กองทุนนอกแจกกำไรฝ่าโควิด-ปี 64 อย่าหวังสูงแนะจัดพอร์ตกระจายเสี่ยง

HoonSmart.com>> “มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช” เผยปี 63 กองทุนหุ้นต่างประเทศสุดฮอต พานักลงทุนโกยกำไรฝ่าโควิด-19 มูลค่าสินทรัพย์กองทุนเติบโต 27.5% แตะ 8.4 แสนล้านบาท “หุ้นเทคฯ” แรงต่อเนื่องผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุด 49% รองลงมากองหุ้นทั่วโลก 24% กองทุนหุ้นเอเชีย แปซิกยกเว้นญี่ปุ่นเกือบ 24% ทิ้งห่างกองทุนหุ้นบิ๊กแคปไทยติดลบ 10% มองแนวโน้มปี 64 ผลตอบแทนอาจไม่พุ่งแรงเท่าปีก่อน แนะนักลงทุนจัดพอร์ต กระจายเสี่ยง

น.ส.ชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ภาพรวมผลตอบแทนเฉลี่ยกองทุนรวมในช่วงไตรมาส 4/2563 เป็นไปในทิศทางที่ดีกว่าไตรมาสก่อนหน้า กองทุนรวมต่างประเทศหลายกลุ่มยังมีผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวกต่อเนื่อง เช่นกลุ่ม Global Technology ที่ 15.5% ทำให้มีผลตอบแทนเฉลี่ยสะสมทั้งปี 2563 เกือบ 50% กลุ่ม Global Equity สะท้อนภาพทิศทางเดียวกันกับการลงทุนในสหรัฐอเมริกา มีผลตอบแทนเฉลี่ยใกล้เคียงไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 10.9% รวมสะสมทั้งปี 23.7%

ด้านภูมิภาคเอเชีย กลุ่มตลาดเกิดใหม่หรือกลุ่มอาเซียน มีการฟื้นตัวที่ดีจากผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 16.6%, 17.3% และ 18.3% ตามลำดับจากที่ก่อนหน้านี้มีผลตอบแทนเป็นรองทางฝั่งกลุ่มอเมริกา และจีนค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามหากพิจารณาที่ผลตอบแทนเฉลี่ยทั้งปีอาจยังให้ผลตอบแทนที่ไม่สูงนัก ขณะที่กองทุนหุ้นจีนผลตอบแทน 18.98%

“ในช่วงไตรมาสสุดท้ายถือว่าผลตอบแทนโดยรวมเป็นไปในทิศทางที่ดีกว่าไตรมาสก่อนหน้า กองทุนรวมต่างประเทศหลายกลุ่มยังมีผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวกต่อเนื่อง ด้านภูมิภาคเอเชีย กลุ่มตลาดเกิดใหม่หรือกลุ่มอาเซียน มีการฟื้นตัวที่ดี”

กองทุนรวมหุ้นไทยกลุ่ม Equity Large-Cap มีการฟื้นตัวที่ชัดเจนโดยเฉลี่ยที่ 13.7% (SET TR 3 เดือน อยู่ที่ 17.4%) แต่อย่างไรก็ตามจากรอบ 9 เดือนมีผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบถึง 21% จึงทำให้ในรอบ 1 ปียังคงติดลบ 10.4% (SET TR ปี 2563 ติดลบ 5.2%) กลุ่มหุ้นขนาดกลาง-เล็กสามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยได้ดีกว่าหุ้นขนาดใหญ่โดยมีผลตอบแทนเฉลี่ยสะสมทั้งปี 0.9% โดยในไตรมาสล่าสุดเฉลี่ยที่ 10.0%

หากมองภาพระยะยาวเช่น 10 ปีจะเห็นได้ว่าการลงทุนในหุ้นไทยกลุ่ม Equity Large-Cap ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 4.8% ซึ่งถือว่าไม่แย่กว่ากลุ่มอื่นมากนัก และยังสูงกว่าหลายกลุ่มเช่น หุ้นจีน ญี่ปุ่น หรือกลุ่มตลาดเกิดใหม่ อย่างไรก็ดีผลตอบแทนจากหุ้นไทยจากนี้อาจขึ้นอยู่กับสภาวะหรือโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ว่าจะส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจที่มีรูปแบบหรือนวัตกรรมใหม่ในประเทศให้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้มากน้อยเพียงใด

ในไตรมาสสุดท้ายของปีราคาทองคำเคลื่อนตัวลงจากช่วงไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนไปยังผลตอบแทนกลุ่ม Commodities Precious Metals ที่ -2.2% แต่ผลตอบแทนเฉลี่ยสะสมทั้งปีอยู่ที่ 22.4% ซึ่งยังสูงกว่าหลายกลุ่ม ด้านกองทุนน้ำมันมีผลตอบแทน 13.7% ในไตรมาสสุดท้าย โดยในระยะยาวถือว่ายังเป็นกลุ่มที่มีผลตอบแทนโดยเฉลี่ยกว่ากว่ากลุ่มอื่นอย่างชัดเจน

กลุ่มตราสารหนี้ในประเทศมีแนวโน้มที่ดีกว่าช่วงก่อนหน้าทั้งในกลุ่ม Short Term Bond และ Mid/Long Term Bond ทำให้มีผลตอบแทนเฉลี่ยสะสมทั้งปีที่ 0.6% และ 1.0% ตามลำดับ อย่างไรก็ตามปี 2563 ถือเป็นอีกปีที่กองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าโดยกลุ่ม Global Bond เฉลี่ยอยู่ที่ 3.6% ทั้งนี้แนวโน้มการลดดอกเบี้ยในรอบหลายปีที่ผ่านมาทำให้ผลตอบแทนกองทุนตราสารหนี้ต่ำลงค่อนข้างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่นช่วงปี 2554-2558 การลงทุนในตราสารหนี้กลุ่ม Short Term Bond มีผลตอบแทนราว 2%-3% ขณะที่ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ช่วง 1%-2%

อย่างไรก็ตามตั้งแต่ต้นปี 2564 ยังเห็นเงินไหลเข้ากองทุนหุ้นจีน หุ้นเทคโนโลยีและหุ้นทั่วโลกในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่จะคาดหวังผลตอบแทนเหมือนปีก่อนที่บางกองทุนเติบโต 80-100% ไม่ได้ หากนักลงทุนเพิ่งเริ่มเข้าไปลงทุน โดยแนะนำไม่ควรทุ่มเงินลงทุนแต่ควรจัดพอร์ตกระจายการลงทุน เพื่อกระจายความเสี่ยง รวมทั้งขอคำแนะนำที่ปรึกษาการลงทุนน่าจะดีกว่าการเลือกลงทุนเอง

สำหรับภาพรวมกองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 8.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.5% จากปี 2562 ทำให้มูลค่ากองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) มีสัดส่วนที่ 21% ของตลาดกองทุนรวมไทย จากที่เคยมีสัดส่วนราว 10% ในปี 2559 โดยกลุ่มกองทุนที่เติบโตอย่างชัดเจนคือกลุ่มตราสารทุน มีมูลค่ารวมราว 5.8 แสนล้านบาท หรือ 69% ของมูลค่ากองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund)


กลุ่มกองทุนหุ้นจีน (China Equity) เป็นกลุ่มที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงสุดที่ 1.2 แสนล้านบาท หรือเติบโต 185% จากปีที่แล้ว ทั้งจากผลตอบแทนที่สูงหรือโดยเฉลี่ยเกือบ 19% และเม็ดเงินไหลเข้าต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี ประกอบกับในปี 2563 มีกองทุนหุ้นจีนเปิดใหม่เพิ่มมากถึง 31 กองทุนจากที่มีอยู่เดิม 40 กองทุน โดยกองทุนเปิดใหม่มีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 3.1 หมื่นล้านบาท ทำให้โดยรวมกองทุนกลุ่มนี้มีเงินไหลเข้าสุทธิทั้งปีเกือบ 6 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินไหลเข้าในช่วงไตรมาสสุดท้าย 2.3 หมื่นล้านบาท

กองทุนกลุ่ม Global Equity ก็เป็นอีกกลุ่มที่มีการเติบโตที่โดดเด่นหรือราว 140% จากปีที่แล้ว โดยในปีที่ผ่านมามีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 5.0 หมื่นล้านบาท โดยเป็นเงินไหลเข้ากระจายในหลายบลจ. โดยเป็นเงินไหลเข้ากระจายในหลายบลจ. นำโดยบลจ.กสิกรไทยที่มีเงินไหลเข้าสุทธิรวมกว่าหมื่นล้านบาท โดยมีกองทุน K Positive Change Equity (K-CHANGE-A(A)) ที่เป็นกองทุนเด่นในกลุ่มนี้ และเป็นการลงทุนไปยัง master fund จาก Baillie Gifford โดยทั้ง 3 share class ของ K-CHANGE (class ปกติ, RMF และ SSF) มีเงินไหลเข้าสุทธิรวมกัน 9.0 พันล้านบาท และในรอบปีที่ผ่านมากองทุน K-CHANGE-A(A) มีผลตอบแทนสูงถึง 73.3%

ตามมาด้วยบลจ.ทหารไทย ที่มีเงินไหลเข้าในกองทุนที่มีอยู่เดิมและเป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดของกลุ่มคือ TMB Global Quality Growth (ลงทุนใน master fund จากบลจ. Wellington) และกองทุนเปิดใหม่ TMB Eastspring Global Innovation (ลงทุนในกองทุน Nikko AM ARK Disruptive Innovation) รวมกันมากกว่า 7 พันล้านบาท

ด้านบลจ.วรรณ มีกองทุน ONE Ultimate Global Growth RA ที่เป็นหนึ่งในกองทุนที่มีผลตอบแทนสูงสุดของปีหรือเกือบ 85% ทำให้เป็นที่สนใจของนักลงทุนอย่างมาและมีเงินไหลเข้าสุทธิ 3.9 พันล้านบาท โดย ณ สิ้นปี 2563 กองทุนนี้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 8.9 พันล้านบาท โดยมีการลงทุนไปที่กองทุนจากบลจ. Baillie Gifford

เนื่องจากกองทุนที่มีการลงทุนไปยังบลจ. Baillie Gifford เช่น K Positive Change Equity หรือ ONE Ultimate Global Growth RA มีการเติบโตของมูลค่าทรัพย์สินที่สูงในปีนี้ ทำให้ Baillie Gifford เป็นบลจ. ที่มีกองทุนรวมไทยในกลุ่ม Global Equity ไปลงทุนสูงสุดเป็นอันดับ 2 หากดูที่ผลตอบแทนจะพบว่ากองทุนจาก Baillie Gifford สามารถสร้างผลตอบแทนได้โดยเฉลี่ยมากกว่า 80% ในรอบปีที่ผ่านมา โดยทั้งหมดเป็นกองทุน 5 ดาว

กองทุน Nikko AM ARK Disruptive Innovation A USD (มี ARK Investment Management LLC. เป็น Investment Adviser) สร้างผลตอบแทนได้สูงถึง 147% จากกลยุทธ์การลงทุนที่เน้นธีม Disruptive Innovation ที่หมายถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีการใช้เทคโนโลยี สร้างนวัตกรรมเช่นด้านอุตสาหกรรม, fintech, genomic และ internet ที่ครอบคลุมถึง IoT, Cloud Computing, หรือ Big Data เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่วิถีใหม่ในโลก ทั้งนี้กองทุนนี้มีการถือหุ้น Tesla เป็นสัดส่วนสูงสุดมาตั้งแต่เริ่มเปิดกองทุนในช่วงปลายเดือนส.ค.ปี 2561

นอกจากนี้ยังมี ARK ETF อื่นอีกเช่น ARK Next Generation Internet ETF (ARKW) ARK Genomic Revolution ETF (ARKG) ARK Innovation ETF (ARKK) ซึ่งมีการเติบโตของมูลค่าทรัพย์สินเติบโตหลายเท่าตัวจากปี 2563 โดยมี ARKK ที่มีมูลค่าสูงสุด 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 5 แสนล้านบาท ทั้งนี้ทุกกองที่เป็น active ETF มีผลตอบแทนมากกว่า 100% ใน 2563

จาก ARK ETF ที่เป็น Actively managed จำนวน 5 กองมีกองทุนรวมไทยลงทุนใน 3 กองคือ ARKK, ARKW และ ARKG ซึ่งเป็นกองทุนจาก บลจ.ทิสโก้ 2 กองทุน บลจ.ฟิลลิป 1 กองทุน และยังมีกองทุนกำลังจะจัดตั้งใหม่จาก บลจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์และบลจ. วี ทั้งนี้แต่ละกองทุนมีการเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการที่แตกต่างกัน กอง PWIN, T-ES-GINNO และ TMB-ES-GINNO มีการเก็บธรรมเนียมสูงกว่ากองอื่นเล็กน้อย โดยกองทุน PWIN มีการลงทุนแบบ fund of funds ขณะที่ T-ES-GINNO และ TMB-ES-GINNO เป็นการลงทุนในกองทุนที่ไม่ใช่ ETF

กลุ่ม Property Indirect – Flexible กลายเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ลดลง 22.7% จากปีที่แล้ว ทั้งนี้เป็นผลจากผลตอบแทนในรอบปีที่ผ่านมาอยู่ในกลุ่มท้ายหรือที่ -10.3% ทั้งยังมีเงินไหลออกสุทธิรวม 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในเชิงลบมาอย่างต่อเนื่องในรอบปีที่ผ่านมา โดยกองทุน TMB EASTSPRING Property & Infrastructure Income Plus Flexible (TMBPIPF) มีเงินไหลออกสุทธิสูงสุด 8.4 พันล้านบาท

กลุ่ม Global Bond เป็นอีกกลุ่มกองทุนต่างประเทศที่มีการเติบโตต่อเนื่องที่ 28.3% จากปี 2562 ไปอยู่ที่ระดับ 1.0 แสนล้านบาทได้อีกครั้งหลังจากปี 2560 โดยในปีนี้กลุ่ม Global Bond ติดอันดับกลุ่มเงินเข้าสุทธิ ด้วยเงินไหลเข้าสุทธิต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายมูลค่า 2.8 พันล้านบาท รวมเป็นเงินไหลเข้าสุทธิตลอดทั้งปีรวม 2.2 หมื่นล้านบาท

ด้านมูลค่าทรัพย์สินกองทุนรวมฟีดเดอร์ฟันด์อยู่ที่ 5.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 45% จากปี 2563 เป็นการลงทุนในกองทุนจากบลจ. PIMCO มีสูงสุดที่ระดับ 6 หมื่นล้านบาท ลดลงราว 4% ตรงกันข้ามกับบลจ.ที่มีการขายกองทุนหุ้นซึ่งมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดเช่นบลจ. UBS ที่เติบโตเกือบ 400% ทำให้ระยะห่างระหว่าง 2 อันดับแรกเริ่มแคบลงเรื่อย ๆ รวมทั้งสัดส่วนการลงทุนตราสารทุนต่างประเทศที่เติบโตขึ้น จึงทำให้เป็นไปได้ว่าบลจ. ที่มีกองทุนตราสารทุนเป็นจุดขายเช่น UBS, JPMorgan หรือ BlackRock อาจกลับมาเป็นบลจ. Master fund ที่มีมูลค่าทรัพย์สินสูงสุดได้ในอนาคต

ปัจจุบัน master fund ของกองทุนรวมฟีดเดอร์ฟันด์มี Morningstar Rating ระดับ 4 ดาวขึ้นไปรวมกัน 290 กองทุน ส่วนกองทุนที่ไม่มีเรตติ้งมีจำนวน 162 กองทุน ซึ่งอาจเป็นกองทุนที่อายุไม่ถึง 3 ปีจึงยังไม่มีเรตติ้ง หรือเป็นกองทุนที่อยู่ในกลุ่มที่ไม่มีการจัดเรตติ้งเช่นกองทุนทองคำ

หากดูที่มูลค่าเงินลงทุนส่วนใหญ่พบว่าอยู่ในกลุ่มกองทุน master fund ระดับ 4 ถึง 5 ดาว มีมูลค่ารวมมากกว่า 3 แสนล้านบาท ด้านทิศทางเงินลงทุนจะพบว่าในปี 2563 ประเทศไทยมีการเข้าลงทุนใน master fund ระดับ 5 ดาวเป็นส่วนใหญ่ ที่มูลค่าราว 7 หมื่นล้านบาท และมีอีกส่วนหนึ่งไหลเข้ากองทุนที่ไม่มีเรตติ้งเช่นกัน จากเม็ดเงินลงทุนในกองทุน master fund ที่ได้ระดับ 4-5 ดาวนั้นถือเป็นการสร้างประสบการณ์การลงทุนที่ดีแก่นักลงทุนจากการกระจายความเสี่ยงไปต่างประเทศ ซึ่งอาจส่งผลให้กองทุนรวมต่างประเทศเติบโตขึ้นได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต

อ่านข่าว

ทิสโก้ชี้หุ้นโลกย่อตัวระยะสั้นคล้ายช่วงวิกฤตซับไพรม์ แนะซื้อหุ้นจีนกำไรบจ.โตเด่น

ส่อง “กองทุน” แห่งปี 63 ผลตอบแทนสูงสุด

กองหุ้นใหญ่เงินไหลออกครั้งแรกรอบ 15 ปี พิษโควิด-ไร้แรงซื้อ LTF ประคองหุ้นปี 63