กองทุน ยังกอดหุ้น TMB แน่น ลุ้นควบรวม KTB

กองทุน กอดหุ้น TMB แน่น ยังหวังควบรวม KTB มั่นใจการออกมาตรการเว้นภาษีควบรวมธนาคาร เพื่อรองรับการควบรวมของสองแบงก์นี้

ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แห่งหนึ่ง เปิดเผยว่า แม้ว่าราคาหุ้นธนาคารทหารไทย (TMB) จะปรับลดลงต่อเนื่อง แต่ยังคงเป็นธนาคารที่ลงทุนที่สุดในกลุ่มธนาคาร เนื่องจากคาดว่าจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่รายได้จากการเป็นตัวแทนขายหน่วยลงทุนยังเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่จะมีการควบรวมกิจการกับธนาคารกรุงไทย (KTB) เพราะเชื่อว่า การที่กระทรวงการคลังออกมาตรการเพื่อสนับสนุนการควบรวมธนาคารพาณิชย์ไทย โดยมีกำหนดวันสิ้นสุดมาตรการชัดเจน น่าจะเป็นการออกมาเพื่อรองรับการควบรวมของธนาคารทั้งสองแห่งนี้

“แม้ว่าผู้บริหารทั้งสองธนาคารจะปฏิเสธการควบรวมกิจการ แต่เชื่อว่า การออกกฎหมายยกเว้นภาษีการควบรวมธนาคารจะต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน โดยเฉพาะมีการกำหนดวันครบกำหนดโครงการเอาไว้ แสดงว่า กระทรวงการคลังจะต้องมีอะไรในใจอยู่แล้ว” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.แห่งนี้กล่าว

ข้อมูลประกอบ

เมื่อวันที่ 17 เม.ย.2561 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการเพื่อสนับสนุนการควบรวมธนาคารพาณิชย์ไทย)

สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา คือ

1.กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์สำหรับผลประโยชน์ที่ได้จากการที่ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน

2.กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่ธนาคารพาณิชย์ สำหรับเงินได้พึงประเมิน รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นหรือเนื่องมาจากการที่ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าว ควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน

3.กำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่ธนาคารพาณิชย์ สำหรับมูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นหรือเนื่องมาจากการที่ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวโอนกิจการบางส่วนให้แก่กัน

4. กำหนดให้ยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุน หรือการเปลี่ยนแปลงหรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการควบเข้ากันหรือการรับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน แต่ไม่ใช่เป็น การซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม ให้แก่

4.1 ธนาคารพาณิชย์ไทยที่เกิดจากการควบรวมแล้วมีสินทรัพย์รวมเกินกว่า 4 ล้านล้านบาท สามารถหักรายจ่ายจากการควบรวมเป็นจำนวน 2 เท่า (100% ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง)
4.2 ธนาคารพาณิชย์ไทยที่เกิดจากการควบรวมแล้วมีสินทรัพย์รวมเกินกว่า 3 ล้านล้านบาท แต่ไม่เกิน 4 ล้านล้านบาท สามารถหักรายจ่ายจากการควบรวมเป็นจำนวน 1.75 เท่า (75% ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง)
4.3 ธนาคารพาณิชย์ไทยที่เกิดจากการควบรวมแล้วมีสินทรัพย์รวมเกินกว่า 2 ล้านล้านบาท แต่ไม่เกิน 3 ล้านล้านบาท สามารถหักรายจ่ายจากการควบรวมเป็นจำนวน 1.5 เท่า (50% ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง)
4.4 ธนาคารพาณิชย์ไทยที่เกิดจากการควบรวมแล้วมีสินทรัพย์รวมเกินกว่า 1 ล้านล้านบาท แต่ไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท สามารถหักรายจ่ายจากการควบรวมเป็นจำนวน 1.25 เท่า (25% ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง)

ทั้งนี้ รายจ่ายที่สามารถนำไปหักรายจ่ายได้จะต้องเป็นรายจ่ายตามที่กำหนด และเป็นรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตามความข้างต้นต้องจ่ายไปตั้งแต่วันที่ควบเข้ากันหรือรับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด