“ขจรศิษฐ์” & ไซมิส แอสเสท ชนะในความต่าง-ความชำนาญ

HoonSmart.com>>”ขจรศิษฐ์ &ไซมิส แอสเสท”  บริษัทอสังหาฯ ที่ชนะทุกวิกฤต จากความต่างเรื่องต้นทุน และความชำนาญงานก่อสร้าง รวมทั้งการบริหารโครงการด้วยเชนจ์โรงแรมดังจากต่างประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าให้ลูกค้า กลายเป็นจุดแข็งของ SA ชนะคู่แข่งด้วยราคาและทำเล ได้ไม่ยาก

ขจรศิษฐ์ สิ่งสรรเสริญ

หากเอ่ยชื่อ “ ขจรศิษฐ์ สิ่งสรรเสริญ” กับบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่  ฤทธา แทบจะแยกกันไม่ออกเลย เพราะ ขจรศิษฐ์ เป็น 1 ในผู้ให้กำเนิด ฤทธา เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ก่อนจะแยกตัวออกมาสร้างบริษัท ไซมิส แอสเสท (SA) บริษัท พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่มีอายุเพียง 10 ปี แต่เติบโตได้อีกยาวนาน ด้วยความชำนาญของ “ ขจรศิษฐ์ & ไซมิส แอสเสท “ ที่เขามุ่งมั่นการเติบโตมากกว่า ฤทธา  2 เท่า ทั้งรายได้ ยอดขาย ฯ

ทำไม !!! “ขจรศิษฐ์ “ ถึงกล้าที่จะตั้งเป้าสูงขนาดนั้น ในช่วงที่อสังหา ฯ ไม่ได้ร้อนแรงเหมือนหลายปีที่ผ่านมา  และทำไม SA ถึงยังยืนหนึ่ง ในการขายคอนโด บ้านโฮม ออฟฟิศสำนักงานได้ ท่ามกลางวิกฤต ที่เพื่อน ๆ ร่วมวงการ ต่างดิ้นหาโอกาส ในการก้าวข้ามวิกฤต

และทำไม !!!! ขจรศิษฐ์ & SA บริหารต้นทุนได้ต่ำกว่าอสังหา  ฯ รายอื่น ไม่มีความเสี่ยงจากโครงการที่มีในมือ

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่โชคช่วย แต่เป็นความแตกต่างและความชำนาญที่ “ขจรศิษฐ์ & SA “ มีเหนือคู่แข่ง นั่นเอง

… ขจรศิษฐ์ เด็กวิศวกรรมก่อสร้าง จากมช. (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ) ที่เริ่มต้นการทำงานในบริษัทต่างชาติ ก่อนต้้ง ฤทธา ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1 ล้านบาท ปัจจุบันรับงานมูลค่าหลายพันล้านบาท การออกมาตั้ง SA ด้วยทุนเริ่มต้น 10 ล้านบาท เงินลงทุน 300 ล้านบาท ขณะนี้ทุนขึ้นไปที่ 1,000 ล้านบาท  รายได้ 3 ปีที่ผ่านมา รวม 5 หมื่นล้านบาท กำไรเติบโตทุกปี

แม้ว่าเขาจะออกมาตั้ง SA แต่ยังคงถือหุ้นใน ฤทธาไว้เช่นเดิม 14 % รวมทั้งการได้พนักงาน วิศว มาร่วมงานใน SA ตั้งเป็นฝ่ายก่อสร้างอีกหน่วยงานหนึ่งของ  SA ด้วย

จากประสบการณ์งานก่อสร้างนี่เอง เป็นความได้เปรียบของ “ขจรศิษฐ์ ” ที่รู้และเข้าใจโครงสร้างงานวิศวกรรม การใช้เทคนิค-ออกแบบช่วยในการปรับปรุงเพื่อใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้เต็มที่

ความชำนาญที่เป็นจุดแข็งของ “ขจรศิษฐ์ & SA ” คือ การซื้ออาคาร-สิ่งปลูกสร้างมาพัฒนา ปรับปรุงก่อสร้างเอง เป็นจุดได้เปรียบเรื่องต้นทุนที่ต่ำกว่า 10-15 % เทียบกับคู่แข่ง เมื่อต้นทุนต่ำกว่า ย่อมได้เปรียบคู่แข่ง สามารถเสนอราคาขายได้ต่ำกว่าโครงการอื่นในพื้นที่เดียวกัน

การบริหารงานขายโครงการคอนโด ฯ ของ SA เน้นไว เงินดาวน์สูง ลูกค้าที่จองซื้อแทบไม่มีใครทิ้งเงินดาวน์ และปิดการโอนเกือบทั้งหมด ทำให้งานในมือหรือโครงการที่รอการขาย มีความเสี่ยงน้อยมาก ดังนั้นโครงการที่มีในมือร่วม 1 หมื่นล้านบาท ขณะนี้ สามารถบริหารงานขายไปได้อีก 2-3 ปี

ความแตกต่างโครงการคอนโดของ SA ที่นอกจากเป็นคอนโดพักอาศัยแล้ว การบริหารคอนโดโดยเชนจ์โรงแรมชื่อดัง เข้ามาร่วมด้วย เพราะลูกค้า SA ส่วนใหญ่จากคำบอกเล่าของ “ขจรศิษฐ์”  เป็นลูกค้าลงทุนระยะยาว การมีเชนจ์โรงแรมบริหาร เป็นการอัพเกรดสินค้าให้กับลูกค้า หรือสร้างมูลค่าให้กับสินทรัพย์ลูกค้านั่นเอง แต่ราคาเดิม

” จุดแข็งอีกอย่างของ SA คือ  การกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ โดยปรับนโยบายให้โครงการภายใต้การบริหารของ SA เป็นแบบผสมผสาน เกิดความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจ  กระจายฐานรายได้เพิ่มโดยมาจาก recurring income ในรูปแบบอสังหาฯเพื่อเช่าและบริการห้องพักในรูปแบบโรงแรม  โดยมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาทั้งหมด 1,018 ยูนิต มีราคาทุนที่ 4.16 พันล้านบาท

SA ยังมีแผนนำทรัพย์สินกิจการโรงแรมขายเข้ากอง REIT ในอนาคต  ทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดและกำไรพิเศษจากการขายสินทรัพย์เข้ามาเพิ่มเติม จากปัจจุบันอยู่ระหว่างการขายโครงการ 11 โครงการ มูลค่ารวม 3.84 หมื่นล้านบาท

ไม่นับรวมเตรียมผุดโครงการใหม่ ในปี 64 จำนวน 4 โครงการ มูลค่า 1.06 หมื่นล้านบาท เป็นคอนโด 2 โครงการ มูลค่าประมาณ 6 พันล้านบาท  และจะมีการกระจายพอร์ตไปสู่แนวราบ 2 โครงการเจาะกลุ่มกลาง-บน มูลค่าประมาณ 4.7 พันล้านบาท แถวพุธมณฑล และรามอินทรา-เอกมัย

เป้าหมายเมื่อเข้าเป็น บจ.ทำให้ต้นทุนทางการเงินลดลง ฐานะทางการเงินแข็งแกร่งขึ้น สิ้นสุด ไตรมาส 3/63  SA มีหนี้สินต่อทุน 1.6 เท่า  คาดว่า จะลดเหลือประมาณ 1 เท่า  ทำให้ต่อจากนี้สามารถจัดหาเงินทุนต้นทุนต่ำกว่าเดิมมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ

อีกความน่าสนใจคือ ศักยภาพในการจ่ายเงินปันผล จากกำไรสะสมที่มีราว 800 ล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 3/63 และคาดว่าจะแตะระดับ 1,000 ล้านบาท ในงวดสิ้นปีนี้  ที่ไม่ได้แจกออกเหมือน บจ.อื่น ๆ ที่มักจะทำก่อนเข้าตลาด -นโยบายจ่ายปันผลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิ

ขณะที่ผลการดำเนินงาน ช่วง 3 ที่ผ่านมา เติบโตได้ดีต่อเนื่อง ยอดขายขยายตัวราว 44% ต่อปี แต่กำไรเติบโตเฉลี่ย 143% ต่อปี นับตั้งแต่ปี 60-62  คาดว่ากำไรจะเติบโตเฉลี่ย 22% ต่อปี ต่อไปอีก 3 ปีข้างหน้า ในส่วนของกำไรขั้นต้นทำได้ดีมาก จาก 29% ในปี 60 เพิ่มขึ้นมาเป็น 41.7% .ในปี 62 จากการเติบโตของการการขายอสังหาฯ และความสามารถในการประหยัดต่อขนาด

สุดท้าย มี Backlog ในมือ 9.44 พันล้านบาท จะรับรู้รายได้ในปี 63-64-65  (โดยสัดส่วนรายได้ 50% จากแบ็คล็อคดังกล่าวจะรับรู้ในปี 65 ซึ่งจะทำให้ปีนั้นเติบโตแบบก้าวกระโดด)

ไตรมาส 4/63 จะเติบโตโดดเด่นที่สุดของปีนี้ โดยสิ้นไตรมาส 3/63 มี  Backlog รอส่งมอบในไตรมาส 4/63  มูลค่า 1.13 พันล้านบาท  จากการโอนต่อเนื่องของ 2 โครงการใหม่คือ Siamese Sukhumvit 48 และ Siamese Exclusive 42 เข้ามาเต็มไตรมาส โดยได้เริ่มส่งมอบแล้วตั้งแต่ไตรมาส 3 ที่ผ่านมา และมีอีกโครงการคือ Siamese Sukhumvit 87 มีกำหนดส่งมอบ พ.ย.นี้ ทำให้คาดว่าจะมียอดบันทึกรายได้จากการขายอสังหาฯในไตรมาส 4 สูงถึง 1.9 พันล้านบาท

ประเมินว่าผลการดำเนินงานในปี 63 นี้จะมีรายได้แตะ 3.86 พันล้านบาท กำไรจะพุ่งแตะมากกว่า 500 ล้านบาท แม้ว่า 9 เดือนที่ผ่านมา จะมีกำไร 195 ล้านบาท  โดยรับแรงหนุนมาจากยอดขาย-โอนในไตรมาส 4/63

ปี 64 ประเมินว่า จะมีรายได้จากการขายอสังหาราว 5,000 พันล้านบาท จากปัจจุบันที่มี Backlog รออยู่แล้ว 3.1 พันล้านบาท และจะมีการเปิดโครงการใหม่เพิ่มเติม