เชื่อมั่นเพิ่มอย่างร้อนแรง ชี้เป้าหุ้นปีหน้า1,580 ชูพลังงานเด่น

HoonSmart.com>>สภาธุรกิจตลาดทุนไทยเปิดดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้า 161.41 กระโดดขึ้นจากเดือนก่อนที่ 61.27 เข้าสู่เกณฑ์ร้อนแรงครั้งแรกในรอบ 2 ปี  กลุ่มพลังงานเริ่มน่าสนใจ เลี่ยงกลุ่มประกัน  เงินทุนไหลเข้าหนุนดัชนีขึ้นต่อเนื่อง มีโอกาสแตะระดับก่อนเกิดโควิดที่ 1,580 จุดปี 64  การเมืองกดดัน  ด้านหุ้นกู้คาดปี 63 ออกเพียง 7 แสนล้านบาท บริษัทใหญ่หันไปกู้แบงก์ดอกเบี้ยต่ำ คลังคาดเศรษฐกิจปีนี้ -6% ปีหน้าพลิกเป็น +4% คาดเริ่มใช้วัคซีนเร็วที่สุดเดือน พ.ค.

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ผลสำรวจในเดือนพ.ย. 2563 พบว่า ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีอยู่ที่ระดับ 161.41 เพิ่มขึ้น 163.44% จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ 61.27 มาอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรงอย่างมาก” เป็นครั้งแรกในรอบสองปี

หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค ส่วนหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดประกันภัยและประกันชีวิต   ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การไหลเข้าออกของเงินทุน และสถานการณ์การเมืองจะเป็นตัวฉุดมากที่สุด ส่วนปัจจัยต่างประเทศต้องติดตาม การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่ของสหรัฐอเมริกา และการเริ่มดำเนินการตามนโยบายของนาย โจ ไบเดน เศรษฐกิจในยุโรปหลังเพิ่มความเข้มงวดมาตรการล็อกดาวน์จากการระบาดระลอกสอง

“ดัชนีหุ้นมีโอกาสปรับขึ้นได้อีก ตอบรับข่าวดีทั้งเรื่องโควิด-19  ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ และเศรษฐกิจไตรมาส 3/63 หดตัว -6.4% แต่ดีกว่าคาด ซึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการบริโภค บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯมีกำไรสุทธิในไตรมาส 3/2563 เพิ่มขึ้น 24% จากไตรมาสก่อนหน้า คาดว่าดัชนีมีโอกาสจะปรับขึ้นไปที่ระดับเดิมก่อนเกิดเหตุการณ์โควิด-19 ที่ 1,580 จุด ในปี 2564″นายไพบูลย์กล่าว

ด้านน.ส.อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย คาดว่า ในปี 2563 ภาคเอกชนออกตราสารหนี้ 700,000 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 670,000 ล้านบาท ลดลงประมาณ 40% จากสิ้นปีก่อนหน้าที่มียอดออกหุ้นกู้ประมาณ 1 ล้านล้านบาท  เพราะบริษัทขนาดใหญ่หันไปใช้เงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์มากขึ้น ได้รับการเสนออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ทดแทนลูกค้ากลุ่มธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก (SMEs)

สำหรับส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาคเอกชน (Credit Spread) ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหุ้นกู้ที่มีเรทติ้งต่ำกว่าระดับการลงทุน หรือต่ำกว่าระดับ BBB ลงไป สะท้อนถึงความเสี่ยงที่มากขึ้น  แต่ในเดือน พ.ย.63 ที่ผ่านมา พบว่าหุ้นกู้ที่มีเรทติ้งค่อนข้างดีส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาคเอกชน เริ่มปรับลดลงแล้ว

นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในปี 2564 คาดว่าผลผลิตมวลรวมของประเทศไทย (GDP) จะกลับมาเป็นบวกที่ประมาณ 4% จากปีนี้คาดว่าจะติดลบที่ 6% การฟื้นตัวของ GDP มาจากการเริ่มนักท่องเที่ยวเข้ามาในช่วงครึ่งหลังของปีหน้าประมาณ 5 ล้านคน และวัคซีนโควิด-19 ที่คาดว่าจะได้เริ่มใช้ หากกรณีที่เร็วที่สุดที่จะได้ใช้คือในช่วงเดือน พ.ค.64 จะเป็นปัจจัยหนุนในการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ