดียวกัน สวนทางราคาปรับตัวขึ้นโดดเด่น ปิดที่ 31 บาท เพิ่มขึ้น 2 บาทหรือ 6.90% ด้วยมูลค่าการซื้อขายมากถึง 2,429 ล้านบาท
นักวิเคราะห์ 9 ราย คาดบริษัท MINT ยังขาดทุนต่อปีนี้ ให้ราคาเป้าหมายเฉลี่ย 28.77 บาท ขณะที่บล.เอเซียพลัสให้ราคาเป้าหมาย 34 บาท บล.เคทีบีเอสให้ 36 บาท
บล.เอเซียพลัสแนะนำ”ซื้อ” MINT สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้มากพอสมควร คาดเริ่มเห็นขาดทุนต่ำลงตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 64 ตามธีมวัคซีนกระจายทั่วยุโรป 70-80%เอื้อต่อ NH Hotel บริษัทมีโอกาสพลิกมีกำไรตั้งแต่ไตรมาส 2/2565 โดยรวมทั้งปีมีกำไร 1,400 ล้านบาท ที่ราคาหุ้นยังขึ้นช้ากว่า CENTEL ที่กลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19
อย่างไรก็ตาม MINT จะมีขาดทุนปกติ 5,000-6,000 ล้านบาทในไตรมาสที่ 4 มากกว่าที่มองไว้ที่ 4,555 ล้านบาท เพราะการระบาดของโควิดรอบใหม่ กดดันการดำเนินงานของ NH Hotel ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อห้องพักติดลบ 80% จาก 75.2 ยูโร/ห้อง/คืน ในช่วงเดียวกันปีก่อน และไตรมาส 3 ปีนี้อยู่ที่ 22.8 ยูโร ส่วนโรงแรมไทยอัตราเข้าพักใกล้เคียงกับไตรมาส 3 ที่ 22% รายได้ติดลบ 78 % ธุรกิจอาหารสัดส่วน 33%ของรายได้รวม พบว่ายอดขายร้านอาหารเดิม อ่อนตัวใกล้เคียงกับไตรมาส 3 ที่ประมาณ 15% เกือบทุกประเทศยกเว้นจีน
ขณะที่บริษัทมีกระแสเงินสดยังพอต่อการดำเนินงาน เงินสด ณ สิ้นงวดไตรมาส 3 อยู่ที่ 3.2 หมื่นล้านบาทและวงเงินสินเชื่อประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท เทียบกระแสเงินสดไหลออกช่วงไตรมาส 3 ประมาณ 4,400 ล้านบาท
บริษัทเปิดเผยว่าได้รับการผ่อนผันการดำรงสัดส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยเทียบส่วนของผู้ถือหุ้นไม่เกิน 1.75 เท่า จากผู้ถือหุ้นกู้ไปเป็นสิ้นปี 2565 จากเดิมสิ้นปี 2563 และยกเว้นการรวมผลของการด้อยค่าสินทรัพย์จากโควิดในส่วนของผู้ถือหุ้นไปจนถึงปี 2567
ด้านบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) ราคาขึ้นไปสูงสุดที่ 5.05 บาท ก่อนปิดที่ 4.98 บาท เพิ่มขึ้น 0.28 บาท หรือ 5.96%
ส่วนธุรกิจการบิน นำโดย บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น(AAV) ราคาปิดที่ 2.70 บาท เพิ่มขึ้น 0.16 บาทหรือ 6.30% สำหรับบริษัทที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการไม่ตอบสนองข่าวบวกวัคซีนมากนัก บริษัทการบินไทย (THAI) ลงไปลึกแถว 4.14 บาท ก่อนปิดที่ 4.22 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อนและสายการบินนกแอร์ (NOK) ปิดที่ 1.12 บาท ลดลง 0.01 บาท
บริษัทเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยระยะเวลาในการแจกจ่ายวัคซีนของประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อแผนการเปิดประเทศและสูญเสียโอกาสในการเป็นประเทศแรกที่นักท่องเที่ยวจะเลือกเดินทาง ประเมินว่า หากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 2 ล้านคนในปีนี้ อัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่เพียง 34% ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมราวครึ่งหนึ่งจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราวหรือจำต้องปิดตัวถาวร
ธุรกิจโรงแรมเริ่มมีสัญญาณ Oversupply มาตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด-19 โดยเฉพาะโรงแรมขนาดกลางและประหยัด เมื่อมีโควิดมาซ้ำเติมปัญหาให้รุนแรงขึ้น จนนำไปสู่การปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ และมีสัดส่วนหนี้เสียเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563
ความท้าทายสำคัญอีกด้านคือการท่องเที่ยวไทยพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนในสัดส่วนสูงถึงกว่า 30% ซึ่งแม้ว่าสถานการณ์โควิด-19จะผ่านพ้นไป อาจไม่สามารถคาดหวังให้นักท่องเที่ยวจีนกลับมาเติบโตได้ดีเหมือนที่ผ่านมา จากการที่จีนสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ และแนวโน้มชะลอตัวของการตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศ
การท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะจากจีน
การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 และความล่าช้าของการกระจายวัคซีนส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวในภาคการท่องเที่ยวตลอดปี 2564 ส่งผลให้อัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่เพียง 34% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าอัตราการเข้าพักในช่วงก่อนโควิด-19 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 71% ถึงกว่าครึ่งหนึ่ง และมีห้องพักปล่อยว่างถึง 2 ใน 3 หรือเฉลี่ย 540,000 ห้องต่อวัน ทำให้ธุรกิจโรงแรมรายได้หดหายกว่า 70% และมีปัญหาหนี้เสียในภาคธนาคาร โดยเฉพาะในกลุ่มที่พักขนาดเล็กที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือหนี้เสีย (NPL Ratio) พุ่งสูงขึ้นตั้งแต่ปลายไตรมาส 1 ปี 2564