โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโส
ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย
ปี 2021 ผ่านมาครึ่งเดือน ตลาดหุ้นพุ่งขึ้นแทบทุกมุมโลกต่อเนื่องจากสภาวะร้อนแรงช่วงไตรมาสส่งท้ายปลายปีที่แล้ว
Blue Sweep นับตั้งแต่พรรคเดโมแครตได้ครองทำเนียบขาวและทั้ง 2 สภาของสหรัฐ หลังชนะเลือกตั้งวุฒิสมาชิกจอร์เจียในช่วงวีคแรก ตลาดก็คาดหวังว่ารัฐบาลใหม่ของว่าที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน จะออกมาตรการกระตุ้นขนาดใหญ่ได้สะดวกโยธิน มุมมองดังกล่าวหนุนตลาดหุ้นและแนวโน้มเงินเฟ้อ ส่งผลให้ยีลด์พันธบัตรสหรัฐอายุยาวพุ่งขึ้นจนเข้าใกล้จุดสูงสุด มี.ค. 2020 ณ ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
ยีลด์สูงสุดใน 10 เดือนดึงดูดความต้องการซื้อหนาแน่นในการประมูลพันธบัตร 2 รุ่น อายุประมาณ 10 ปี และ 30 ปี มูลค่ารวมกัน $62,000 ล้าน เงินเฟ้อพื้นฐาน (core CPI) ของสหรัฐเดือน ธ.ค. ขยายตัวช้าลง ยอดค้าปลีกหด 3 เดือนติด ล้วนส่งผลเบรกยีลด์ไว้ไม่ให้ขึ้นต่อก่อนย่อลงเล็กน้อย กดหุ้นสหรัฐพักฐานปลายสัปดาห์ แนวโน้มเงินเฟ้อและยีลด์พันธบัตร
น่าจะยังคงกำหนดทิศทางและ “ผู้นำ” ของตลาดหุ้นทั้งในแง่สไตล์ ขนาด ตลอดจนภูมิภาค/ประเทศ และสกุลเงิน
มุมมองเงินเฟ้อมีหลายแนว Jeff Gundlach กูรูลงทุนแถวหน้า มองระดับราคาสูงลิ่วของหุ้น ตั้งอยู่บนมาตรการกระตุ้นมหาศาลตลอดจนคำมั่นสัญญาของเฟดที่จะคงดอกเบี้ยต่ำใกล้ 0% เจ้าของฉายา “Bond King” ชี้การเปลี่ยนแปลงสินทรัพย์กลุ่มนำอาจมิใช่แค่เหตุการณ์ระยะสั้น อ้างความเห็นของ Charles Evans ประธานเฟดสาขาชิคาโก ซึ่งกล่าวเมื่อช่วงปีใหม่ว่า “ยิ่งเงินเฟ้อเกิน 2% มากเท่าไหร่ ตลาดจะยิ่งเข้าใจว่าเฟดเอาจริง (ในการกระตุ้นเงินเฟ้อ)” Gundlach คาดว่า CPI สหรัฐน่าแตะ 3% กลางปีซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนเกม …
ด้าน Joachim Fels ที่ปรึกษาเศรษฐกิจโลกของ Pimco มองระยะสั้นเงินเฟ้อต่ำเพราะว่างงานสูง ขณะตลาดสะท้อนความคาดหวังว่า “เงินเฟ้อจะสูงขึ้นมากในระยะยาว” เพราะธนาคารกลางพิมพ์เงินและรัฐบาลกระตุ้น แต่ “ขาใหญ่ตราสารหนี้” เชื่อว่าเงินเฟ้อระยะยาวจะสูงขึ้นมากได้จริงก็ต่อเมื่อบรรดารัฐบาลของประเทศต่างๆยังอัดมาตรการกระตุ้นต่อไปอีกแม้เศรษฐกิจฟื้นตัวดีแล้ว ***ซึ่งมิได้การันตีว่าจะเกิดขึ้น*** เพราะถ้าเศรษฐกิจฟื้นแล้วรัฐบาลไม่กระตุ้นต่อ (ควรเป็นเช่นนั้น) เงินเฟ้อก็คงไม่สูงมาก นอกจากนี้ “ความเสี่ยงเงินฝืด” (deflation risk) ยังไม่หายไปไหน ดังนั้น สิ่งที่แน่นอนกว่าเงินเฟ้อในความเห็นของ Fels คือ “ความไม่แน่นอนของแนวโน้มเงินเฟ้อระยะยาว” หากปัจจุบันสถานะลงทุนส่วนใหญ่เทไปทาง “เงินเฟ้อพุ่ง” ข้างเดียว ก็เป็นเรื่องที่เสี่ยงมาก
สัญญาณนโยบายล่าสุด ด้านการคลัง ไบเดนเผยข้อเสนอแพคเกจ $1.9 ล้านล้าน มุ่งฝ่าวิกฤตการณ์ด้านสุขภาพ ตลอดจนช่วยเหลือครัวเรือนและธุรกิจจนกว่าวัคซีนโควิดจะฉีดกันทั่วถึง ด้านการเงิน Jerome Powell ย้ำ “เฟดขึ้นดอกเบี้ยแน่แต่ไม่ใช่เร็วๆนี้” และถึงแม้อัตราว่างงานจะลดลงอีกในอนาคตก็ยังไม่จำเป็นต้องรีบขึ้นดอกเบี้ย นอกเสียจากเงินเฟ้อสูงหรือเกิดความไม่สมดุลในระดับที่สร้างปัญหาก็จะใช้เครื่องมือเข้าไปจัดการ อย่างไรก็ตาม ประธานเฟดผู้เคยช็อคโลกโดยกลับนโยบาย 180 องศาเมื่อ 2 ปีก่อนยังพูดแทงกั๊กไว้ด้วยว่า “เศรษฐกิจสหรัฐอาจฟื้นตัวเร็วกว่าที่คิด”
เราตระหนักถึงความเสี่ยงเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่อยากวิ่งเข้าใส่ reflation trades แบบสุดโต่ง อาทิ หุ้นกลุ่มที่งบดุลอ่อนแอหรืออ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจมากๆ สินทรัพย์ที่พึ่งพิงการพุ่งขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์/ดอลลาร์อ่อนค่า ฯลฯ เพราะถ้าเงินเฟ้อไม่มาตามนัดหรือ “คดีพลิก” กลับเป็นเงินฝืด สินทรัพย์สุดโต่งเหล่านี้คงไม่แคล้วโดนถล่มเละ!
ยืนยันกลยุทธ์ ตุนสภาพคล่องในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นเช่น KTSTPLUS ให้เพียงพอเพื่อเตรียมพร้อมรับโอกาสใหม่ๆ ส่วน 3 แนวรุกสำคัญยังคงใช้ KT-Ashares #ตัวท็อปแห่งทศวรรษใหม่, KT-CHINA #แชมป์ใหม่offshore, KT-WTAI #เป็นมากกว่าหุ้นเทค และยังมีอีก 2 กองทุนที่เพิ่งเริ่มเน้นเพื่อเติมความ “ใส่ใจราคา” เข้าไปในพอร์ต รับมือการปรับตัวสูงขึ้นของยีลด์พันธบัตร ซึ่งอาจกระตุ้นให้บรรดานักลงทุนในตลาด “ขายของแพง-ซื้อของถูก” กันมากขึ้นในปีนี้
KT-PIF #ม้ามืด2021 อสังหาฯปีที่แล้วแย่ คนส่วนใหญ่ยังเมินเพราะโควิดระบาดใหม่ เข้าข่าย “ม้ามืด” มีโอกาสสร้างเซอร์ไพรส์ใหญ่ระดับปรากฏการณ์ หากเงินจำนวนมหาศาลในตลาดตราสารหนี้เริ่มทนไม่ไหวกับผลตอบแทนต่ำสุดขั้ว แล้วพากันอพยพโถมกระหน่ำเข้าใส่ REITs & Property Funds ซึ่งยีลด์สูงกว่ามากแถมอนาคตการเติบโตสดใสขึ้นเพราะมีวัคซีน …ยีลด์สูงแปลว่า “ราคาถูก” น่าสะสมเพื่อเติมความหลากหลายในพอร์ต มีให้เลือกทั้ง “สะสมมูลค่า” และ “จ่ายเงินปันผล”
KT-JAPAN #ใส่ใจราคา หุ้นญี่ปุ่นน่าได้ประโยชน์จาก “มาตรการกระตุ้นของไบเดน” และ “ตลาดกังวลว่าเฟดจะลด QE” เพราะอาจส่งผลให้ยีลด์พันธบัตรสหรัฐปรับตัวขึ้นต่อและ ดอลลาร์แข็ง-เยนอ่อนค่า หุ้นขนาดเล็ก (small cap) ซึ่งกองทุนหลักเน้นก็ยังถูกมากเป็น laggard ล้าหลังหุ้นขนาดใหญ่และมักตกเป็นเป้า M&A แถมจุดเข้าน่าสนใจเพราะญี่ปุ่นเพิ่มความเข้มคุมโควิด ดังนั้นต่อไปพอจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงก็คงผ่อนคลายมาตรการ นอกจากนี้ เงินเยนเป็นหนึ่งในสกุลหลัก (major currencies) ที่ใช้กันทั่วโลก BOJ จึงพิมพ์ออกมาได้ไม่อั้น รัฐบาลญี่ปุ่นกู้ยืมดอกเบี้ยใกล้ 0% เอาไปใช้จ่ายสบายๆแจกกระจายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยสเกลใหญ่มหึมาไม่แพ้ยุโรปหรือสหรัฐ KT-JAPAN จึงเป็นการลงทุนในตลาดที่ไม่ขาดสตอรี่ดูแล้วมี upside ซื้อหาได้ ณ ราคาเบาๆในยุค new normal ซึ่งหุ้นหลายตลาดแพงขึ้นมาก
คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน