จ่อหลุด 1,500 จุด จังหวะซื้อหุ้น บล.บัวหลวงแจก 15 ตัวเจ๋ง

HoonSmart.com>>แรงขายถล่มหุ้นใหญ่ ดัชนีร่วง 9 จุด สถาบันทิ้งแรงต่อ 2,823 ล้านบาท แต่กลับซื้อ SET50 Index Futures +2,216 สัญญา สวนทางต่างชาติขายหุ้นเล็กน้อย บล.เอเซียพลัสคาดกองทุนไทย-ต่างประเทศเตรียมเงินซื้อ OR ประมาณ 3.08 หมื่นล้านบาท ช่วงสั้นแนะหลบภัยหุ้นปันผลเกิน 6% DCC-TVO-MCS บล.ฟินันเซียฯชอบ MAKRO-RBF-OSP-TACC รับ”เราชนะ” ดัชนีแถว 1,500 จุด มีโอกาสรีบาวด์เก็งกำไรได้ บล.บัวหลวงจัดงานใหญ่  17 บิ๊กบจ. พบ 123 นักลงทุน หลังโควิดจบ ‘สินค้าโภคภัณฑ์-เทคโนโลยี-เศรษฐกิจใหม่’ บูม ส่วนการบริโภคฟื้นปานกลาง เชียร์ซื้อ 15 หุ้น

 

ตลาดหุ้นวันแรกของสัปดาห์นี้ (18 ม.ค.2564) เจอขายตั้งแต่เปิดตามตลาดต่างประเทศ ทรุดลงไปต่ำสุดที่ 1,503.04 จุด ก่อนฟื้นมาปิดที่ 1,510.13 จุด ติดลบ 9 จุด หรือ -0.59% ด้วยมูลค่าการซื้อขายปานกลาง 74,438.29 ล้านบาท เกิดจากฝีมือสถาบันไทยทิ้ง 2,823 ล้านบาท แต่กลับซื้อ SET50 Index Futures +2,216 สัญญา สวนทางนักลงทุนต่างชาติที่ขายหนัก -6,177 สัญญา และซื้อหุ้นแค่ 134 ล้านบาท

แรงขายพุ่งเป้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ทรุดลงแรงกว่า 3% หลังจากขาดผู้นำ DELTA ลดลง 20 บาทหรือ -3.45% ปิดที่ 560 บาท มูลค่าซื้อขายเหลือเพียง 851 ล้านบาท และขายกลุ่มธนาคารติดลบกว่า 2% จากความกังวลผลกระทบจากโควิดระลอกใหม่รุนแรง กดเศรษฐกิจโลกลดลง และธปท.อาจจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ในการประชุมวันที่ 3 ก.พ.นี้

บล.เอเซีย พลัส มองแนวโน้มตลาดหุ้นว่า แม้ว่ายังได้แรงหนุนจากเงินทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่องตลอด 3 เดือนติดต่อกัน ( 4.1 หมื่นล้านบาท) โดยเดือน ม.ค. ซื้อสุทธิอีก 5.9 พันล้านบาท หนุนให้หุ้นใหญ่อย่าง SET50 Index เพิ่มขึ้น 5.2% มากกว่าดัชนีเพิ่มขึ้น 4.8% แต่การเข้ามา ของหุ้น IPO ขนาดใหญ่ อย่าง OR อาจทำให้หุ้นใน SET50 ชะลอการปรับตัวขึ้นบ้าง เนื่องจากนักลงทุนจะต้องปรับพอร์ต ขายหุ้นบางส่วน เพื่อเตรียมเงินไปจองซื้อหุ้น OR

“กองทุนไทยและต่างประเทศจะต้องเตรียมเงินซื้อ OR ประมาณ 3.08 หมื่นล้านบาท ( ณ ราคา 18 บาท) โดยแบ่งเป็นกองทุนประเภท Active Fund ที่ต้องเตรียมเงินจองซื้อตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 3 – 5 ก.พ. กว่า 2.93 หมื่นล้านบาท และกองทุน Passive Fund ในประเทศ เตรียมเงินช่วงเวลาใกล้ๆวันเข้าซื้อขายวันแรก 11 ก.พ.63 ราว 1.47 พันล้านบาท หากเปรียบเทียบกับข้อมูลในอดีต ก่อนมีหุ้นขนาดใหญ่ อย่าง AWC, CRC, SCGP ได้ Fast Track เข้า SET50 และ SET100 “บล.เอซียพลัส ระบุ

อย่างไรก็ตาม หุ้นขนาดใหญ่ชะลอการปรับขึ้นในช่วงนี้ แรงกดดันดังกล่าวไม่ได้ส่งผลต่อ Valuation ของหุ้น ถือเป็นโอกาสดีในการเข้าสะสมเพื่อหวังผลในระยะกลางถึงยาว

ส่วนกลยุทธ์ช่วงนี้ ระยะสั้นแนะหลบเข้าหุ้นปันผลสูง น่าจะผันผวนไม่มาก และปรับตัวได้ดีกว่าตลาด เช่น DCC คาดหวังปันผลได้ 8% ต่อปี, TVO คาดหวังปันผลได้ 6% ต่อปีและ MCS คาดหวังปันผลได้ 9% ต่อปี

สำหรับการจัดพอร์ตในสัปดาห์นี้(18 – 22 ม.ค.)คงน้ำหนักหุ้นไทยที่ 40 % เพิ่มพอร์ตหุ้นต่างประเทศอีก 5% เป็น 20% แม้ว่า หลายประเทศกลับมาล็อกดาวน์ โดยเฉพาะแถบยุโรป อาทิ อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ อิตาลี และอื่นๆ จึงทำให้ตลาดหุ้นโลกทรงตัวในกรอบเดิมและปรับตัวขึ้นเพียง 0.6%จากช่วงเดียวกันของเดือนก่อน แต่ยังเชื่อว่าเงินทุนยังมีทิศทางไหลเข้าตลาดหุ้นจากสภาพคล่องส่วนเกินที่ล้นระบบและอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำ

นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า แนวโน้มวันที่ 19 ม.ค. จะแกว่งตัว Sideways ถึงแนวรับสำคัญ 1,500 จุด มีโอกาสรีบาวด์ปรับขึ้นได้ ใช้เป็นโอกาสเก็งกำไรระยะสั้น แต่ถ้าหลุด 1,500 จุด ให้ใช้แนวรับที่ 1,480 จุด เป็นโอกาสในการเข้าทยอยสะสมหุ้น ส่วนแนวต้านให้ที่ 1,520-1,525 จุด แนะหุ้นที่ขึ้นช้ากว่าตลาด ในกลุ่มค้าปลีก กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ให้ MAKRO ,RBF ,OSP และTACC ซึ่งคาดว่าจะได้ผลบวกจากมาตรการ “เราชนะ”

ด้าน นายธนัทเทพ จันทรกานต์ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.บัวหลวง กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทฯได้จัดงานนักลงทุนสถาบันพบผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในงาน Thai Corporate Day ในลักษณะการประชุมแบบ Social distancing ผ่าน Virtual conference มีผู้บริหารบจ. จำนวน 17 บริษัทและนักลงทุนอีก 123 รายได้เข้าร่วมงาน ซึ่งผู้บริหารจากหลายบริษัทได้ให้มุมมองเกี่ยวกับการกลับมาเติบโตของธุรกิจ หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดลงในปี 2564 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ เทคโนโลยี และเศรษฐกิจใหม่ (e-commerce, อาหารทดแทนเนื้อสัตว์) ทิศทางบวกชัดเจนกว่า สำหรับกลุ่มบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคคาดว่าจะฟื้นตัวในระดับปานกลางและยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด

บล.บัวหลวงสรุปประเด็นสำคัญจากการเข้าร่วมงาน โดยแนะนำ”ซื้อ” ถึง 15 บริษัทยกเว้น  2 บริษัทคือ DELTA  แม้ว่าขับเคลื่อนธุรกิจไปพร้อมกับคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลง — ธุรกิจ EV, ศูนย์ข้อมูลและฮาร์ดแวร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ CPALL มุ่งเน้นกลยุทธ์ O2O การถือหุ้น 40% ใน Tesco Asia คือปัจจัยลบในระยะสั้น แต่เป็นผลบวกในระยะยาว ไม่มีความเสี่ยงเพิ่มทุน

ส่วนหุ้นที่แนะนำซื้อได้แก่ AMATA อุปสงค์คงค้างจำนวนมาก เล่นรับวัคซีน  BAM กำไรเติบโตจากการเร่งเก็บหนี้และขายทรัพย์สินรอการขาย BDMS  ปี 2564 ลูกค้าเพิ่มแข็งแกร่งและแนวโน้มขาขึ้นของอัตรากำไร CPF มีโอกาสอัพไซด์จากการซื้อธุรกิจหมูในประเทศจีน CRCเล่นรับการกลับสู่ภาวะปกติในช่วงครึ่งปีหลัง IP โตตามเทรนด์ธุรกิจเพื่อสุขภาพ โอกาสอัพไซด์การคาดการณ์กำไร

IVL อุปสงค์ดีขึ้น และการดำเนินงานกลับสู่ภาวะปกติ จะหนุนการเติบโตของกำไรหลัก  KEX เป็นผู้นำการเติบโตในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว MTC  แนวโน้มการเติบโตของกำไรแข็งแกร่ง ในปี 2564  NOBLE วางแผนธุรกิจเชิงรุก รวมทั้งการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ การถือหุ้นใน AMC จะหนุนการเติบโตของกำไร NRF  หุ้นเทคโนโลยีด้านอาหารที่เติบโตของประเทศไทย ตั้งเป้าเป็นผู้ผลิตอาหารจากพืชชั้นนำระดับโลก ภายในปี 2567

PTTGC อุปสงค์ฟื้นตัว และการขยายกำลังการผลิตจะหนุนการเติบโตของกำไรในปี 2564 SCGP การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตสร้างโอกาสเติบโตได้อีกมาก โอกาสอัพไซด์กำไรและมูลค่าหุ้นจากการเข้าซื้อกิจการในอนาคต SYNEX ได้รับประโยชน์สูงสุดจากยุคของ IOT และการเปลี่ยนอุปกรณ์เพื่อรองรับ 5G และ VGI  ก้าวผ่านวิกฤต และมีแรงหนุนจากความสามารถในการทำกำไรของบริษัทย่อยที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก