SCC คาดรายได้ปี 64 โต 5-10% เชียร์ซื้อ กำไรเพิ่ม ราคาเกิน 400 บาท

HoonSmart.com>>”ปูนซิเมนต์ไทย” เทคออฟ ปี 64 ปิโตรเคมี-บรรจุภัณฑ์หนุนรายได้โต 5-10 % ลงทุนเทคโนโลยีเพิ่มนวัตกรรมใหม่หนุน นักวิเคราะห์ประสานเสียงแนะนำ”ซื้อ” แนวโน้มกำไรปี 64-66 โต  ผลตอบแทนปันผลดี   เป้าราคาสูงกว่า 400 บาท ล่าสุดอยู่ที่ 383 บาท -2%เศษ 

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) เปิดเผยว่า ในปี 2564 รายได้รวมจะเติบโต 5-10% จากปีก่อนที่มีรายได้ 399,939 ล้านบาท มาจากธุรกิจปิโตรเคมี และธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ส่วนธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง คาดว่าครึ่งปีแรกยังได้รับผลกระทบการระบาดโควิด-19 แต่คาดหวังครึ่งปีหลังภาคการก่อสร้างจะกลับมามีสัญญาณดีขึ้น

ทั้งนี้ ธุรกิจปิโตรเคมีเติบโตจากโครงการขยายกำลังการผลิตโอเลฟินส์แบบคอขวดของโรงงานมาบตาพุดโอเลฟินส์ เพิ่มกำลังการผลิตโอเลฟินส์  3.5 แสนตัน/ปี  คาดว่าในไตรมาส 1/2564 จะเริ่มการผลิตได้ จากปีที่แล้วที่มีปริมาณการขายลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจากการปิดซ่อมบำรุงของโรงงานมาบตาพุดโอเลฟินส์ จ.ระยองในไตรมาส 4/63 เป็นเวลา 40 วัน

นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า  ในปี 2564  บริษัทมีงบลงทุน 6.5-7.5 หมื่นล้านบาท โดยมีแผนลงทุนในโครงการเดิม คือโครงการปิโตรเคมีครบวงจร ที่เวียดนาม คาดว่าอีก 2 ปีจะแล้วเสร็จ การลงทุนในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ยังคงเดินหน้าขยายฐานการผลิตในภูมิภาคอาเซียนและเสริมสร้างฐานธุรกิจที่มีอยู่ ขณะที่การลงทุนในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างก็ยังมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

ส่วนธุรกิจใหม่ที่จะลงทุนเป็นธุรกิจเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่มีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่เข้ามาเสริม และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค รองรับแนวโน้มการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน และลงทุนเรื่องดิจิทัลและ E-Commerce ซึ่งปีนี้จะรุกเข้าช่องทางออนไลน์มากขึ้นสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงลงทุนด้าน Well Being ทั้งสินค้าและ Solution ที่ช่วยเรื่องที่อยู่อาศัย และ อุปกรณ์ทางการแพทย์

ในปี 2563 บริษัทได้ใช้เงินลงทุนไป 5.8 หมื่นล้านบาท จากงบลงทุน 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งในช่วงระหว่างที่มีการระบาดโควิดรอบแรก มีการระมัดระวังการลงทุน ได้มีการทบทวนทุกโครงการ โดยธุรกิจหลักก็ยังคงลงทุนต่อเนื่องได้ดี

สำหรับผลประกอบการของปี 2563 มีรายได้จากการขาย ลดลง 9% จากราคาและปริมาณขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ลดลง และมีกำไร  34,144 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  7% จากปีก่อน จากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในทุกธุรกิจ โดยมียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม  126,115 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน  32% ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ทั้งการปรับแผนการดำเนินธุรกิจ ปรับสัดส่วนการขายพัฒนาช่องทาง Active Omni-Channel ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
ยังมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทยทั้งสิ้น 168,719 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 42% ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้นจาก  41% ในปีก่อน

ด้านบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 438 บาท คาดการณ์อัตราผลตอบแทนเงินปันผล 4% ต่อปี ประมาณการกำไรปี 2564 เติบโต 6% เป็น 3.76 หมื่นล้านบาท  ส่วนไตรมาสที่ 4/2563 มีกำไรสุทธิ 8.04 พันล้านบาท เติบโต 13% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลง -17% จากไตรมาสที่ 3 ซึ่งต่ำกว่าที่เราและตลาดคาดไว้ 6% และ 3% ตามลำดับ เพราะธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างชะลอตัว  มีด้อยค่าในสินทรัพย์ประเทศเมียนมาและอินโดนีเซีย และปริมาณขายปิโตรเคมีลด 6 หมื่นตันจากปิดซ่อมบำรุงโรงงาน MOC 38 วัน แต่บางส่วนได้รับการชดเชยจากสเปรดปิโตรเคมีที่ดีขึ้นทั้ง PE และ PP, ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมดีขึ้น และมีกำไรจากสต็อก 1.06 พันล้านบาท  ถ้าไม่รวมรายการพิเศษพบว่ากำไรหลัก 8.3 พันล้านบาท อ่อนลง -2%จากช่วงเดียวกันปีก่อน และ -13%จากไตรมาส 3 ต่ำกว่าที่เราคาดไว้ 2%

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 440 บาท แนวโน้มผลงานไตรมาส 1/2564 ยังอยู่ในเกณฑ์ดี คงประมาณการกำไรปีนี้ 3.7 หมื่นล้านบาท +9% มองข้ามไปปี 2564 -2566 หุ้นยังมีหลายปัจจัยการเติบโตที่รออยู่

“ราคาหุ้นที่ยัง Laggard และ Valuation อยู่ระดับน่าสนใจ โดยปัจจุบันซื้อขายบน P/BV 1.5 เท่า นับว่ามีส่วนลดจากค่าเฉลี่ย 10 ปี -1.5SD 2) ผลการดำเนินงานปี 2563 พิสูจน์ความแข็งแกร่งท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า เงินปันผลอยู่ในระดับดี”บล.หยวนต้าระบุ

บล.ทรีนีตี้ แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 430 บาท  แม้ว่าผลประกอบการจะชะลอตัวในไตรมาส 4 ที่ผ่านมา แต่จะฟื้นตัวแรงในไตรมาส 1/2564 จากปริมาณการขายที่กลับมาเป็นปกติ ในขณะที่ส่วนต่างราคาของ HDPE-Naphtha ยังทรงแข็งแกร่งในระดับ 550-600 เหรียญสหรัฐ/ตัน คงประมาณการกำไรปี 2564 ที่ 3.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% โดยยังคงมุมมองเชิงบวกต่อธุรกิจปิโตรเคมีที่ยังอยู่ใน Up cycle จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจในหลายประเทศโดยเฉพาะจีน และอุตสาหกรรมยายนต์ในหลายประเทศเริ่มฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน รวมถึงการกระตุ้นให้เกิด EV Car ที่เร็วขึ้นในสหรัฐฯ จะส่งผลให้เกิดการใช้ปิโตรเคมีเช่น PP มากขึ้น เห็นได้จากราคา PP ที่สูงกว่า  1,200 เหรียญสหรัฐ/ตัน

ด้านราคาหุ้น SCC ซื้อขายที่ 383 บาท ลดลง  9  บาทหรือ -2.30% ส่วนหนึ่งปรับตัวลงตามภาวะตลาดที่ดัชนีทรุดลงแรงเกือบ 20 จุด หรือ 1% เศษ ณ เวลา 15.10 น. วันที่ 28 ม.ค.

SCC กำไรแค่ 8 พันลบ.Q4/63 ปันผล 8.50 บาท ปีนี้ลงทุน 6.5-7.5 หมื่นล.