KTC ผงาด ซื้อหุ้นเคทีบี ลีสซิ่ง 75.05% จับมือแบงก์กรุงไทยบุกสินเชื่อครบวงจร

HoonSmart.com>>”บัตรกรุงไทย”ติดปีกบินสูง บอร์ดไฟเขียวทุ่ม 594.396 ล้านบาทซื้อหุ้นเคทีบี ลีสซิ่ง 75.05% จากธนาคารกรุงไทย ขยายธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ สร้างโอกาสสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจสินเชื่อที่ครบวงจรเบ็ดเสร็จ ทั้งสินเชื่อมีหลักประกันและสินเชื่อไม่มีหลักประกัน 

ระเฑียร ศรีมงคล

นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย (KTC) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ วันที่ 10 ก.พ. 2564 อนุมัติให้บริษัทฯเข้าลงทุนในบริษัท กรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง หรือ เคทีบี ลีสซิ่ง  จำนวน 75.05 ล้านหุ้น คิดเป็น 75.05% ในราคาหุ้นละ 7.92 บาท พาร์ 10 บาท คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 594.396 ล้านบาท โดยธนาคารกรุงไทย(KTB) ยังคงถือหุ้นในสัดส่วน 24.95% ของทุนชำระแล้ว

ทั้งนี้ การซื้อขายหุ้นมีเงื่อนไขการปรับราคาในภายหลังให้เป็นไปตามมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน แต่จะไม่เกินหุ้นละ 13.15 บาท หรือมูลค่าไม่เกิน 986.91 ล้านบาท เทียบเท่ามูลค่าหุ้นตามบัญชีสุทธิ ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2563  โดยจะนำเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมผู้ถือหุ้นในเดือนเม.ย. 2564 เพื่อขออนุมัติเข้าทำรายการดังกล่าว ซึ่งจะต้องได้รับมติอนุมัติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน โดยไม่นับคะแนนเสียงในส่วนของผู้ถือหุ้นที่มีส่วนได้เสีย และ ธนาคารกรุงไทยจะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับธนาคารแห่งประเทศไทยต่อไป

ส่วนเหตุผลในการเข้าซื้อบริษัทเคทีบี ลีสซิ่ง ครั้งนี้  บริษัทสามารถทำธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่งทุกประเภท รวมถึงโอกาสที่จะขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดสินเชื่อของผู้ประกอบการ SME ในอนาคต ซึ่งจะช่วยเติมเต็มและสร้างโอกาสให้เคทีซีสามารถแตกไลน์ธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกันได้กว้างขวาง ครอบคลุมและครบวงจรมากขึ้น ต่อยอดจากสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ “เคทีซี พี่เบิ้ม” เพื่อให้ทำธุรกรรมได้ครบวงจร ซึ่งเคทีซีได้เริ่ม เบนเข็มทำธุรกิจสินเชื่อมีหลักประกันเมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังช่วยกระจายความเสี่ยง สามารถรองรับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในการดำเนินธุรกิจได้มากขึ้น เพิ่มโอกาสในการเติบโตธุรกิจของกลุ่มธนาคารกรุงไทยร่วมมือกันปล่อยสินเชื่อและให้บริการอื่นๆ ของบริษัทให้กับฐานลูกค้าของกรุงไทยลีสซิ่งและธนาคาร

บริษัทเคทีบี ลีสซิ่ง ยังมีสาขาจำนวน 11 สาขา ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดสำคัญทั่วประเทศไทย สามารถนำมาใช้ประโยชน์หรือสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับกลุ่มลูกค้าท้องถิ่นหรือตัวแทนจำหน่ายในพื้นที่นั้นๆ

“การเข้าลงทุนใน เคทีบี ลีสซิ่ง บริษัทฯ ได้ฐานลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่ง และพันธมิตรธุรกิจที่จะก่อให้เกิดการผนึกกำลังสำคัญ ประกอบกับจุดแข็งของเคทีซีในการบริหารจัดการต้นทุน การบริหารคุณภาพพอร์ตลูกหนี้และการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในระบบปฏิบัติการต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงศักยภาพของทีมบริหาร บุคลากร และผู้แนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจ จะเอื้อประโยชน์ให้เราสามารถพัฒนาองค์ความรู้ของทั้งสององค์กรเข้าด้วยกัน เพื่อให้ธุรกิจ เติบโตแข็งแกร่งได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว และสามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจให้กับบริษัทฯ และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มภายหลังจากการเข้าถือหุ้น”นายระเฑียรกล่าว