TOP กอดเครดิต AA- หนี้เพิ่มชั่วคราวจากบิ๊กโปรเจกต์

ฟิทช์ คงอันดับเครดิต TOP ที่ ‘AA-(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ หลังลงทุนในโครงการพลังงานสะอาด คาดอัตราส่วนหนี้สินเพิ่มขึ้น 3-4 เท่า ชั่วคราวในปี 2562-2565 รวมถึงการให้เงินช่วยเหลือเพิ่มทุน GPSC ซื้อหุ้น GLOW อีก 1.8 หมื่นล้านบาท

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ ระยะยาวของบริษัท ไทยออยล์ (TOP) ที่ระดับ ‘AA-(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ หลังจากที่ บริษัทฯได้ประกาศการลงทุนในโครงการพลังงานสะอาดหรือ Clean Fuel Project (CFP) และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้ที่ระดับ ‘F1+(tha)’ และอันดับเครดิตระยะยาวหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิที่ระดับ ‘AA-(tha)’

การคงอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะการดำเนินธุรกิจที่ยังคงแข็งแกร่ง ในกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมีในประเทศไทย ฟิทช์คาดว่า อัตราส่วนหนี้สินของ TOP จะเพิ่มขึ้นชั่วคราวไปอยู่ที่ระดับ 3-4 เท่า ในช่วงการลงทุนที่สูงของโครงการ CFP บริษัทคาดใช้เงินประมาณ 3,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในระหว่างปี 2562 – 2565 ก่อนที่จะลดลงมาอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิต หลังจากที่ CFP เริ่มดำเนินการได้ในปี 2566 การลงทุนในโครงการ CFP มีแนวโน้มที่จะเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจของ TOP โดยจะเพิ่มกำลังอัตราการกลั่น เพิ่มความสามารถการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของบริษัทฯ

นอกจากนี้ TOP ประกาศแผนการที่จะสนับสนุน บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เพื่อทำการเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ บริษัท โกลว์ พลังงาน (GOLD) ฟิทช์คาดว่าการซื้อหุ้นจะต้องใช้เงินเพิ่มทุนจาก TOP ประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาทในปี 2562 ซึ่งฟิทช์ได้รวมไว้ในประมาณการณ์แล้ว

ฟิทช์คาดว่า TOP จะสามารถขยายเทอมการชำระเงินกับ บริษัท ปตท.ได้ ซึ่งจะช่วยรักษากระแสเงินสดและลดความต้องการใช้เงินกู้ในช่วงที่มีการลงทุนสูงนี้ และประเมินว่า TOP สามารถจะมีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นถึง 550 ล้านเหรียญสหรัฐฯจากการขยายเทอมการชำระเงินดังกล่าว โดยคำนวณจากราคาน้ำมันดิบที่ 57.5 – 65.0 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

สำหรับ CFP จะช่วยเพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมันของ TOP เป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน (จากปัจจุบัน 275,000 บาร์เรลต่อวัน) และช่วยรักษาสถานะของบริษัทฯ ในฐานะโรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้จะช่วยให้บริษัทฯ สามารถกลั่นน้ำมันดิบที่หนักขึ้นได้มากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการกลั่น และเพิ่มอัตราส่วนการกลั่นน้ำมันสำเร็จรูปประเภทน้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถันต่ำ ซึ่งมีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่า นอกจากนี้โครงการนี้ยังจะทำให้ TOP อยู่ในสถาณะที่ดีที่จะได้รับประโยชน์จากข้อกำหนดด้านเชื้อเพลิงขององค์การเดินเรือระหว่างประเทศที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอีกด้วย

“TOP มีข้อได้เปรียบในด้านการแข่งขันในฐานะผู้ดำเนินการโรงกลั่นน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย คิดเป็นสัดส่วน 29% ของกำลังการกลั่นน้ำมันของประเทศในปี 2560 กระบวนการกลั่นน้ำมันแบบคอมเพล็กซ์และอัตราการใช้กำลังการกลั่นที่สูงของ TOP ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านต้นทุน เพิ่มความยืดหยุ่นในการจัดหาน้ำมันดิบ และช่วยให้บริษัทฯ สามารถบริหารกำลังการผลิตในการเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงและสร้างอัตราส่วนกำไรที่สูงเมื่อเทียบกับโรงกลั่นอื่นๆ ในประเทศ รวมถึงการขยายสายการผลิไปยังการผลิตอะโรเมติกส์ น้ำมันหล่อลื่น ผลิตภัณฑ์สารทำละลาย และธุรกิจอื่นๆ ช่วยกระจายแหล่งรายได้ และลดความผันผวนของอัตราส่วนกำไรได้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจไฟฟ้าที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม EBITDA จากธุรกิจไฟฟ้ายังคงอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณ 2.8 พันล้านบาทหรือประมาณ 8% ของ EBITDA ทั้งหมดในปี 2560”
ฟิทช์ระบุ

TOP มีสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 7.9 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 ซึ่งมากเพียงพอที่จะรองรับหนี้สินจำนวน 6,100 ล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้า ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดสุทธิ น่าจะเป็นบวกในปี 2561 วงเงินกู้ที่มีกับ ปตท. จำนวน 2,000 ล้านบาท วงเงินกู้ ประเภท Committed จำนวน 1.2 หมื่นล้านบาทจากสถาบันการเงิน รวมทั้งบริษัทฯ ยังมีความสามารถในการระดมทุนผ่านตลาดทุน นอกจากนี้ TOP ยังมีภาระการชำระคืนหนี้ที่จัดการได้ง่าย โดยมีอายุเฉลี่ยของหนี้ที่ครบกำหนดชำระประมาณ 10.5 ปี