IND หุ้นรับเหมาฯ ที่ไม่ธรรมดา เทรด 22 ธ.ค.โอกาสดี ธุรกิจกำลังขึ้น

HoonSmart.com>>บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป (IND) พร้อมที่จะนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) ในวันอังคารที่ 22 ธ.ค.2563 นี้ ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง โดย IND เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่มีจุดแข็ง และมีจุดเด่นชัดเจน บริษัทเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 90 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1.10 บาท จากราคาพาร์หุ้นละ 0.50 บาท ในภาวะธุรกิจโดยรวมยังคงอ่อนแอ จากปัจจัยแวดล้อม อาทิ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คาดว่าในปี 2564 จะพลิกฟื้นขึ้นมาได้ จึงเป็นโอกาสทองของนักลงทุน…

ดร.ชัยณรงค์ ณ ลำพูน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทอินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป (IND) ให้สัมภาษณ์ว่า บริษัทเปิดดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2526 มีจุดแข็งที่มีประสบการณ์ถึง 37 ปี มีความเชี่ยวชาญงานที่ปรึกษาทางด้านวิศวกรรมก่อสร้างอันดับต้นๆของประเทศ ปัจจุบันให้บริการ ด้านงานสำรวจและศึกษาความเหมาะสมของโครงการ งานออกแบบเบื้องต้นและออกแบบรายละเอียด งานควบคุมการก่อสร้างและงานบริหารโครงการ และงานออกแบบพร้อมก่อสร้าง

บริษัทจึงมีส่วนร่วมในโครงการลงทุนระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน ขณะเดียวกันยังมีฐานลูกค้ากระจายในหลายอุตสาหกรรม เช่น น้ำมันและก๊าซ สนามบิน รถไฟฟ้า ถนนและทางพิเศษ อาคาร ระบบชลประทาน

นอกจากนี้ยังได้ขยายธุรกิจออกไปในประเทศเพื่อนบ้าน บริษัทได้ออกแบบ ควบคุมงานสร้างถนนในเมียนมา กัมพูชา และสปป.ลาว (ถนนหมายเลข 120012 หรือ R-12)

 

ดร.ชัยณรงค์ ณ ลำพูน

” บริษัทอินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนลฯ เป็น model contractor แม้ว่าจะเปิดดำเนินงานมานานถึง 37 ปีแล้วก็ตาม แต่กลยุทธ์การทำธุรกิจของเรา ทันสมัย  ไม่ทุ่มเงินลงทุนในเครื่องมือ อุปกรณ์ เช่น รถขุด ไม่จ้างคนที่มีความชำนาญบางด้าน แต่อาศัยการมีพาร์ทเนอร์ ที่เก่งเฉพาะด้าน ชักชวนมาร่วมประมูลงาน  เราสามารถขอยืมตัวคนเก่งๆ มาจากบริษัทอื่น ภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น สัญญา 66 เดือน บริษัทลงทุนเฉพาะสิ่งที่จำเป็น ให้ความสำคัญกับระบบเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานมากยิ่งขึ้น”

ดังนั้นเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 99 ล้านบาท เงินส่วนหนึ่งจะนำไปใช้ในการลงทุนในระบบคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และซอฟต์แวร์ อาทิ ซอฟต์แวร์ด้านการบริหารโครงการ โปรแกรมด้านวิศวกรรม งานออกแบบสถาปัตยกรรม และงานออกแบบต่าง ๆ อย่างครบวงจร   ส่วนที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน  เพื่อเพิ่มโอกาสในการรับงานโครงการขนาดใหญ่

ส่วนเรื่องการบริหารงาน ผมเคยร่วมทำงานกับบริษัทต่างประเทศ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ได้ประสบการณ์มามาก เช่น การออกแบบ ให้ความสำคัญกับหลักการ ในช่วงแรกยังไม่ต้องลงรายละเอียด เพราะโครงการขนาดใหญ่ต้องใช้เวลาก่อสร้างนานหลายปี  ผู้รับเหมาก่อสร้างรับผิดชอบทำรายละเอียดต่อ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการออกแบบ และเก็บข้อมูล เพิ่มประสิทธิในการบริการได้มากขึ้น

นอกจากนี้บริษัทมีนโยบายจัดหาพันธมิตรทางธุรกิจ ที่มีผลงานและประสบการณ์ เพื่อเพิ่มความสามารถในการรับงานอย่างต่อเนื่อง  รวมถึงโครงการที่มีขนาดใหญ่ขึ้น  โดยร่วมมือกับคู่แข่งในการประมูลงาน  ซึ่งบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่ประกอบธุรกิจวิศวกรรมที่ปรึกษา ใกล้เคียงกับธุรกิจของบริษัท  คือ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ (TEAMG) ก็ร่วมมือกันได้   เพราะในการประมูลงานแต่ละโครงการ มีการนับคะแนนจากหลายด้าน เช่น ด้านเทคนิคและด้านบุคคลากร  หากบริษัทไม่พร้อมในด้านใด ก็ต้องดึงพันธมิตรเข้ามาร่วมประมูลด้วย

อย่างไรก็ตาม หากงานใดได้อัตรากำไรขั้นต้นต่ำ ก็ไม่เข้าร่วมประมูล เพราะไม่คุ้ม และที่ผ่านมา บริษัทไม่เคยถูกปรับ เรื่องการทำงานล่าช้ากว่าที่กำหนด  มีบ้างที่งานช้าแต่เกิดจากการปรับปรุงแก้ไขของผู้ว่าจ้าง

“ดร.ชัยณรงค์” ได้ยกตัวอย่างผลงานที่ผ่านมา เช่น บริษัทได้ร่วมงานออกแบบคุมงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินตั้งแต่โครงการแรก เส้นหัวลำโพง-บางซื่อ ผ่านมา 10 ปี ได้ส่วนต่อขยายระยะที่ 2 จากสถานีเตาปูน รวมถึงการมีส่วนร่วมในการสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นระยะเวลาถึง 8 ปี ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต งานควบคุมการก่อสร้าง โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เขาชะโงก จังหวัดนครนายก งานออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างคลังน้ำมันเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) ออกแบบพร้อมก่อสร้างคลังน้ำมันพิจิตร คลังน้ำมันลำปาง ของบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ  ถนนวงแหวนอุตสาหกรรม-สะพานภูมิพล และศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ  ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐

ทั้งนี้  ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 บริษัทมีงานที่ยังไม่ส่งมอบ (Backlog) ประมาณ 530 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ภายในระยะเวลา 2 ปี ส่วนใหญ่ประมาณ 80% จะรับรู้ในปี 2564 และคาดว่าในปีหน้าจะมีงานใหม่ออกมาประมูลมากขึ้น และเมื่อบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ภาพลักษณ์ดีขึ้น และต้นทุนทางการเงินลดลง ก็มีโอกาสได้งานที่ใหญ่ขึ้น

แนวโน้มในปี 2564 คาดว่าธุรกิจจะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ คือมีรายได้มากกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี  ขณะที่ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเตรียมตัวเข้าจดทะเบียนเหมือนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้อัตรากำไรขั้นต้น และอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 17% และ 4-5 % ตามลำดับ  ดังนั้นการขายหุ้น IND ในราคา 1.10 บาท ที่ระดับ P/E  สูง 34.25 เท่า ก็จะลดลง  นอกจากนี้บริษัทยังมองหาโอกาสลงทุนในธุรกิจใหม่  และมีการสืบทอดกิจการสู่รุ่นถัดไป  เพื่อให้บริษัทเจริญเติบโตอย่างมั่งคงและยั่งยืน