ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดปี 64 รพ.เอกชนรายได้ฟื้นหนุนกำไรโต 15-20%

HoonSmart.com>> ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ประเมินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ปี 64 รายได้กลับมาฟื้นตัว 1-4% จากงวดปี 63 หดตัว 14.1% ด้านกำไรสุทธิขยายตัว 15-20% แต่ยังเป็นปีที่ท้าทายและแข่งขันรุนแรงขึ้น แนะปรับตัวประคองการเติบโตธุรกิจ พร้อมหารายได้ใหม่ๆ กระจายความเสี่ยง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า รายได้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2564 น่าจะกลับมาขยายตัวราว 1-4% เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่หดตัว 14.1% ขณะที่กำไรสุทธิน่าจะกลับมาขยายตัว 15-20% YoY แต่การฟื้นตัวดังกล่าวคาดว่าจะยังไม่กลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิด-19 ในปี 2562 โดยมีปัจจัยด้านโควิด-19 ที่ยังคงกดดันการทำรายได้และกำไรของโรงพยาบาลเอกชนต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากคนไข้ต่างชาติในสัดส่วนที่สูง ขณะที่กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากคนไข้ชาวไทยกลุ่มประกันสังคมและข้าราชการ น่าจะยังพอไปได้หรือได้รับผลกระทบน้อยกว่าโรงพยาบาลเอกชนใน Segment อื่นๆ

ทั้งนี้ คาดการณ์ดังกล่าวภายใต้สมมติฐานที่ไม่มีการระบาดรุนแรงของโควิด-19 ซ้ำภายในประเทศ และภาครัฐสามารถทยอยผ่อนปรนให้มีการเดินทางระหว่างประเทศได้มากขึ้น รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศไม่ได้บานปลายหรือรุนแรง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การแข่งขันของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจะยากและรุนแรงขึ้น จากผู้ประกอบการที่มีอยู่จำนวนมากในตลาด ขณะที่คนไข้ที่มีศักยภาพกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม โดยเฉพาะคนไข้กลุ่ม Medical Tourism ที่น่าจะยังไม่กลับมาเป็นปกติ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับกลยุทธ์โดยการแย่งชิงตลาดคนไข้ในประเทศ ที่ได้รับแรงกดดันจากกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวเช่นกัน ส่งผลให้การรักษาฐานลูกค้าเดิม หรือการมองหาตลาดลูกค้าใหม่ๆ มาทดแทน เช่น กลุ่มลูกค้าประกันสุขภาพเอกชน อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

อย่างไรก็ตามระยะสั้น ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในแต่ละ Segment อาจจะต้องมีการปรับตัวเพื่อประคองการเติบโตของธุรกิจ โดยการควบคุมค่ารักษาพยาบาลให้คนไข้สามารถเข้าถึงได้ การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกับคนไข้ต่างชาติที่เริ่มทยอยเข้ามาใช้บริการรักษาพยาบาลในไทย (กลุ่ม Special Tourism Visa: STV และกลุ่มอื่นๆ ที่รัฐอาจจะพิจารณาเพิ่ม)

ขณะที่ระยะกลางถึงยาว ควรนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการต้นทุนและอำนวยความสะดวก รวมถึงการมองหารายได้ใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ ซึ่งธุรกิจในกลุ่ม Non-hospital เป็นกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจและมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น เช่น ผลจากโควิด-19 น่าจะทำให้ความต้องการเครื่องมือแพทย์ เช่น ถุงมือยางทางการแพทย์ น้ำยาหรือชุดตรวจโรค วัคซีนป้องกันโรคต่างๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

รวมถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุ ซึ่งไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2565 ทำให้สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ เช่น ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ (Nursing Home) เครื่องมือการแพทย์ที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ (รถเข็น เครื่องตรวจวัดความดัน น้ำตาลในเลือด) หรือแม้แต่การร่วมมือกับผู้ผลิตอาหาร ในการดูแลโภชนาการด้านอาหารภายในโรงพยาบาล ทั้งอาหารที่เหมาะสำหรับคนไข้แต่ละกลุ่ม รวมถึงโอกาสที่จะขยายตลาดรองรับญาติหรือผู้ติดตาม อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเลือกกลยุทธ์ใด ผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึงการรักษาดุลยภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ รวมถึงการวางตำแหน่งทางการตลาด (Positioning) หรือภาพลักษณ์ของธุรกิจที่เป็นผลพวงจากการปรับตัวดังกล่าวให้เหมาะสม

ทั้งนี้ ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา ‘ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน’ เป็นหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 สะท้อนได้จาก รายได้และกำไรสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกของโรงพยาบาลเอกชน (ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ) หดตัวอยู่ที่ -14.2% และ -54.8% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากคนไข้กลุ่ม Medical Tourism ในสัดส่วนที่สูง น่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก จากจำนวน Medical Tourism ที่คาดว่าจะหายไปไม่ต่ำกว่า 85% ของจำนวน Medical Tourism ทั้งหมด

ขณะเดียวกัน ด้วยกำลังซื้อของคนในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวและการแข่งขันของตลาดในประเทศที่รุนแรงขึ้น ทำให้โรงพยาบาลเอกชนที่เจาะกลุ่มคนไข้เงินสดเป็นหลักได้รับผลกระทบเช่นกัน อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลเอกชนที่เจาะกลุ่มลูกค้าประกันสุขภาพของภาครัฐ เช่น กลุ่มประกันสังคม ข้าราชการ น่าจะประคับประคองรายได้ หรือได้รับผลกระทบน้อยกว่ากลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่จับกลุ่มลูกค้าใน Segment อื่นๆ