ทิสโก้ชี้หุ้นโลกย่อตัวระยะสั้นคล้ายช่วงวิกฤตซับไพรม์ แนะซื้อหุ้นจีนกำไรบจ.โตเด่น

HoonSmart.com>> “TISCO ESU” คาดหุ้นทั่วโลกอาจย่อตัวระยะสั้น คล้ายวิกฤตซับไพรม์หลังเศรษฐกิจเริ่มโตแผ่ว แรงเก็งกำไรในตลาดหุ้นเริ่มสูง มองระยะยาวปัจจัยหนุนจากนโยบายการเงินผ่อนคลาย กระจายวัคซีนคืบหน้า แนะจับจังหวะเข้าซื้อหุ้นจีน ชี้ราคาหุ้นถูก กำไรโตดี ด้านมอร์นิ่งสตาร์ เผยปี 63 นักลงทุนไทยแห่ลงทุนกองทุนหุ้นจีน เงินไหลเข้าสุทธิสูงสุด 6 หมื่นล้านบาท ผลตอบแทนเฉลี่ย 19% “กองทุนแอสเซทพลัส อีโวลูชั่น ไชน่า” แชม์ผลตอบแทนสูงสุด 60%

นายคมศร ประกอบผล ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากจุดต่ำสุดในปีที่ผ่านมา โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่าง S&P 500 ที่ใช้เวลาเพียง 10 เดือนในการปรับขึ้น 72% นับจากจุดต่ำสุดที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 ถือเป็นการฟื้นตัวที่เร็วที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ และคล้ายกับการฟื้นตัวในวิกฤตซับไพรม์ปี 2552 เป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ของความเร็ว ขนาด และรูปแบบในการฟื้นตัว

“หากพิจารณาการฟื้นตัวจากช่วงซับไพรม์จะพบว่าดัชนี S&P 500 ได้ปรับฐานประมาณ 10% ในเดือนที่ 11 ของการฟื้นตัว ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าตลาดหุ้นในช่วงนี้มีความเสี่ยงที่จะปรับฐานเช่นกัน โดยการปรับฐานของตลาดในรอบซับไพรม์นั้นมีสาเหตุจาก 1. ตัวเลขเศรษฐกิจที่เริ่มแผ่วลงในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 และ 2.การยุติมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในเดือนมีนาคม 2553” นายคมศร กล่าว

สำหรับการฟื้นตัวในรอบนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ได้เริ่มเห็นการปรับตัวขึ้นของเศรษฐกิจ ในลักษณะที่แผ่วลงแบบเดียวกับวิกฤตซับไพรม์ ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดระลอกสองในหลายประเทศ นอกจากนี้ ยังเห็นภาวะการเก็งกำไรการลงทุนในตลาดหุ้นค่อนข้างสูง โดยวัดจากดัชนีชี้วัดภาวะการเก็งกำไร เช่น Put-call Ratio, ปริมาณการถือครองเงินสดของผู้จัดการกองทุน ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบหลายปี และปริมาณกู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (Margin) ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ปัจจัยเหล่านี้อาจเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการปรับฐาน

อย่างไรก็ตาม หากตลาดหุ้นเกิดการปรับฐานในรอบนี้ ประเมินว่าจะเป็นเพียงการปรับฐานระยะสั้นเท่านั้น และอาจไม่รุนแรงเท่ากับในอดีต เนื่องจากมีปัจจัยบวก ด้านนโยบายการเงินและนโยบายการคลังที่ยังผ่อนคลายอย่างมาก รวมถึงความคืบหน้าจากการกระจายวัคซีนที่ยังช่วยหนุนตลาด

ขณะที่ในระยะยาวยังมีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการเติบโตของกำไร ซึ่งจะผลักดันให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นต่อ นำโดยกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) ที่มีแแนวโน้มปรับตัวขึ้นตามทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจ และกำไรบริษัทจดทะเบียนในภูมิภาคนี้มีโอกาสเติบโตสูง ขณะที่ระดับราคาหุ้น (Valuation) ยังไม่แพงมาก

สำหรับตลาดหุ้นที่มีความน่าสนใจที่สุดในภูมิภาคนี้ คือ ตลาดหุ้นจีน (CSI300) เห็นได้จากอัตราส่วนระหว่างราคาหลักทรัพย์ต่อกำไรสุทธิคาดการณ์ต่อหุ้น (Forward P/E Ratio) ที่อยู่ประมาณ 15 เท่า ซึ่งยังต่ำว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ (S&P 500 ที่ 22 เท่า) และตลาดหุ้นไทย (SET Index ที่ 19 เท่า) อยู่พอสมควร ซึ่งสะท้อนว่า ตลาดหุ้นจีนยังมีราคาไม่แพง และยังมีโอกาสที่ราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นได้ ตามทิศทางเดียวกับกำไร ดังนั้น การปรับฐานของหุ้นในรอบนี้จึงแนะนำให้นักลงทุนพิจารณาเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นจีน เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับพอร์ตการลงทุนโดยรวม

ด้านน.สชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า รอบปี 2563 กองทุนหุ้นจีนได้รับความสนใจจากนักลงทุนไทยจำนวนมาก ส่งผลให้มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิสูงสุดในกลุ่มกองทุนต่างประเทศ อยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท เติบโต 185% จากปี 2562 อีกทั้งผลตอบแทนสูงเฉลี่ยเกือบ 19% มีเม็ดเงินไหลเข้าต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563

ขณะที่ปี 2563 กองทุน”แอสเซทพลัส อีโวลูชั่น ไชน่า ผลตอบแทนสูงสุดในกลุ่มกองทุนหุ้นอยู่ที่ 60% ข้อมูลจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC)

นอกจากนี้ปี 2563 มีกองทุนหุ้นจีนเปิดใหม่มากถึง 31 กองทุนจากเดิม 40 กองทุน โดยกองทุนเปิดให้มีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 3.1 หมื่นล้านบาท ทำให้เงินไหลเข้าทั้งปีสูงถึง 6 หมื่นล้านบาท โดยจำนวนนี้ไหลเข้าไตรมาสสุดท้าย 2.3 หมื่นล้านบาท

จากเม็ดเงินกองทุนหุ้นจีน 1.2 แสนล้านบาทนั้น ราว 77% เป็นการลงทุนในกองทุน Master fund ใน 2 รูปแบบ คือ หุ้นจีนหรือ A Shares (EAA Fund China Equity – A Shares) หรือทั้งในจีนและฮ่องกง (EAA Fund China Equity) โดยกลุ่มหุ้น A Shares มีผลตอบแทนเฉลี่ย 1 ปีที่ 43.4% สูงกว่ากลุ่มหุ้นจีนและฮ่องกงที่ 35.9% ซึ่งเป็นผลจากการลงทุนในฮ่องกงที่มีผลการดำเนินงานที่ยังต่ำกว่าหุ้นจีนในช่วงที่ผ่านมา โดยผลตอบแทนเฉลี่ยกลุ่ม EAA Fund Hong Kong Equity ที่ 22.7%

ทั้งนี้ EAA คือ Morningstar Category สำหรับกองทุนใน Europe, Asia (ในตลาดที่มีการขายกอง European UCITS จำนวนมาก เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และ ไต้หวัน), และ South Africa

ปัจจุบันกองทุน Krungsri China A Shares Equity A (KFCHINA-A) เป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของกลุ่มหุ้นจีน ซึ่งเป็นการลงทุนแบบฟีดเดอร์ฟันด์ไปยังกองทุนจากบลจ. UBS ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด master fund ด้านกองทุนหุ้นจีนสูงสุด ทั้งนี้กองทุนหุ้นจีนของ UBS ใน share class อื่นๆ ที่ขายในไทยนั้น ยังสร้างผลตอบแทนโดยเฉลี่ยที่ราว 33% และ 3 ใน 5 กองทุนยังได้รับ Morningstar Rating ระดับ 5 ดาว

กองทุนจาก UBS ที่มีมูลค่าการลงทุนจากฟีดเดอร์ฟันด์ของไทยสูงสุดคือ UBS (Lux) Investment SICAV – China A Opportunity (USD) I-A2-acc USD โดยเป็นการลงทุนในหุ้น A Shares และได้ Morningstar Analyst Rating ระดับ Gold ซึ่งเป็นระดับสูงสุด กองทุนนี้มีความโดดเด่นในแง่ของกระบวนการการลงทุนที่เริ่มจากการวิเคราะห์ถึงอุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจจีน โดยให้ความสำคัญกับโมเดลธุรกิจ กระแสเงินสด รวมถึงราคาหุ้นที่ยังไม่สะท้อนมูลค่าการเติบโต เน้นคัดหุ้นคุณภาพและมีการลงทุนในหุ้นจำนวนไม่มากนัก ทำให้การลงทุนในหุ้น 10 อันดับแรกมีน้ำหนักราว 61% ของพอร์ต และมีสัดส่วนหุ้น Giant-cap ราว 68% กลุ่มธุรกิจที่ลงทุนจะค่อนข้างเน้นไปที่ Consumer Defensive และกลุ่ม Healthcare รวมราว 52% นอกจากนี้กองทุนยังให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ในการบริหารสัดส่วนเงินสดของกองทุน โดยในช่วงแรกของการระบาด Covid-19 กองทุนทำการลดสัดส่วนการลงทุนไปถือเงินสดราว 20% ซึ่งส่งผลต่อผลตอบแทนได้อย่างดีโดยเฉพาะในช่วงตลาดปรับตัวลงแรงในเดือนมีนาคม 2020 ทั้งนี้ผู้จัดการกองทุนมีการบริหารกองทุนนี้มาอย่างยาวนานกว่า 13 ปี

ทั้งนี้ ผลตอบแทนของกองทุนจากบลจ. Allianz และบลจ. JPMorgan อาจยังไม่สะท้อนในผลตอบแทนกองทุนรวมหุ้นจีนเนื่องจากกองทุนไทยที่ลงทุนใน 2 บลจ.นี้เป็นกองทุนเปิดใหม่หรือมีการเปลี่ยน Master Fund ในช่วงปี 2563

ด้านผลตอบแทนกองทุนหุ้นจีนยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปี 2564 ณ วันที่ 21 ม.ค.2564 กองทุนเปิดเกรธเธอร์ ไชน่า (GC) สร้างผลตอบแทนสูงสุด 17.58% รองลงมากองทุนเปิดทิสโก้ ไชน่า เทคโนโลยี เพื่อการเลี้ยงชีพ ชนิดผู้ลงทุนทั่วไป (TCHTECHRMF-A) อยู่ที่ 17.46% และอันดับสามกองทุนเปิดทิสโก้ ไชน่า เทคโนโลยี อิควิตี้ ชนิดหน่วยลงทุน A (TCHTECH-A) อยู่ที่ 17.34%

ขณะที่ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 ปีสูงสุด ได้แก่ กองทุนเปิดทหารไทย China Opportunity (TMBCOF) อยู่ที่ 12.90% ต่อปี และ 5 ปีย้อนหลังอยู่ที่ 21.85% ต่อปี และตั้งแต่ต้นปี 2564 อยู่ที่ 8.71% รองลงมากองทุนเปิดทหารไทย China Opportunity เพื่อการเลี้ยงชีพ (TMBCORMF) ผลตอบแทน 3 ปีสูงสุด 12.70% ต่อปีและ 5 ปีอยู่ที่ 21.46% ต่อปี ตั้งแต่ต้นปี 2564 อยู่ที่ 8.72%
 
 
อ่านข่าว

กองทุนนอกแจกกำไรฝ่าโควิด-ปี 64 อย่าหวังสูงแนะจัดพอร์ตกระจายเสี่ยง

ส่อง “กองทุน” แห่งปี 63 ผลตอบแทนสูงสุด