IPO บูมต่อปี 64 เตือนทำใจ “กำไร” ไม่มาก

HoonSmart.com>>ปี 2563 ถือว่าเป็นยุคทองของหุ้น IPO ปีหนึ่ง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งเจ้าของบริษัท ที่ปรึกษาทางการเงิน อันเดอร์ไรท์ และนักลงทุนต่างได้รับผลตอบแทนที่ดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการกำหนดราคาที่ให้ส่วนลดมากเป็นพิเศษ สำหรับบริษัทที่มีชื่อเสียงไม่ดังเปรี้ยงปร้างหรือพื้นฐานธุรกิจไม่โดดเด่นเท่าที่ควร เพื่อรับมือกับความผันผวนของตลาดในภาวะวิกฤตโควิด-19 สำหรับปี 2564 ทุกเสียงต่างฟันธงว่าภาวะตลาดหุ้นโดยรวมดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาแน่นอน สนับสนุนให้ตลาด IPO คึกคักต่อเนื่อง แต่จะสร้างกำไรให้กับนักลงทุนมากแค่ไหนยังต้องลุ้น…

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) รายงานภาวะการเสนอขายหุ้นให้ประชาชนครั้งแรก (IPO) ในปี 2563 ณ วันที่ 25 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีบริษัทที่เสนอขายหุ้น IPO ทั้งสิ้น 26 บริษัท มูลค่ารวมสูงถึง 159,421.63 ล้านบาท เติบโตกว่า 49.6% เมื่อเทียบกับทั้งปี 2562 ที่มีมูลค่าการเสนอขายรวม 106,586.73 ล้านบาท จากจำนวน 28 บริษัท

ในปี 2563 มีบริษัทที่ยื่นคำขอเสนอขายหุ้นจำนวน 35 ราย มากกว่าปีก่อนที่มีจำนวน 29 ราย ปัจจุบันมี 22 บริษัทที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาคำขออนุญาตฯ หรือได้รับอนุญาตแล้วแต่ยังไม่ได้เสนอขาย IPO

ขณะเดียวกัน มีบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จำนวน 14 บริษัท และเข้าตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ(mai) จำนวน 12 บริษัท ส่วนใหญ่ราคาปิดสิ้นปีสูงกว่าที่เสนอขาย IPO และหลายบริษัทให้ผลตอบแทนสูงกว่า 100% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริษัทตั้งราคาขายในภาวะตลาดไม่ดี ดัชนีทรุดตัวลงต่ำ รวมถึงกำไรได้รับผลกระทบจากช่วงล็อกดาวน์ประเทศและโควิดระบาดหนัก จึงต้องให้ราคาส่วนลดมากกว่าที่ผ่านมา แต่เมื่อภาวะตลาดกลับมาสดใส โดยเฉพาะในเดือนพ.ย.และธ.ค. ทำให้ราคาหุ้นทั้งกระดานปรับตัวขึ้น ส่วนปี 2564 ตลาดหุ้นที่ดีขึ้นตามเงินทุนต่างประเทศไหลเข้า และกำไรของบจ.ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ สามารถตั้งราคาขายที่สูงขึ้นได้ อาจจะทำให้นักลงทุนได้ผลตอบแทนไม่สูงนัก ยกเว้นว่าบริษัทมีจุดเด่นในเรื่องชื่อเสียงโด่งดัง หรือธุรกิจมีจุดเด่น พร้อมจะเติบโตมากในยุค”นิวนอร์มอล”

ก.ล.ต.พบประเด็นที่น่าสนใจในการเสนอขายหุ้น IPO ในปี 2563 คือ บริษัทที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับเวชภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และการบริการขนส่งสินค้าระดมทุนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีความสนใจในการดูแลสุขภาพ และมีความคุ้นชินกับการเลือกซื้อสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภคผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการในสินค้าหรือบริการ เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

“พงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล” กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) กสิกรไทย ในฐานะ 1 ใน 5 บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาด IPO คาดว่าจะดีต่อเนื่องในปี 2564 เริ่มตั้งแต่ต้นปี บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จะนำเสนอข้อมูลบริษัทให้แก่นักลงทุน (โรดโชว์) จะสนับสนุนให้ตลาด IPO มีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ บล.กสิกรไทยมีแผนจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯทั้งหมด 4 บริษัท ซึ่งเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ไม่น่าจะมีปัญหาหรือความเสี่ยงใดๆ

“วีณา เลิศนิมิตร” กรรมการ บล. ไทยพาณิชย์ ซึ่งประสบความสำเร็จในการนำบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) หรือ KEX เข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา เปิดเผยว่า หุ้น IPO ยังได้รับความสนใจต่อเนื่อง โดยมีแผนจะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ประมาณ 3-5 บริษัท โดยหนึ่งในนั้นมีบริษัทที่เป็นที่รู้จักอย่าง บริษัท โรจูคิส อินเตอร์เนชั่นแนล (KISS) ซึ่งอยู่ระหว่างการยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานก.ล.ต.ส่วนอีก1 บริษัทได้รับการอนุญาตเสนอขายแล้ว คือ บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง (SNNP)

ทั้งนี้จากกระแสการใช้ชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนเข้าสู่วิถีใหม่ (“นิวนอร์มอล”) ส่งผลให้ทิศทางของหุ้น IPO หลังจากนี้ มองว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมใหม่ (New Economy) มากขึ้น เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและแพลตฟอร์ม รวมถึงธุรกิจในอุตสาหกรรมรูปแบบเดิมที่มีความสามารถในการปรับตัวที่ดี อย่างไรก็ตามธุรกิจรูปแบบเดิมที่เป็นลูกค้าของบล.ไทยพาณิชย์ บางรายต้องเลื่อนแผนเข้าตลาดออกไปก่อน เพื่อปรับตัวของการเสนอขายหุ้น IPO

“ลูกค้าของเรากระจายอยู่ในหลายอุตสาหกรรม และมีขนาดทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 300 ล้านบาทขึ้นไป ตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยปี 2564 จะนำหุ้น 3 บริษัทเข้าซื้อขายได้แน่นอน แต่อีก 2 ตัวที่เหลือต้องรอประเมินความพร้อมอีกที ซึ่งถ้ายังไม่พร้อมก็อาจขยับไปเป็นปี 2565” วีณา กล่าว

“ประเสริฐ ตันตยาวิทย์” กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า หุ้น IPO ยังคงได้รับความสนใจต่อเนื่องในปี 2564 โดยบริษัทมีแผนที่จะนำบริษัทขนาดกลางเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ประมาณ 2-3 บริษัท ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจโรงพยาบาลเสริมความงามและศัลยกรรม ธุรกิจโลจิสติกส์และคลังสินค้า และธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง คาดว่าจะเห็นหุ้น IPO เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ 1 บริษัทในไตรมาส 1

ด้าน”รัฐชัย ธีระธนาวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม สายงานวาณิชธนกิจ-ด้านตลาดทุน บล. เคทีบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า หุ้น IPO คาดว่าจะสดใส และมีหุ้นขนาดใหญ่ของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จะเข้ามาช่วยสร้างความน่าสนใจด้วย เหมือนกับปีที่ผ่านมา หลังจากเริ่มคลายล็อกดาวน์ บริษัทต่างๆที่เตรียมพร้อมก็พากันเข้าระดม และมีประสิทธิภาพการดำเนินงานที่ดี

บล.เคทีบีฯ มีแผนจะนำบริษัทเข้าในตลาดหลักทรัพย์ฯประมาณ 2-3 บริษัท ทั้งในตลาด SET และ mai เป็นบริษัทขนาดกลางเป็นส่วนใหญ่ ประกอบธุรกิจสินค้าเกษตร และธุรกิจวิศวกรรมพลังงาน

“ เกณฑ์ในการใช้เลือกลูกค้า ต้องเป็นบริษัทที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี เป็นผู้นำของอุตสาหกรรมที่ทำอยู่ หรือเป็นธุรกิจที่ไม่เหมือนกับคนอื่น แต่เราไม่เจาะจงว่าจะเป็นอุตสาหกรรมใด ”รัฐชัย กล่าว