หุ้นแบงก์ผันผวน เพิ่มเป้า-หั่นราคา

นักวิเคราะห์เสือปืนไว ปรับเพิ่ม-ปรับลดประมาณการกำไรแบงก์ปีนี้ และราคาเป้าหมาย หลังครึ่งปีแรกธนาคารส่วนใหญ่เติบโตดีเกินคาด จาก 4 ปัจจัย เตือนนักลงทุนดูที่มาให้ดี กรุงไทยนำโด่งพุ่ง 139% แต่กำไรจากการดำเนินงานลดลง คาดหุ้นธนาคารมีโอกาสได้รับความสนใจต่อเนื่องในสัปดาห์นี้ CIMBTประกาศเพิ่มทุน 3,951 ล้านบาท ธปท.จัดสัมมนาใหญ่ 23 ก.ค. ระดมสมองผู้บริหารแบงก์ชั้นนำของไทยและต่างประเทศ ร่วมสร้างระบบธนาคารให้เติบโตยั่งยืน

เศรษฐกิจขยายตัวเกิน 4% ในปี 2561 สนับสนุนให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิเติบโตดีเกินคาด ในไตรมาส 2 และรวม 6 เดือนแรกของปีนี้ ส่งผลให้นักวิเคราะห์บล.ฟินันเซีย ไซรัสปรับเพิ่มเป้ากำไรปีนี้ขึ้น 4% และราคาเหมาะสมเป็น 232 บาทสำหรับธนาคารกรุงเทพ(BBL) ขณะที่ บล.ทรีนีตี้ปรับลดประมาณการกำไรและราคาเป้าหมายหุ้นธนาคารทหารไทย (TMB)เหลือ 8,783 ล้านบาท ลดลง 11.6% จากประมาณการก่อนหน้า ราคาเป้าหมายเหลือ 2.60 บาท ก่อนที่ผู้บริหารธนาคารทหารไทยให้ข้อมูลนักวิเคราะห์ในวันศุกร์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม หากเจาะลึกข้อมูลลงไป กำไรที่ดีขึ้น บางธนาคารกลับมีกำไรจากการดำเนินงานลดลง โดยเฉพาะธนาคารกรุงไทย(KTB) ที่มีกำไรสุทธิขยายตัวมากที่สุด 139% ในไตรมาส 2/2561 เนื่องจากธนาคารมีการตั้งหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญ จำนวน 6,769 ล้านบาท ลดลง 7,109 ล้านบาท หรือ 51.22% จากไตรมาส 2/2560 ที่มีการกันสำรองค่อนข้างสูง สำหรับลูกหนี้รายใหญ่กลุ่มหนึ่ง และยังมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง 2,636 ล้านบาทหรือ 5.99% จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี(MRR)ลง 0.50% ในเดือนพ.ค.2561 ทำให้กำไรจากการดำเนินงาน ลดลง 1,005 ล้านบาท หรือ 5.52% เหลือจำนวน 17,205 ล้านบาท

ทั้งนี้ การเติบโตของสินเชื่อเพิ่งเริ่มขยายตัว ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NIM) 6 เดือนแรกเท่ากับ 3.09% ลดลง 0.36% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ NIM ในตรมาส 2 ดีขึ้น จาก 3.07% ไตรมาส 1 เป็น 3.10% รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเริ่มชะลอตัวในไตรมาส 2/2561

ขณะเดียวกันธนาคารส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของพนักงาน ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้สูงขึ้น ธนาคารไทยพาณิชย์ประกาศปรับเป้าหมายหลายตัว เช่น อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ที่ 45-47% เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน


สำหรับภาพรวมธนาคารพาณิชย์ 11 แห่ง ไตรมาส 2 มีกำไรสุทธิ 5.52 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.8% และครึ่งปีแรกมีกำไรสุทธิรวม 1.09 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.49% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยธนาคารส่วนใหญ่มีกำไรดีขึ้น เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจ ส่งผลให้สินเชื่อขยายตัว คุณภาพลูกหนี้ดีขึ้น ช่วยลดภาระการตั้งสำรองหนี้ รวมถึงรายได้จากธุรกรรมเงินต่างประเทศเพิ่มขึ้น ตามความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

ธนาคารกรุงเทพ(BBL) ที่สุขภาพที่ดีมาก ในไตรมาส 2 กำไรสุทธิ 9,194ล้านบาท เติบโต 14.3% มาจากทั้งรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 17,573 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.1% และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย 13,667 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% เนื่องจากธนาคารมีฐานลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ มีความต้องการใช้สินเชื่อตามการเติบโตของเศรษฐกิจ และยังมีกำไรจากธุรกรรมเพื่อการค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ กำไรสุทธิจากเงินลงทุน ด้านค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 4.1% เป็น 13,376 ล้านบาท อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 42.8%

ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ มีรายได้จากการดำเนินงาน 34,343 ล้านบาท เติบโต 1.1%ในไตรมาส 2 จากการขยายตัวของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 4.75%เป็น 23,849 ล้านบาท รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 6.2% เหลือ10,494 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลกระทบจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัล และการลดลงของรายได้สุทธิจากการรับประกันภัย ส่วนอัตราส่วน NPL ลดลง อยู่ที่ 2.81% ณ สิ้นเดือนมิ.ย.จาก 2.83% สิ้นปีก่อน

ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) ในไตรมาส 2/2561 มีกำไรสุทธิ 10,916 ล้านบาท เติบโตประมาณ 21% และ 6เดือนแรกกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 13.18% ส่วนใหญ่เกิดจากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลดลง หากเป็นกำไรจากการดำเนินงานใกล้เคียงกับงวดเดียวกันปีก่อน รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 3.51% หรือ 1,631 ล้านบาท NIM อยู่ที่ 3.40% รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 134 ล้านบาทหรือ 0.43% ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 1,590 ล้านบาทหรือ 5.11% ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายพนักงานและทางการตลาด ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ อยู่ที่ 41.13% ครึ่งปีแรก เทียบกับสัดส่วน 39.88% ในครึ่งแรกปีก่อน

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) รวม 6 เดือนแรก กำไรสุทธิโต 8.4%เป็น 12,488 ล้านบาท รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ เงินให้สินเชื่อโตแข็งแกร่ง 5.9% เป็น 1,642,298 ล้านบาท เติบโตทุกกลุ่มธุรกิจ ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย เพิ่มขึ้น 14.5% โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อ จึงคาดว่าสินเชื่อทั้งปี โต 8-10% สูงกว่าเป้าหมายที่เคยประมาณการไว้เมื่อต้นปี NIM ครึ่งปีนี้ลดลงจาก 3.82% เหลือ 3.75% ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ อยู่ที่ 46.4% ดีขึ้นจาก 48% ในครึ่งแรกปี 2560

ทางด้าน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า คณะกรรมการธนาคารฯมีมติเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 2,271,017,070 บาทเป็น 17,411,130,874 บาท โดยออกหุ้นใหม่จำนวน 4,542,034,141 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิม ในอัตรา 20 หุ้นเดิมต่อ 3 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 0.87 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 3,951 ล้านบาท ทั้งนี้ราคาหุ้นปิดที่ 0.89 บาท ขณะที่ธนาคารมีมูลค่าหุ้นทางบัญชีอยู่ที่ 1.10 บาท ณ วันที่ 20 ก.ค.2561

วัตถุประสงค์ของการเพิ่มทุน เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน และเพื่อให้เงินกองทุนของธนาคารมีความเพียงพอรองรับการขยายธุรกิจและรักษาระดับเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่เทียบเคียงคู่แข่ง พร้อมเสริมสร้างความแข็งแกร่งของสภาวะการเงินเนื่องจากการกันสำรองเผื่อหนี้สูญที่เพิ่มขึ้น

ทางด้านผลงานไตรมาส 2/2561 ธนาคาร CIMBT มีกำไรสุทธิ 191 ล้านบาท ลดลง 165 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 46% และรวม 6 เดือนแรกของปีนี้ มีกำไรสุทธิ 360 ล้านบาท ลดลง 117 ล้านบาทคิดเป็นประมาณ 24% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 477 ล้านบาท

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จัดงานสัมมนา Bangkok Sustainable Banking Forum 2018 ในวันที่ 23 ก.ค. 2561 เวลา 09.00-17.00 น. ณ ห้องภัทรรวมใจ อาคาร 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท.จะกล่าวเปิดงานในหัวข้อ Sustainable Banking:The World Wins, Bank Wins. และในงานนี้มีผู้บริหารธนาคารชั้นนำของไทยและต่างประเทศร่วมเป็นวิทยากร อาทิ การเสวนาในหัวข้อ “Financing while Preserving Environment” มีนายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เป็นวิทยากรร่วมกับ นายวิเวก ปาทัก Director, East Asia&The Pacific จาก International Finance Corporation, นาย โรเจอร์ ชาร์ลส์, Director, Enviornmental and Social Risk Management จากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด

****************
ติดตามข่าว หุ้นเด่น ประเด็นร้อน #HoonSmart #หุ้นสมาร์ท ได้ที่
Facebook : www.facebook.com/HoonSmart
Line : https://line.me/R/ti/p/%40hoonsmart.com