SCB ยันลดค่าฟีโมบายแบงก์กิ้ง กระทบรายได้แค่1พันล้าน เดินหน้าปิดสาขา 200 แห่ง มั่นใจลดค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้ที่หายไป พร้อมเกาะติดหนี้ PACE ยันยังทำธุรกิจได้ตามปกติ ไม่เป็นหนี้เสีย
นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB เปิดเผยว่า การยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโมบายแบงก์กิ้ง จะมีผลกระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารไม่ถึง 5% ของรายได้ที่ได้จากค่าธรรมเนียมและบริการ หรือคิดเป็นเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งในปีที่แล้ว SCB มีรายได้จากค่าธรรมเนียมฯ 3.68 หมื่นล้านบาท และหากในปีนี้ ธนาคารสามารถลดสาขาได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 200 สาขา ก็จะลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้มากกว่ารายได้ค่าธรรมเนียมที่หายไป
“แม้ว่าค่าธรรมเนียมจะหายไป แต่ค่าใช้จ่ายของเราก็หายไปด้วย และถ้าเราลดสาขาได้ตามแผน คือ ปีนี้ 200 สาขา ก็จะลดค่าใช้จ่ายได้มากกว่ารายได้ที่หายไป โดยปัจจุบันต้นทุนการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านธนาคารสาขา จะสูงกว่าต้นทุนการทำธุรกิจกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือ 40-50 เท่า ซึ่งในปีนี้ธนาคารคาดว่าจะมีลูกค้ามาใช้บริการผ่านมือถือเพิ่มขึ้นเป็น 8 ล้านราย จากเดิมที่มี 6 ล้านราย และในปี 2563 ทางธนาคารตั้งเป้าหมายลดต้นทุนการให้บริการทางเงินของธนาคารลงให้ได้ 30%”นายอาทิตย์กล่าว
นายอาทิตย์ กล่าวว่า ในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี ทางธนาคารไม่มีแผนเออร์รีไทร์พนักงาน แต่จะใช้วิธีปรับเปลี่ยนหน้าที่ของพนักงานในสาขาที่ปิดลง ให้ไปทำงานในส่วนงานที่เกี่ยวกับธุรกิจ SMEs และรายย่อย โดยพนักงานเหล่านี้จะถูกนำไปเทรนด์ที่ศูนย์อบรมของธนาคารก่อนเข้าไปทำหน้าที่ใหม่ ขณะที่ในแต่ละปีจะพนักงานของธนาคารเกษียณอายุและลาออกตามปกติประมาณ 2,000 คนต่อปี ซึ่งในส่วนนี้ธนาคารจะไม่รับพนักงานเข้ามาทดแทนเต็มจำนวน แต่อาจจะรับเพิ่มเพียง 200 คนเท่านั้น และคนที่รับเข้ามาใหม่จะเข้าไปทำงานในส่วนของอีแบงก์กิ้ง
นายอาทิตย์ กล่าวว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมา ธนาคารมีหนี้สินด้อยคุณภาพ (NPLs) ที่ 2.83% เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มีหนี้เสีย 2.67% โดยหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังอ่อนแอ ส่งผลให้เกิดหนี้เสียค่อนข้างสูงในส่วนของสินเชื่อ SMEs และสินเชื่อบ้าน แต่ปีนี้คาดว่าทิศทางหนี้เสียจะลดลง เนื่องจากรัฐบาลจะมีการผลักดันโครงการลงทุน ซึ่งจะมีผลทำให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น อีกทั้งธนาคารได้มีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพสูงถึง 137.3% ในปีที่แล้ว ซึ่งจะทำให้ผลประกอบการในปีนี้เป็นไปตามภาวะปกติ
นายอาทิตย์ ยังระบุว่า ในส่วนบริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น หรือ PACE ที่ SCB ได้มีการปล่อยสินเชื่อให้ไปเป็นวงเงินกว่า 1 หมื่น ยืนยันว่า ขณะนี้ PACE ยังสามารถทำธุรกิจได้ตามปกติ จึงไม่เป็นหนี้เสีย และทางธนาคารเองก็ติดตามสถานการณ์ของ PACE อย่างใกล้ชิด โดยในส่วนของตึกมหานครขณะนี้มียอดขายแล้ว 70% และมียอดโอน 60% ส่วนกรณีที่นักลงทุนอาจไม่เชื่อมั่นกับทาง PACE นั้น น่าจะเป็นเรื่องตั๋วบี/อีมากกว่า ซึ่งทางผู้ถือหุ้นของ PACE เอง ก็ได้มีการเพิ่มทุน 3,800 ล้านบาท เพื่อนำไปเพิ่มสภาพคล่อง ซึ่งการเพิ่มทุนส่วนนี้เป็นของ SCB ประมาณ 200 ล้านบาท
“PACE ทำธุรกิจอยู่ ยังไม่เป็นหนี้เสีย และเราก็ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด”นายอาทิตย์กล่าว
นายอาทิตย์ กล่าวถึงกรณีหนี้เสียของบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี หรือ SSI กว่า 2.2 หมื่นล้านบาท ว่า ธนาคารได้ตั้งสำรองหนี้ด้อยคุณภาพครบทั้งจำนวนแล้ว จึงไม่มีผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทอีก และในปี 2560 ที่ผ่านมา SSI ยังคงมีกระแสเงินสด 2,800 ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจผลิตเหล็กในไทยยังดำเนินการได้ตามปกติ จึงได้คืนหนี้ให้ SCB เป็นเงิน 1,240 ล้านบาท ขณะที่แผนฟื้นฟูกิจการฯของ SSI จะมีการคืนหนี้ให้ SCB อีก 6,800 ล้านบาทในอีก 12 ปีข้างหน้า หรือรวมเป็นเงินที่คืนหนี้ทั้งสิ้น 8,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 40% ของสินเชื่อ
“ธุรกิจของ SSI คงจะไม่เติบโตไปกว่านี้ แต่ตามแผนฟื้นฟูฯเราจะได้หนี้คืน 8,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 40% ของสินเชื่อ และหุ้นใน SSI ที่ทาง SCB ถือไว้หลังจากได้เข้าไปแปลงหนี้เป็นทุน ก็น่าจะทำให้ทาง SCB ได้เงินคืนมาอีก หากมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อหุ้น”นายอาทิตย์กล่าว
นายอานันท์ ปันยารชุน นายกกรรมการ SCB กล่าวว่า ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารที่ตกลงมามากในช่วงนี้ จากความวุ่นวายของปัจจัยภายนอก เช่น การทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน บรรยากาศและความวุ่นวายในเอเชีย และปัญหาเบร็กซิท เป็นต้น ทำให้ราคาหุ้นมีความผันผวนมาก ส่วนการลดค่าธรรมเนียมของธนาคารต่างๆมีส่วนน้อยมาก