PACE ผ่าทางตัน!ขายตึกมหานครให้ “คิง เพาเวอร์” 1.4หมื่นล้าน

“เพซ ดีเวลลอปเมนท์” ขาย “ตึกมหานคร” ให้ “คิง พาวเวอร์” 1.4 หมื่นล้านบาท ใช้หนี้สิน พร้อมนำมาพัฒนาโครงการอสังหาฯ 4 โครงการ เดินหน้าหาพันธมิตรร่วมลงทุนโรงแรมเพื่อสุขภาพระดับ “ไฮเอนด์”ในคลับเฮ้าส์

เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2561 บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น หรือ PACE แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า บริษัทฯได้จำหน่ายทรัพย์สิน มูลค่ารวมไม่เกิน 14,000 ล้านบาท ให้แก่ บริษัท คิง เพาเวอร์ มหานคร
ประกอบด้วย 1.การจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัท เพซ โปรเจ็ค วัน (“PP1”) และบริษัท เพซ โปรเจ็ค ทรี (“PP3”) ได้แก่ ที่ดิน โรงแรม อาคารจุดชมวิว อาคารรีเทลคิวบ์ ปฏิมากรรม ภาพวาด ใบอนุญาตต่าง ๆ รวมถึงสัญญาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการประกอบธุรกิจของ PP1 (โรงแรม) และ PP3 (อาคารจุดชมวิวและ อาคารรีเทลคิวบ์) ในโครงการมหานคร คิดเป็นมูลค่ารวมไม่เกิน 12,617 ล้านบาท

และ2.การจำหน่ายที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมระหว่าง PP1 บริษัท เพซ โปรเจ็ค ทู (“PP2”) PP3 และ บริษัท เพซ เรียลเอสเตท (PRE) คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 183 ล้านบาท

ทั้งนี้ การเข้าทำรายการครั้งนี้ บริษัทฯ ได้รับค่าตอบแทนสำหรับการจัดหารบริหารและดำเนินการให้เกิดรายการ เป็นมูลค่า 1,200 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทฯจะเข้าซื้อหุ้นคืนจาก บริษัท อพอลโล เอเชีย สปริ้นท์ โฮลดิ้ง คอมปานี ลิมิเต็ด (อพอลโล) และโกลด์แมน แซคส์ อินเวสเมนท์ส โฮลดิ้งส์ (เอเชีย) ลิมิเต็ด (โกลด์แมน) ที่ถืออยู่ใน PP1 และ PP3 จำนวน 49% และ 48.7% ตามลำดับ คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งหมด 10,000 ล้านบาท (320 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ซึ่งทำให้เพซหมดภาระผูกพันต่อกันกับอพอลโลฯและ โกลด์แมนฯ

นายสรพจน์ เตชะไกรศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PACE กล่าวว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2561 บริษัทฯ ได้ดำเนินการขายสินทรัพย์บางส่วนในโครงการมหานคร ให้กับ บริษัท คิง เพาเวอร์ มหานคร คิดเป็นมูลค่า 14,000 ล้านบาท ตามมติของคณะกรรมการบริษัทที่อนุมัติเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2561 โดยแผนการจำหน่ายสินทรัพย์ในครั้งนี้เป็นไปตามแผนธุรกิจที่บริษัทฯ ได้ตั้งเป้าไว้ จากเดิมที่จะนำโครงการมหานครเข้ากองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ซึ่งการทำธุรกรรมในครั้งนี้ ทำให้บริษัทฯสามารถรับรู้รายได้ได้ทันที

สรพจน์ เตชะไกรศรี

บริษัทฯ จะนำกระแสเงินสดที่ได้จากธุรกรรมในครั้งนี้ รวมกับกระแสเงินสดจากการขายหุ้นเพิ่มทุนที่สำเร็จเมื่อเดือนก.พ.2561 มูลค่า 3,894 ล้านบาท มาเพื่อลดหนี้ โดยจะมีผลทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทแข็งแรงขึ้น นอกจากนี้ยังมีสภาพคล่องที่จะนำมาต่อยอดพัฒนาธุรกิจที่มีอยู่ให้สามารถเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพยั่งยืนและมั่นคงในระยะยาวต่อไป

นายสรพจน์ กล่าวว่า บริษัทฯ มีแผนที่จะนำกระแสเงินสดส่วนหนึ่งที่ได้จากการขายสินทรัพย์บางส่วนในโครงการมหานครมาใช้ในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายของบริษัทอีก 4 โครงการ มูลค่าโครงการทั้งหมดรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย

1.เดอะ ริทซ์-คาร์ลตัน เรสซิเดนเซส บางกอก มียอดแบ็คล็อค 3,280 ล้านบาท และห้องชุดที่รอขายอีกมูลค่าประมาณ 4,281 ล้านบาท

2. โครงการมหาสมุทร วิลล่า มียอดแบ็คล็อค 816 ล้านบาท และมีวิลล่ารอขายมูลค่าประมาณ 3,088 ล้านบาท

3.โครงการนิมิต หลังสวน มียอดขายแล้วกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นยอดแบ็คล็อคคิดเป็นมูลค่า 6,709 ล้านบาท และห้องชุดรอขายมูลค่าประมาณ 1,291 ล้านบาท

4.โครงการ วินด์เชลล์ นราธิวาส มียอดแบ็คล็อค 792 ล้านบาท และมีห้องชุดรอขายอีกมูลค่าประมาณ 2,208 ล้านบาท โดยทั้งโครงการนิมิต หลังสวน และ โครงการวินด์เชลล์ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและสามารถโอนและรับรู้รายได้ภายในปี 2562

โดยโครงการเดอะ ริทซ์-คาร์ลตัน เรสซิเดนเซส บางกอก และโครงการมหาสมุทร วิลล่า มีการทยอยโอนกรรมสิทธิ์แล้ว สามารถรับรู้รายได้ภายในปี 2561

นอกจากนี้ ในส่วนของโครงการมหาสมุทร คันทรี่ คลับ หัวหิน บริษัทฯ มีแผนที่จะหาพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อร่วมลงทุนและปรับรูปแบบ พร้อมเพิ่มฟีเจอร์ให้กับโครงการด้วยการเพิ่มจำนวนห้องพักเพื่อทำเป็นโรงแรมเพื่อสุขภาพแบบครบวงจรระดับไฮเอนด์ในคลับเฮ้าส์ (Health & Wellness) โดยปัจจุบัน โครงการมหาสมุทร คันทรี่ คลับ มีสมาชิกกว่า 200 สมาชิก

ขณะที่ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มแบรนด์ “ดีน แอนด์ เดลูก้า” เพซจะนำกระแสเงินสดอีกส่วนหนึ่งมาใช้ลงทุนขยายสาขาในประเทศสหรัฐอเมริกา ในคอนเซ็ปต์ใหม่ภายใต้ชื่อ DEAN & DELUCA xp ส่วนสาขาในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น เน้นขยายในรูปแบบคาเฟ่ โดยทั้งสองคอนเซ็ปต์นี้เป็นการลงทุนในรูปแบบร้านขนาดเล็ก ที่เน้นการลงทุนน้อยแต่ได้ประสิทธิผลมากขึ้น และเป็นรูปแบบที่ถูกออกแบบไว้ให้พร้อมขยายได้อย่างรวดเร็ว ภายในเวลาเดียวกันหากมีดีมานด์

“คอนเซ็ปต์ DEAN & DELUCA xp จะเริ่มที่มหานครนิวยอร์คเป็นแห่งแรก นอกเหนือจากนั้น ยังเน้นการขายสิทธิบัตรหรือแฟรนไชส์ ให้กับผู้ประกอบการในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันมีสาขาที่เป็นแฟรนไชส์ จำนวน 30 สาขา ใน 9 ประเทศ โดยเพซ เป็นเจ้าของกิจการในสหรัฐอเมริกา จำนวน 10 สาขา ในประเทศไทยจำนวน 11 สาขา และถือหุ้นร้อยละ 50 ในดีน แอนด์ เดลูก้าแบบคาเฟ่ที่ประเทศญี่ปุ่นจำนวน 17 สาขา ซึ่งในปี 2560 ดีน แอนด์ เดลูก้า สามารถทำรายได้ที่ 3,142 ล้านบาท และตั้งเป้าที่จะมีกำไรจากกระแสเงินสดภายในปี 2561”นายสรพจน์กล่าว