ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดปีใหม่ 64 คนกรุงใช้จ่าย 3 หมื่นลบ. ใกล้เคียงปีก่อน

HoonSmart.com>>”ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” คาดเม็ดเงินใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ช่วงเทศกาลปีใหม่ 64 กว่า 30,050 ล้านบาท ใกล้เคียงปีก่อน ผลสำรวจพบกว่า 42.5% เลือกฉลองปีใหม่ในกรุงเทพฯ หลีกเลี่ยงจราจรติดขัด  ด้านการจับจ่ายใช้สอยมีความระมัดระวังเฉลี่ยอยู่ที่ 5,300 บาทต่อคน เนื่องจากยังมีความกังวลต่อผลกระทบของโควิด-19 สถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เม็ดเงินการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 รวมน่าจะอยู่ที่ประมาณ 30,050 ล้านบาท ทรงตัวในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า เป็นผลจากแรงหนุนที่ภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย ซึ่งช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคและเพิ่มกำลังซื้อช่วงปีใหม่ได้บางส่วน แต่ในอีกด้านหนึ่งสะท้อนว่า ประชาชนส่วนใหญ่เผชิญแรงกดดันด้านกำลังซื้อ และต้องการได้รับสิทธิประโยชน์เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย สอดคล้องไปกับผลการสำรวจการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงปีใหม่ 2564 ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่พบว่า ส่วนใหญ่ปรับลดงบประมาณสำหรับการฉลองปีใหม่ลงจากปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะได้ทยอยใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการ ในช่วงแคมเปญลดราคาอย่าง 11.11 12.12 และใช้สิทธิ์การท่องเที่ยวผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกันไปแล้ว

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 พบว่า คนกรุงเทพฯ กว่า 42.5% เลือกฉลองปีใหม่ในกรุงเทพฯ เนื่องจากต้องการหลีกเลี่ยงสภาพการจราจรติดขัด  ด้านการจับจ่ายใช้สอยมีความระมัดระวังเฉลี่ยอยู่ที่ 5,300 บาทต่อคน เนื่องจากยังมีความกังวลต่อผลกระทบของโควิด-19 สถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง

คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ในทุกกลุ่มรายได้ ปรับงบประมาณการใช้จ่ายรายกิจกรรมส่วนใหญ่ลดลง ยกเว้นค่าใช้จ่ายสำหรับเลี้ยงสังสรรค์ ค่าอาหารเครื่องดื่ม และค่าใช้จ่ายสำหรับช้อปปิ้ง ซื้อสินค้าส่วนตัว ของขวัญ ที่ประเมินว่า น่าจะขยายตัวที่ 7.1% และ 7.7% ตามลำดับ เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศของภาครัฐ ทำให้ผู้บริโภคเลือกจับจ่ายใช้สอยโดยใช้สิทธิ์ผ่านโครงการฯ

ผลการสำรวจในภาพรวม ยังสะท้อนว่า คนกรุงเทพฯ ในทุกกลุ่มรายได้ มีความระมัดระวังในการใช้จ่าย หากไม่มีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย คนส่วนใหญ่ปรับลดหรือคงจำนวนเงินค่าใช้จ่ายรวมสำหรับการทำกิจกรรมและซื้อสินค้าช่วงปีใหม่ 2564 เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี มากกว่า 20% ของกลุ่มผู้มีรายได้ 75,001 บาทต่อเดือนขึ้นไป มีแผนเพิ่มการใช้จ่ายเมื่อเทียบกับปีก่อน  นอกจากนี้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้จ่ายให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายสำหรับการเลี้ยงสังสรรค์และช้อปปิ้งซื้อสินค้าที่เม็ดเงินมากที่สุด 2 ลำดับแรก

เมื่อพิจารณารูปแบบการเลี้ยงสังสรรค์ ใช้จ่ายสำหรับค่าอาหารเครื่องดื่ม พบว่า  มีการปรับรูปแบบการเลี้ยงสังสรรค์จากการไปที่ร้านอาหาร เปลี่ยนเป็นหันไปซื้ออาหารและเครื่องดื่มมาปรุงรับประทานเอง  อีกทั้งต้องการหลีกเลี่ยงการไปในพื้นที่ชุมชนที่อาจมีคนหนาแน่นกว่าปกติในช่วงเทศกาล นอกจากนี้ ภาคธุรกิจอาจมีการปรับลดงบการจัดเลี้ยงประจำปีลงให้สอดคล้องตามภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทั้งนี้แม้การเลือกสั่งซื้ออาหารจาก Food Delivery จะยังมีสัดส่วนการใช้จ่ายน้อยที่สุด แต่คาดว่าน่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในอนาคต สอดคล้องกับการปรับตัวของทั้งผู้บริโภคและร้านอาหารที่คุ้นเคยกับการสั่งอาหารออนไลน์มากขึ้น ประกอบกับความสะดวกสบายในการชำระเงินได้หลายรูปแบบ ทั้งการชำระด้วยเงินสด บัตรเครดิต และ e-Wallet เป็นต้น นอกจากนี้ แต่ละแอปพลิเคชันยังมีโปรโมชั่นส่วนลดค่าอาหาร ค่าส่ง และสินค้าพิเศษเฉพาะ ซึ่งจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการ

คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น (ออนไลน์ 40 : ออฟไลน์60) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน (ออนไลน์ 24 : ออฟไลน์ 76) ถึงแม้ตลาดออฟไลน์จะยังมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า แต่แสดงให้เห็นว่า ช่องทางออนไลน์มีความสำคัญในการตอบโจทย์ลูกค้าที่ไม่สะดวกเดินทางไปซื้อสินค้าที่ร้านมากขึ้น

สำหรับประเภทสินค้าที่มีแผนจะเลือกซื้อสำหรับช่วงปีใหม่ 2564 มากที่สุด ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องแต่งกาย และอาหารประเภทขนม เค้ก ของทานเล่น ในขณะที่การซื้อกระเช้าของขวัญอาจมีสัดส่วนการใช้จ่ายลดลงจากปีก่อนหน้า จากแนวทาง No Gift Policy ที่หลายองค์กรปฏิบัติกันมาต่อเนื่อง ส่วนการซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อาจมีมูลค่าต่อชิ้นค่อนข้างสูง มีสัดส่วนการใช้จ่ายน้อยที่สุด อาจเป็นเพราะบางส่วนได้ใช้จ่ายไปแล้วในช่วงที่สินค้าใหม่เปิดตัว ในขณะที่ผู้บริโภคบางกลุ่มยังมีความระมัดระวังการใช้จ่าย และเลื่อนเวลาการซื้อออกไปอีกสักระยะ จากปัจจัยความไม่แน่นอนด้านรายได้ที่อาจเกิดจากผลกระทบของโควิด-19 ต่อภาคธุรกิจ

นอกจากนี้ กลยุทธ์การตลาดของร้านค้าผู้ประกอบการมีผลต่อการตัดสินใจซื้อค่อนข้างมาก โปรโมชั่นลดราคามีผลต่อการเลือกใช้จ่ายสูงถึง 92%  รองลงมา คือ โปรโมชั่นของแถม (65%) ผ่อน 0% ผ่านบัตรเครดิตได้ในระยะเวลานานขึ้น (46%) มีสิทธิประโยชน์ของบัตรเครดิตเพื่อแลกคะแนน รับเครดิตเงินคืน (36%) และมีแคมเปญชิงโชค (36%) ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับราคาของสินค้า รวมถึงการยืดระยะเวลาการชำระเงิน

ทั้งนี้ ยังเป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มผู้มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 45,000 บาท ให้ความสนใจกับโปรโมชั่นลดราคามากที่สุด ในขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้ต่อเดือนตั้งแต่ 45,001 บาทขึ้นไป เห็นว่าการขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ 0% และโปรโมชั่นร่วมกับบัตรเครดิต  มีผลต่อการตัดสินใจซื้อมากที่สุด ดังนั้นผู้ประกอบการอาจพิจารณาช่องทางการขายที่ผสมผสานทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ประกอบกับการออกแบบกลยุทธ์ทางการตลาดที่ตอบโจทย์ฐานลูกค้าของสินค้าและสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้ใช้งานในแต่ละช่องทางเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย