HoonSmart.com>>บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ ได้สร้างปรากฎการณ์ใหม่ ให้กับวงการการเสนอขายหุ้นให้ประชาชนครั้งแรก (ไอพีโอ) โดยเปิดโอกาสให้นักลงทุนรายย่อยมีสิทธิจองซื้อหุ้นและมีโอกาสได้รับการจัดสรรหุ้นอย่างทั่วถึง เพื่อให้คนไทยร่วมเป็นเจ้าของแบรนด์ชั้นนำระดับสากล และเติบโตไปไกลด้วยกัน
โออาร์ เตรียมเสนอขายหุ้น จำนวนไม่เกิน 2,610 ล้านหุ้น และกรีนชูอีก 390 ล้านหุ้น จัดสรรให้กับนักลงทุนรายย่อยและผู้สนใจจำนวน 595.7 ล้านหุ้น ระหว่างวันที่ 24 มกราคม – เวลา 12:00 น. ของวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ทุกคนมีสิทธิจองซื้อหุ้นได้ง่ายๆ ผ่านสาขาหรือออนไลน์ของธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงไทย กำหนดชำระเงินในราคาสูงสุดที่ 18 บาทต่อหุ้น จากช่วงราคาที่ตั้งไว้เบื้องต้น 16-18 บาท ใช้วิธีจัดสรรแบบ Small Lot First ทุกคนจะได้รับการจัดสรรหุ้นขั้นต่ำ 300 หุ้น ก่อนที่จะเพิ่มครั้งละ 100 หุ้น จนกว่าจะจัดสรรหุ้นที่กำหนดไว้ทั้งหมด
ในส่วนนักลงทุนสถาบันที่เป็นผู้ลงทุนหลักโดยเฉพาะเจาะจง (Cornerstone Investors) จำนวน 28 ราย ได้จองซื้อหุ้นครบถ้วนแล้ว แบ่งเป็นการจองซื้อในประเทศจำนวน 1,264.3 ล้านหุ้น โดยมีบลจ.ไทยพาณิชย์ซื้อมากที่สุด 239 ล้านหุ้น สำหรับการจองซื้อในต่างประเทศ จำนวน 450 ล้านหุ้น กองทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ หรือ CIG Private Limited ซื้อมากที่สุดจำนวน 215 ล้านหุ้น
นักลงทุนทุกระดับ จะไม่ผิดหวังกับการลงทุนหุ้น โออาร์ ในระยะยาว เช่นเดียวกับหุ้นในกลุ่มปตท.ทุกบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เนื่องจากราคาขายเบื้องต้นที่ 16-18 บาทต่อหุ้น มีสัดส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น ( P/E) อยู่ที่ 23.9 – 26.9 เท่า ต่ำกว่า P/E เฉลี่ยของคู่แข่งที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยและต่างประเทศในธุรกิจคล้ายคลึงกันที่ 31.7 เท่า
นอกจากนี้ แนวทางการดำเนินธุรกิจ สามารถสร้างกำไรให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วย ด้วยนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 30% ของกำไรสุทธิหลังหักสำรองต่าง ๆ ทุกประเภทตามที่กฎหมายและบริษัทกำหนด ขณะเดียวกันยังช่วยให้สังคมดีขึ้น พร้อมสร้างเสถียรภาพให้เศรษฐกิจประเทศ รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม (stakeholder) เติบโตไปด้วยกัน
โออาร์ ไม่ได้เป็นเพียงหุ้นที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือมาร์เก็ตแคปมากกว่า 2 แสนล้านบาท ติดอันดับในการคำนวณดัชนี SET 50 เท่านั้น ภายหลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทยังมีโอกาสติดอันดับดัชนีระดับสากล อาทิ ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices-DJSI) ไม่ยาก
บริษัทมีจุดแข็งแกร่งหลายมิติ ทั้งโครงสร้างผู้ถือหุ้น แบรนด์ เครือข่าย และที่สำคัญโมเดลธุรกิจ บูรณาการอย่างไร้รอยต่อ คู่แข่งลอกเลียนแบบยากทั้งระยะสั้นและยาว ทำให้บริษัทมีศักยภาพพร้อมที่จะเติบโต เป็นแบรนด์ไทยชั้นนำระดับโลกที่สร้างคุณค่าให้กับชุมชนผ่านการดำเนินธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
ความสำเร็จวันนี้
บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก เป็นบริษัทแกนนํา (Flagship) ของกลุ่มธุรกิจน้ำมันและกลุ่มธุรกิจค้าปลีกของกลุ่ม ปตท. จึงได้รับการสนับสนุนจาก ปตท. และความร่วมมือภายในกลุ่มอย่างต่อเนื่อง โดยปตท. จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ต่อไป หลังจากบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ปตท. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ดีต่อ โออาร์ มาก เพราะเป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและมีอันดับความน่าเชื่อถือที่แข็งแกร่ง มีทีมผู้บริหารที่มีประสบการณ์สูง และมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและยาวนานกับคู่ค้าและผู้แทนจําหน่าย โออาร์ จึงสามารถใช้ประโยชน์จากปัจจัยสําคัญเหล่านี้สําหรับการดําเนินธุรกิจ ทั้งยังเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แหล่งเชื้อเพลิงที่น่าเชื่อถือจากโรงกลั่นภายในกลุ่ม ปตท. ซึ่งเป็นโรงกลั่นน้ำมันรายใหญ่ในประเทศไทย และยังมีความสัมพันธ์ที่ดีและยาวนานกับองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
ภายใต้แบรนด์ “PTT Station” กว่า 40 ปี แห่งความสำเร็จ เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในประเทศไทย และเป็นแบรนด์ที่สื่อถึงความน่าเชื่อถือ คุณภาพ และความสะดวกครบครันในที่เดียว โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความ “ยั่งยืน” ในการทำธุรกิจ อาศัยความรู้ ความเข้าใจถึงวิถีการใช้ชีวิต ความเป็นอยู่ของผู้คน และการเปลี่ยนแปลงของสังคม
บริษัทเป็นผู้นําในการจัดจําหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศไทยมานานกว่า 23 ปี ตั้งใจที่จะ “รวมพลัง ร่วมสร้าง เพื่อทุกวันที่ดีขึ้น” (Together for Betterment) ผ่านโมเดลธุรกิจที่เป็นเอกลักษณ์ ด้วยคอนเซปท์ “Retailing Beyond Fuel” ปรับพอรต์ฟอลิโอให้ก้าวไปไกลกว่าแค่ธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิงผ่านการผสานพลัง 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจน้ำมัน (Oil) กลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น ๆ (Non-Oil) กลุ่มธุรกิจต่างประเทศ สร้างแหล่งรายได้ที่หลากหลาย ช่วยกระจายความเสี่ยง และสามารถต่อยอดการเติบโตซึ่งกันและกันในแต่ละกลุ่มธุรกิจ
โออาร์ เติบโตเร็วมาก จากการขยายสาขาของทั้งกลุ่มธุรกิจน้ำมันและกลุ่มธุรกิจค้าปลีก พร้อมเพิ่มจำนวนสินค้า โดยเฉพาะเครื่องดื่มของ Café Amazon ที่ขายได้เพิ่มขึ้นกว่า 20% จากทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันมี 272 สาขาใน 10 ประเทศ เป็นอันดับที่ 1 ในประเทศกัมพูชา จากข้อมูลของ Euromonitor ณ สิ้นปี 2562 ร้าน Café Amazon เป็นแบรนด์ร้านกาแฟที่ใหญ่ที่สุดอันดับที่ 6 ของโลก เมื่อพิจารณาจากจํานวนสาขา และเป็นแบรนด์ร้านกาแฟทีใหญ่ที่สุดอันดับที่ 12 ของโลกเมื่อพิจารณาจากรายได้ สร้างความภาคภูมิใจในการสร้างแบรนด์กาแฟของไทยให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล
ขณะเดียวกันกลุ่มธุรกิจ Non-Oil นับได้ว่าเป็นดาวรุ่ง ส่งผลดีต่อกำไร เพราะมีอัตรากําไร (มาร์จิ้น) ที่สูงกว่าธุรกิจน้ำมัน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2560-2562) บริษัทมีกำไรสุทธิโตเฉลี่ย 5.6% มาอยู่มากกว่า 10,800 ล้านบาท และรายได้เติบโตเฉลี่ย 3.1% จากระดับกว่า 540,000 ล้านบาท ขึ้นมาเหนือ 570,000 ล้านบาท
ส่วนกลุ่มธุรกิจน้ำมัน โออาร์ เป็นผู้นําทั้งในตลาดค้าปลีกและในตลาดพาณิชย์ มีส่วนช่วยธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่นๆที่มีอัตรากำไรสูงและมีศักยภาพในการเติบโตสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากลูกค้า ชุมชน และคู่ค้า บริษัทมีสถานีบริการน้ำมันที่ครอบคลุมถึง 1,968 แห่งในทุกจังหวัดในประเทศไทย ผู้แทนจำหน่ายส่วนใหญ่ เป็นเจ้าของและดำเนินการเอง 82% และมากกว่า 60% ประกอบธุรกิจกับ โออาร์ มานานกว่า 10 ปี ความสัมพันธ์เหนียวแน่นเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนสําคัญที่ช่วยขยายธุรกิจไปยังจุดยุทธศาสตร์สําคัญๆ ทั่วประเทศไทยได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ทำให้ธุรกิจเติบโตไปพร้อมกับประเทศอย่างแข็งแกร่ง
โต แข็งแรงระยะยาว
“โออาร์” จะได้รับเงินจากการขายไอพีโอครั้งนี้ ประมาณ 41,079 – 53,209 ล้านบาท (หลังหักค่าใช้จ่าย) บริษัทมีแผนลงทุน 5 ปี (2563-2568) ภายใต้กลยุทธ์ 6 ด้าน เพื่อเพิ่มโอกาสให้นักลงทุนร่วม “เติบโตไปไกลขึ้น” กับโออาร์
กลยุทธ์ที่ 1 รักษาสถานะความเป็นผู้นําในตลาดน้ำมันในประเทศไทย จะใช้เงินจำนวน 13,300 ล้านบาท เพิ่มสถานีบริการน้ำมันเป็น 2,500 แห่ง หรือประมาณ 100 แห่งต่อปี เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุม พัฒนาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมระดับพรีเมียมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการใช้ประโยชน์จากระบบ Big Data Analytics สํารวจความต้องการของผู้บริโภคเพื่อนํามาสร้างแคมเปญ การตลาดที่ตรงใจกับผู้บริโภคได้เป็นรายบุคคล พัฒนาสถานีบริการน้ำมัน ตามแนวคิด Living Community โดยการคัดเลือกสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่ต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ได้อย่างลงตัว ให้เป็น One-stop Service ที่แท้จริง ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชนโดยรอบสถานีบริการ
ขณะเดียวกันจะยังคงแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น EV Charging Station ในสถานีบริการน้ำมัน
กลยุทธ์ที่ 2 มุ่งส่งเสริมการเติบโตของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่นๆ ในประเทศ โออาร์ มีความตั้งใจที่จะทําให้ Café Amazon เป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคนิยมและชื่นชอบมากที่สุดในประเทศไทย วางแผนขยายร้านไปนอกสถานีบริการน้ำมันและหาพันธมิตรทางธุรกิจ ตั้งเป้าเพิ่มอีกกว่า 2,100 ร้านภายในปี 2568 มุ่งเน้นการขยายธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) อย่างต่อเนื่อง และแสวงหาแบรนด์ใหม่ ปัจจุบันมีร้าน Texas Chicken จำนวน 73 สาขา จะเพิ่มอีกประมาณ 20 สาขาต่อปี และยังมีสิทธิขอรับสิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์ในประเทศไทย
กลยุทธ์ที่ 3 การใช้ประโยชน์จากความชำนาญ รูปแบบทางธุรกิจ แบรนด์ และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อขยายธุรกิจทั้งในระดับภูมิภาค และระดับโลก
กลยุทธ์ที่ 4 ขยายธุรกิจภายใต้แนวทาง Mobility Ecosystem และ Lifestyle Ecosystem สำหรับอนาคต
บริษัทปรับเปลี่ยนรูปแบบของสินค้าและบริการให้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ปัจจุบันมีสถานีบริการที่ให้บริการชาร์จไฟฟ้าให้แก่ยานยนต์ไฟฟ้าภายในสถานีบริการน้ำมันแล้วกว่า 25 แห่ง และมีแผนที่จะขยายเพิ่มอีก 4 แห่ง และมีแผนให้บริการซ่อมบํารุงแบบเบากับยานยนต์ไฟฟ้าที่ FIT Auto อีกด้วย เพื่อให้การบริการเป็นไปอย่างครบวงจร
นอกจากนี้จะมุ่งเน้นการตอบสนองและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภคแบบรายบุคคล ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกจากสมาชิกบัตร Blue Card ซึ่งมีจำนวนประมาณ 6.7 ล้านราย (ณ 30 กันยายน 2563) พร้อมเปิดกว้างสําหรับพันธมิตรทางธุรกิจที่จะเข้ามาร่วมกันพัฒนาขีดความสามารถในการตอบโจทย์ในด้าน Lifestyle Ecosystem
ล่าสุดได้ร่วมลงทุนผ่านบริษัทย่อย กับ Flash Incorporation ซึ่งเป็นผู้ให้บริการจัดส่งสินค้าในประเทศไทย เพื่อที่จะผสานประโยชน์ร่วมกัน ขยายธุรกิจให้รองรับธุรกิจ e-Commerce เพื่อให้ โออาร์ สามารถมอบประสบการณ์ offline-to-online ในการจัดส่งอาหารและเครื่องดื่มให้กับลูกค้าอย่างไร้รอยต่อ
เมื่อปลายปี 2563 ได้ร่วมลงทุนสัดส่วน 65% ใน Peaberry Thai ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจกาแฟอย่างครบวงจรและยังดําเนินธุรกิจร้านกาแฟภายใต้แบรนด์ “Pacamara” เข้าสู่ตลาดกาแฟมาตรฐานพิเศษ (Specialty Coffee) ที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา และยังจะช่วยให้ โออาร์ สามารถใช้ประโยชน์จากศักยภาพในการจัดหาวัตถุดิบเมล็ดกาแฟ premium และอุปกรณ์ รวมถึงการให้บริการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ของ Peaberry Thai
กลยุทธ์ที่ 5 เพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มความสามารถในการทำกำไร มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุน เช่น มีแผนสร้างโรงงาน เบเกอรี่ส่วนกลาง และโรงงานผงผสมเครื่องดื่มสำหรับ Café Amazon สามารถรักษาคุณภาพของสินค้า และลดค่าใช้จ่าย รวมถึงการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสินค้า
กลยุทธ์ที่ 6 มุ่งสร้างคุณค่าที่ดีขึ้น และการมีส่วนร่วมให้เกิดต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล ได้แก่ ประเทศชาติ สังคมชุมชน ลูกค้า คู่ค้า พนักงาน และผู้ถือหุ้น ซึ่งได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่ในการดำเนินธุรกิจของ โออาร์ จะสร้างการเติบโตร่วมกัน อย่างโปร่งใส มีธรรมาภิบาลที่ดี และใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสังคม
“โออาร์” มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก สร้างแบรนด์ไทยชั้นนำระดับโลก นักลงทุนพร้อมที่จะเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของด้วยกันแล้วหรือยัง