HoonSmart.com>>หุ้นไทยวิ่งตามเอเชีย-ยุโรป-สหรัฐ ดัชนีปิดแกร่ง 1,513 จุด คาดไบเดนกระตุ้นเศรษฐกิจรวดเร็ว เงินทุนไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ บล.เอเซียพลัสแนะเก็บ GULF-BGRIM-EA-PTT-PTTEP-DCC-AP หลีกเลี่ยง IVL-CPF-TU แรงไล่ซื้อไม่เต็มที่กลัวเข้าเกณฑ์แคชบาลานซ์ บล.ทิสโก้ คาด 8 ตัวเสี่ยงถูกขัง KCE เข้าคุกไปเรียบร้อยตาม DELTA
วันที่ 7 ม.ค. ตลาดหุ้นโลกกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทะลุ 1,500 จุด ยืนปิดที่ 1,513.78 จุด เพิ่มขึ้น 21.42 จุด คิดเป็น 1.44% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 121,326 ล้านบาท แรงซื้อมาจากสถาบันไทย 2,049 ล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ซื้อ 1,095.67 ล้านบาท และต่างชาติซื้อเพียง 144.97 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนไทยขาย 3,290.14 ล้านบาท
ตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวตามภูมิภาคเอเชียปรับตัวขึ้น 1% เช่นเดียวกับตลาดในยุโรป ดาวโจนส์ฟิวเจอร์สบวก จากความคาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯน่าจะทำได้เร็วขึ้น หลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้ครองเสียงทั้งสองสภาและราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นด้วย เป็นผลดีต่อกลุ่มหุ้นวัฎจักร ทั้งพลังงาน และธนาคาร
อย่างไรก็ตามแรงเก็งกำไรที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่เปิดศักราชใหม่ปีฉลู ส่งผลให้หุ้นหลายตัวมีความเสี่ยงที่จะติดเกณฑ์แคลบาลานซ์ ซึ่งนักลงทุนจะต้องวางเงินสด100 % ก่อนสั่งซื้อหุ้น จึงทำให้แรงไล่ซื้อหุ้นไม่แรงเท่าที่ควร ผสมการขายทำกำไร โดยบล.ทิสโก้คาดการณ์ว่าจะมีหุ้นมากถึง 8 บริษัทมีความเสี่ยงที่จะติดแคชบาลานซ์ในสัปดาห์ที่จะถึงนี้
ขณะที่บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE)เข้าเกณฑ์แคชบาลานซืไปเรียบร้อยแล้ว หลังจากนักลงทุนหันมาเก็งกำไรแทน บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ DELTA ที่ถูกขังมาตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค. ยาวถึง 26 ม.ค.นี้
นายภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส กล่าวว่า การเลือกตั้งวุฒิสภาสหรัฐ ในรัฐจอร์เจีย 2 ที่นั่ง หากไม่พลิกล็อก จะทำให้นาย โจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐครองเสียงทั้ง สภาบน และสภาล่าง ครองอำนาจในรัฐบาลสหรัฐเบ็ดเสร็จ หรือ “บลูเวฟ ” ทำให้การผลักดันนโยบายไม่สะดุด ส่งผลให้เงินทุนมีแนวโน้มไหลออก จากการหลีกเลี่ยงผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษี เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อน หนุนเงินเอเชียที่แข็งค่า เม็ดเงินลงทุนไหลเข้าตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศเอเซีย รวมถึงไทย ส่วนปัจจัยในประเทศคาดว่า กนง.จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% เหลือ 0.25^ ทำให้เม็ดเงินลงทุนจะไหลเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น
ส่วนหุ้นที่ได้ประโยชน์ ได้แก่กลุ่มพลังงานสะอาดยกให้ GULF ,BGRIM และ EA กลุ่มน้ำมันให้ PTT และPTTEP กลุ่มปันผลดีให้ DCC และ AP ให้ตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยของสหรัฐอยู่ในระดับต่ำอีกนาน
สำหรับหุ้นที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ CPF ,TU และ IVL เพราะมีโรงงานที่ประเทศสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบในระยะยาว หากมีการขึ้นภาษีนิติบุคคล
“นับตั้งแต่ต้นปีมีการเข้าลงทุนในหุ้นวัฎจักรมากขึ้น ทำให้ตลาดหุ้นไทยขึ้นแรง เพราะมีสัดส่วนของหุ้นพลังงานและการเงินจำนวนมาก ส่งผลให้กลุ่มพลังงาน ปรับขึ้น 6% กลุ่มการเงินและไฟแนนซ์ ปรับขึ้น 2% และกลุ่มพลังงานสะอาด ปรับขึ้น 1.6% แต่หุ้น IT กลับลดลง 1.7% ”
ด้านน.ส.นลินรัตน์ กิตติกำพลรัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า มีแรงเก็งกำไรกลุ่มพลังงานตามทิศทางราคาน้ำมันดิบ จากสมมติฐานว่าทุก 5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ที่ปรับขึ้น จะส่งต่อมูลค่าพื้นฐาน PTT ประมาณ 2-3 บาทต่อหุ้น และ PTTEP ประมาณ 10-12 บาทต่อหุ้น ซึ่งหุ้นในกลุ่มพลังงาน โรงกลั่นและปิโตรเคมี โรงไฟฟ้า ฝ่ายวิจัยฯ ให้น้ำหนักการลงทุนเท่ากับตลาด จากมูลค่าพื้นฐานที่มีโอกาสปรับขึ้นน้อย แต่สามารถใช้จังหวะตลาดย่อตัวปรับฐานในการเข้าลงทุนได้
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส คาดเป้าหมายดัชนีสิ้นปี 2564 อยู่ที่ 1,550 จุด และมีโอกาสขยับไปถึง 1,626 จุด บน P/E ระดับ 23.8 เท่า และ 25 เท่าตามลำดับ ตามการเติบโตของอัตราส่วนกำไรต่อหุ้น (EPS) ที่ 65.04 บาท กำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) รวม 7.19 แสนล้านบาท เติบโตประมาณ 38.1% จากปี 62 โดยมี Market Earning Yield Gap ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่นิยมใช้วัดความน่าสนใจของตลาดหุ้นเมื่อเทียบกับอัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตร อยู่ในระดับ 3.5-3.7%
แนวโน้มตลาดหุ้นไทยปีนี้ได้รับปัจจัยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ คาดเติบโต 4.1% ภาพรวมในระยะกลางและระยะยาวจะมีเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาในหลายช่องทาง อาทิ เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) แรงหนุนจากนโยบายผลักดันการขึ้นภาษีนิติบุคคล และค่าจ้างขั้นต่ำในสหรัฐฯ ส่วนการลงทุนทางอ้อม (ผ่านสินทรัพย์ทางการเงิน) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยทรงตัวในระดับต่ำ ช่วยให้เกิดการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินจากพันธบัตรมาสู่ตลาดหุ้นมากขึ้น รวมถึงเงินบาทที่ยังแข็งค่า หนุนให้เกิดกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น และสภาพคล่องล้นระบบรอที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น ถือเป็นตัวช่วยเพิ่มน้ำหนักในตลาดหุ้นอีกแรง
นอกจากนั้น นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยมาตลอดระยะเวลา 8-9 ปี มูลค่าเงินที่ออกไปสูงถึง 9 แสนล้านบาท แต่เพิ่งกลับเข้าซื้อหุ้นไทยเพียง 3 หมื่นล้าน จึงมีโอกาสที่เงินทุนต่างประเทศจะไหลเข้ามาอีก รวมถึงแรงหนุนจากนักลงทุนรายย่อย ที่มีการเปิดบัญชีใหม่กว่า 6.6 แสนบัญชี มากกว่าช่วงระยะเวลาปกติที่ 3 แสนบัญชีต่อปี และยังมีจำนวนการเคลื่อนไหวของบัญชีเพิ่มขึ้นด้วย” นายเทิดศักดิ์ กล่าว
นายเทิดศักดิ์ แนะนำลงทุนหุ้นขนาดใหญ่พื้นฐานแข็งแกร่ง และได้แรงหนุนจากเงินทุนไหลเข้า คือ PTT, KBANK, ADVANC, GULF และหุ้นปันผลสูง AP, DCC ในทางตรงกันข้ามหุ้นที่ขยับขึ้นมาแรงจนเกินมูลค่าทางพื้นฐาน อย่าง MAJOR, DELTA ต้องระมัดระวังในการซื้อขาย หรือเก็งกำไร