HoonSmart.com>> “เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง” จุดกระแสลงทุนในโกลบอลเฮลท์แคร์ ผ่านกองทุน K-GHEALTH เน้นธีมการลงทุนระยะยาวจากนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ก้าวกระโดด ด้านการรักษาอย่างตรงจุด หรือการแพทย์แม่นยำ การวิเคราะห์ต้นเหตุสาเหตุของโรคจากพันธุกรรมในแต่ละบุคคล การสร้างธุรกิจใหม่ๆ ที่สามารถตอบสนองกับพฤติกรรมของผู้บริโภค รูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ตอบโจทย์ New Normal และเทรนด์การเข้าถึงบริการสาธารณสุข ดูแลสุขภาพ และสังคมผู้สูงอายุ
“เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง” จัดงานสัมมนาหัวข้อ “Health is Wealth” โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์มานพ พิทักษ์ภากร หนึ่งในบุคลากรทางการแพทย์ของไทย ที่เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แม่นยำ มาอัพเดทความก้าวหน้าของวงการการแพทย์ ร่วมด้วยผู้จัดการกองทุนจาก JP Morgan Asset Management และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย
น.ส.ศิริพร สุวรรณการ Managing Director – Financial Advisory Head Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ประเทศไทยตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ หรือ Medical Hub ในปี 2568 การตั้งเป้านี้ หมายถึง ประเทศไทยมีศักยภาพในด้านองค์ความรู้ บุคคลากรและเทคโนโลยีที่พร้อมที่จะพัฒนาเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายนั้น หนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญคือการแพทย์แม่นยำ หรือ Precision Medicine ยิ่งไปกว่านั้น ความสำเร็จของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่จะมาเปลี่ยนสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นความหวังที่คนทั่วโลกสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ ส่งผลให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ และที่สำคัญนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นโอกาสดีให้กับการลงทุนในหมวดหมู่ของโกลบอลเฮลท์แคร์
ด้าน ศาสตราจารย์ นายแพทย์มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า ในแวดวงบริษัทด้านการแพทย์ ถือได้ว่าเป็นหนึ่งกลุ่มบริษัทที่มีงบประมาณด้านการวิจัยและการพัฒนา (Research and Development) มากที่สุด อย่างไรก็ตาม การอุบัติขึ้นของโรคโควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญให้บริษัทด้านการแพทย์ต้องใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีให้เกิดผลลัพธ์เป็นวัคซีนป้องกันอย่างเร็วที่สุด เช่นเดียวกัน จากเมื่อ 30 ปีก่อน ในปี 1991 มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งสนใจด้านการถอดรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจ เพราะคนยังไม่เข้าใจถึงความสำคัญ และจำเป็น อีกทั้งต้องใช้เวลายาวนานถึง 13 ปีในการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ 1 คน ใช้งบประมาณสูงถึง 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1 แสนล้านบาทไทย
อย่างไรก็ตาม องค์ความรู้ด้านการถอดรหัสพันธุกรรมนี้ ก่อให้เกิด 2 สิ่งใหม่ คือ 1. ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคและความเจ็บป่วยต่างๆ จากรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ 2. เทคโนโลยีที่ใช้ในการถอดรหัสพันธุกรรม ทำได้รวดเร็วมากขึ้น และ ราคาถูกลง อย่างมหาศาล ปัญหาใหญ่ของคนที่ป่วยเป็นโรคร้ายแรงคือใช้วิธีการรักษาแบบเดียวกันหมด ขึ้นอยู่กับว่าใครจะได้ผลมาก หรือน้อย แตกต่างกันไป แต่ในปัจจุบันมีองค์ประกอบที่จะช่วยให้การรักษาเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพกับผู้ป่วยทุกคน นั่นก็คือ การแพทย์แม่นยำที่นำองค์ความรู้ด้านการถอดรหัสพันธุกรรมมาใช้ในการรักษาโรค เพื่อที่จะได้รู้ว่าความผิดปกติเกิดขึ้นจากตรงไหน ควรใช้วิธีการรักษาอย่างไร เพื่อให้ผลการรักษาได้ผลดีที่สุด เพราะการแพทย์แม่นยำ มองว่าสาเหตุความเจ็บป่วย ความผิดปกติของร่างกายแต่ละคนแตกต่างกัน รวมไปถึงสามารถนำมาใช้ตรวจหาความเสี่ยงเพื่อป้องกันก่อนเกิดโรค เป็นต้น
“และที่คนทั่วโลกกำลังต้องตารอและเป็นกังวลก็คือสำหรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ถือว่าเป็นครั้งในแรกในวงการการแพทย์ที่ดึงเอานวัตกรรม องค์ความรู้ ทั้งหมดของโลกนี้นำมาทำงานร่วมกัน เห็นการพัฒนาที่เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ ใช้เวลาเพียง 8 เดือนในการพัฒนาวัคซีน มีคนได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกเรียบร้อยแล้ว มีวัคซีนที่อยู่ในกระบวนการทั้งหมด 140 ตัว และได้รับการอนุมัติแล้วจาก 2 บริษัท คือ Moderna และ Pfizer ซึ่งกำลังจะตามอีก 4-5 บริษัท โดยมีกำลังการผลิตในปี 2564 จาก 6 บริษัทนี้ สูงถึง 8 พันล้านโดส ครอบคลุมคนกว่า 50% ทั่วโลก สามารถหยุดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ ถ้ากระจายการเข้าถึงวัคซีนให้ดี และทำให้สามารถใช้ชีวิตกันได้อย่างปกติ”
ด้านนาย นิโคลัส วิลค็อกซ์ ผู้จัดการกองทุน JP Morgan Asset Management เปิดเผยว่า เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น ที่ผู้คนที่เกี่ยวข้องระดมสมองเพื่อให้การแพร่ระบาดจบลง ไม่ว่าจะเป็น เม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่ไหลเข้ามาลงทุนด้านสาธารณสุข ความพยายามที่จะป้องกันการแพร่ระบาด การคิดค้นวัคซีน การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการดำรงชีวิตจากนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม ด้านการแพทย์ที่มีการนำโทรเวชกรรม (Telemedicine) หรือ การนําเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยกันได้แบบ Real-time ทางไกลเกิดขึ้น
ทั้งหมดนี้ถือเป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง (Mega trend) และรูปแบบธุรกิจครั้งใหญ่ (Disruption) ที่เกิดขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การขยายบริการทางการแพทย์ไปสู่ประเทศกำลังพัฒนา ถือเป็นแรงหนุนที่สำคัญในระยะยาวต่อไป และถึงแม้ว่าแนวโน้มของการดูแลรักษาสุขภาพจะได้รับความนิยมมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ปฏิเสธได้ยากว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ทุกคนหันมาใส่ใจสุขภาพกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเติบโตมากขึ้น
นาย นิโคลัส กล่าวว่า ถ้ามองลึกลงไปในหมวดหมู่ของการดูแลรักษาสุขภาพ เรามองว่ามีอีกหลายหมวดหมู่ย่อยที่มีความแข็งแกร่งและราคายังไม่สูงมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็น บริษัทยาที่เป็นหุ้นขนาดใหญ่ บริษัทไบโอเทคโนโลยีที่เป็นหุ้นขนาดกลางและเล็ก ที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการควบรวมหรือการเข้าซื้อกิจการ
“สุดท้ายนี้ มองว่าเฮลท์แคร์ยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้ในอัตราที่ดี และยังคงมีนวัตกรรมที่จะปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการลงทุนในหุ้นกลุ่มธุรกิจเฮลท์แคร์ยังคงน่าสนใจและเป็นโอกาสในการเพิ่มผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวต่อไปได้” ผู้จัดการกองทุน JP Morgan Asset Management กล่าว
กองทุน K-GHEALTH เน้นลงทุนในหุ้นทางการแพทย์และการดูแลรักษาสุขภาพใน 4 กลุ่มหลัก ได้แก่
1.Pharma – ยา ที่สามารถรักษาได้อย่างตรงจุด เช่น บริษัท Roche ผู้ผลิตเครื่องตรวจวัดโรคจากเลือด โดยในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เครื่อง Cobus Pure สามารถตรวจได้ 1,440 ตัวอย่างภายใน 24 ชั่วโมง และ ผลตรวจ 1 เคสว่าติดหรือไม่ ใช้เวลา 3.5 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาอุปกรณ์ที่สามารถตรวจได้เร็วขึ้น ใช้เวลาเพียง 15-30 นาทีเท่านั้น ช่วยลดการแพร่ระบาดของโควิด 19 หรือ เครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเอง อย่าง Accu Check ปัจจุบันก็มีการพัฒนาให้เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน ซึ่งจะช่วยประมวลผลและดูแนวโน้มของระดับน้ำตาลในเลือด ส่งผลให้ผู้ป่วยประเมินได้ว่าควรจะดูแลรักษาสุขภาพอย่างไร เพื่อให้มีระดับน้ำตาลในเลือดที่เหมาะสม เป็นต้น บริษัท Novo Nordisk ที่มีความเชี่ยวชาญโรคเบาหวานโดยเฉพาะ กว่า 50% ของอินซูลินที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้มาจากบริษัทนี้ทั้งสิ้น ปัจจุบันพัฒนาให้อินซูลินอยู่ในรูปแบบเม็ดสะดวกกับผู้ป่วยมากขึ้น เป็นต้น
2.Biotech – การรักษาที่รักษาไปจนถึงระดับพันธุกรรม เช่น บริษัท AMGEN ที่เชี่ยวชาญในการรักษาโรคมะเร็งและโรคหัวใจ เช่น พัฒนายาที่ป้องกันการเกิดหัวใจล้มเหลว ด้วยการเข้าไปสร้างกล้ามเนื้อหัวใจเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ด้วยการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และ บริษัท Alexion เน้นรักษาโรคเฉพาะทาง หรือโรคหายาก เช่น โรคฟอสฟอรัสในเลือดต่ำ ซึ่งให้ผลดี
3.Medical Tech – เทคโนโลยีที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคเพื่อการรักษาที่ถูกต้องตรงจุด เช่น บริษัท Twist Bioscience เป็นผู้ผลิต DNA สังเคราะห์ ร่วมกับ Microsoft ในการจัดเก็บ DNA ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล
4.Healthcare Services – การเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขในราคาที่เหมาะสม เช่น ระบบประกันสุขภาพของบริษัท Centene และ บริษัท United Health Group มีบริษัทในเครือข่ายมาก รวมถึงแพทย์ผู้รักษาจำนวนมากเป็นต้น
กองทุน K-GHEALTH มีการจ่ายปันผลรวมแล้วทั้งสิ้น 8 ครั้ง เป็นเงิน 1.90 บาทต่อหน่วย โดยในรอบผลการดำเนินงาน 1 ปีที่ผ่านมา กองทุนมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) เฉลี่ยอยู่ที่ 3% ต่อปี และมีผลการดำเนินงานย้อนหลังรวมเงินปันผลทั้งหมดตั้งแต่จัดตั้งวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 อยู่ที่ 45.5% (ข้อมูล ณ วันที่ 2 ธ.ค. 63)
“การลงทุนที่จะได้ผลตอบแทนดีที่สุดคือการลงทุนระยะยาว มีการทุ่มงบประมาณในการพัฒนาทางการแพทย์ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม มีข้อจำกัดในด้านกฎเกณฑ์ต่างๆ จึงจำเป็นต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญการลงทุนในธุรกิจด้านการแพทย์ อย่าง JP Morgan สุดท้ายนี้ ธนาคารฯ เชื่อได้ว่าการลงทุนในโกลบอลเฮลท์แคร์เป็นโอกาสการลงทุนที่ดีในระยะยาวได้อย่างแน่นอน” น.ส.ศิริพร กล่าว