CIMBT เพิ่มบริการ ‘เวลท์ ‘ รับตึ๊งหุ้นกู้ หมุนลงทุนอีกรอบ

HoonSmart.com>>ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย บุกธุรกิจ”เวลท์” ปี 64 เพิ่มบริการเชิงรุก มุ่งเน้นดิจิทัล หวังค่าธรรมเนียมโต 25% ขยายฐานลูกค้า9.6 หมื่นราย จากปัจจุบันมีจำนวน 8.7 หมื่นราย เอาใจลูกค้าปัจจุบันให้มาใช้บริการมากยิ่งขึ้น

ดุษณี เกลียวปฎินนท์

น.ส.ดุษณี เกลียวปฎินนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์การออมและกลยุทธ์ลูกค้าบุคคลธนกิจ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) แถลงแผนงานธุรกิจ Wealth Management ในปี 2564 ธนาคารจะเน้นยุทธศาสตร์ของการให้บริการเชิงรุก มุ่งเน้นดิจิทัล ประยุกต์ใช้งานข้อมูลให้เต็มศักยภาพ นำเสนอบริการที่หลากหลาย ข้ามกลุ่มผลิตภัณฑ์ ตอบสนองความต้องการส่วนบุคคล เพื่อก้าวสู่การ Bank of Choice

ธนาคารมุ่งเน้นดิจิทัล เพื่อเพิ่มความสะดวก ง่าย ลงทุนจากที่ใดก็ได้  จากการเปิดตัวบริการซื้อหุ้นกู้ผ่านแอปพลิเคชั่นหลัก CIMB THAI Digital Banking กลางปี 2563 ที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับจากลูกค้าดีมาก ปรับตัวไว มียอดจองซื้อหุ้นกู้ผ่านแอปแตะ 1,000 ล้านบาท ในเวลาอันสั้น ปัจจุบันลูกค้าสามารถซื้อประกันได้ รับคำปรึกษาการลงทุนได้ด้วย

ส่วนบริการใหม่ที่พัฒนาต่อเนื่องและพร้อมให้บริการในปี 2564 คือระบบ Order Management System ลูกค้าสามารถซื้อกองทุนรวมได้ทั้ง 8 บลจ.ที่ธนาคารจับมือ ผ่านทุกช่องทาง ธนาคารยังมีแอป may Preferred ที่ลูกค้า CIMB Preferred เลือกรับสิทธิประโยชน์ที่ไม่แพ้ตลาด เช่น การให้อัตราดอกเบี้ยพิเศษทั้งเงินฝากและเงินกู้ เพิ่มเครื่องมือช่วยจัดพอร์ต และสุดท้าย myWealth ให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามและนำเสนอการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน บริษัทจะให้บริการเชิงลึก เพิ่มบริการใหม่ในปี 2564 เช่น Smart/Robo Advisory สามารถให้คำปรึกษาและตรวจสอบข้อมูลได้รวดเร็ว

สำหรับลูกค้า เวลท์ เพื่อเพิ่มการตอบสนองความต้องการส่วนบุคคลมากขึ้นและสื่อสารตรงจุด ธนาคารได้จัดกลุ่มลูกค้า Preferred ที่มีมูลค่าทรัพย์สิน (AUM) 3-29.99 ล้านบาท และลูกค้า Private Wealth ที่มี AUM ตั้งแต่ 30 ล้านขึ้นไป

ในปี 2564 ตั้งเป้าที่จะเพิ่มค่าธรรมเนียมจากธุรกิจนี้ 25% และเพิ่มฐานลูกค้าเวลท์เป็น 9.6 หมื่นราย จากปัจจุบันมีจำนวน 8.7 หมื่นราย โดยให้ความสำคัญกับลูกค้าที่มีอยู่ มากกว่าที่จะเร่งหาเพิ่มขึ้น ลูกค้าใหม่คงไม่เพิ่มมากถึงเดือนละ 1,200 คน เหมือนที่ผ่านมา จะขอเพิ่มเพียงเดือนละ 500 คน ก็เพียงพอ เพื่อที่จะให้บริการใกล้ชิดและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยยอมรับลูกค้าที่มีอยู่ใช้บริการจากธนาคารหลายแห่ง เป็นส่วนของ CIMBT ประมาณ 20% ก็จะต้องให้มาใช้กับธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มากขึ้น

นอกจากนี้ประมาณต้นปี 2564 ธนาคารจะให้บริการ Wealth Credit Limit (WCL) ลูกค้าสามารถนำหุ้นกู้ พันธบัตรและตราสารทางการเงิน มาวางเป็นหลักประกันมาขอใช้สินเชื่อเพื่อนำเงินไปลงทุนต่อได้ แต่ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด เช่น อัตราดอกเบี้ย และวงเงินที่จะได้รับประมาณ 50-85%  คาดว่าจะขึ้นอยู่กับอันดับเครดิตของตราสารทางการเงิน แต่ธนาคารยังไม่รับกองทุนเป็นหลักประกัน เพราะมูลค่ามีความผันผวนสูง บริการนี้จะตอบโจทย์ลูกค้าที่ลงทุนในตราสารการเงินในระยะยาว สามารถมาเอาเงินใหม่ไปลงทุนต่อยอดได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น

“การลงทุนมีความเสี่ยง แต่การไม่ลงทุนกลับมีความเสี่ยงกว่า แต่จะลงทุนให้ได้ผลตอบแทนตามเป้าหมาย ต้องจัด Aseet Allocation ซึ่งเราอัปเดทให้ทุกไตรมาส และอัปเดมทันที เมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญ ด้วยโลกทัศน์การลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป บริการและความเชี่ยวชาญที่ใส่ผ่านแอปมีความสำคัญ เราจึงให้บริการเชิงลึก เพื่อเข้าถึงและเข้าใจความต้องการของลูกค้า เรามีการพาลูกค้าขยับไปลงทุนต่างประเทศด้วยเครือข่ายแข็งแกร่งของกลุ่มซีไอเอ็มบี และแนะนำการลงทุนข้ามผลิตภัณฑ์ด้วย การมีบอนด์ คัสโตเดี้ยน พร้อมรับฝากดูแลพอร์ตหุ้นกู้ให้กับลูกค้าด้วย” น.ส.ดุษณี กล่าว