HoonSmart.com>>ธนาคารแห่งประเทศไทยออก 3 มาตรการลดแรงกดดันค่าเงินบาท 1.เปิดให้คนไทยฝากและโอนเงินตราต่างประเทศได้เสรี ช่วยผู้ส่งออกบริหารความเสี่ยงคล่องตัวมากขึ้น 2.เพิ่มวงเงินออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศโดยตรงจาก 2 แสนล้านดอลลาร์/ปี เพิ่มเป็น 5 ล้านดอลลาร์ เพิ่มทางเลือกผลิตภัณฑ์หลากหลาย คาดเริ่มพ.ย.นี้ 3.ลงทะเบียนแสดงตัวตนซื้อขายตราสารหนี้ สามารถตามติดพฤติกรรมอย่างใกล้ชิด หวังแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความสมดุลมากขึ้น
นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่านักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจโลกมากขึ้น กลับมาลงทุนในสินทรัพย์ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทย ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็ว ซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง ธปท. ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเข้าดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดความผันผวน และแรงกดดันต่อค่าเงินบาท พร้อมแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างให้กับตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความสมดุลมากขึ้น ธปท. จึงเห็นควรดำเนินมาตรการ ดังนี้
1. เปิดให้คนไทยฝากเงินตราต่างประเทศได้เสรี (Foreign Currency Deposit : FCD) และโอนเงินระหว่างบัญชี FCD ของคนไทยได้เสรี จะช่วยให้ผู้ส่งออกบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศและบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้คล่องตัวมากขึ้น สามารถทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยลดต้นทุนการโอนเงินและชำระเงิน ตลอดจนทำให้คนไทยสามารถกระจายความเสี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินตราต่างประเทศได้สะดวกขึ้น เช่น การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ และการซื้อขายทองคำเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
2. ปรับกฎเกณฑ์และกระบวนการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ทั้งในมิติของวงเงินและผลิตภัณฑ์ที่ลงทุนได้ เพื่อเพิ่มทางเลือกการลงทุนให้กับคนไทยและสนับสนุนให้มีการกระจายความเสี่ยงการลงทุนได้มากขึ้น โดยการเพิ่มวงเงินลงทุนให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนโดยตรงได้เป็น 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จากเดิม 200,000 ดอลลาร์ สหรัฐต่อปี และไม่จำกัดวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่ลงทุนผ่านตัวกลางในประเทศ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไม่จำกัดวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศสำหรับนักลงทุนภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดให้มีการนำหลักทรัพย์ต่างประเทศมาซื้อขายในไทยได้โดยไม่จำกัดวงเงิน เช่น กองทุนรวมดัชนี (ETF) ที่อ้างอิงหลักทรัพย์ต่างประเทศได้
3. ผู้ลงทุนในตราสารหนี้ไทยต้องลงทะเบียนแสดงตัวตนก่อนการซื้อขาย ทำให้ ธปท. ระบุตัวตนและติดตามพฤติกรรมของนักลงทุนได้อย่างใกล้ชิด เป็นการยกระดับการติดตามข้อมูลและเอื้อให้ ธปท. สามารถดำเนินนโยบายได้อย่างตรงจุดและทันการณ์ ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับการดำเนินการของหลายประเทศ อาทิ เกาเหลีใต้ มาเลเซีย ไต้หวัน
” 3 มาตรการที่ ธปท.ออกมาครั้งนี้ เป็นมาตรการระยะยาว แต่ตอบโจทย์ระยะสั้นไปด้วยในตัว ช่วยทำให้ sentiment นักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้น ทำได้เสรีมากขึ้น สะดวกมากขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของแผนการผลักดันให้เกิดระบบนิเวศของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ (FX ecosystem) ที่กระทรวงการคลัง ก.ล.ต. และ ธปท. ผลักดันร่วมกันแบบองค์รวม เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทยอย่างยั่งยืน”นางสาววชิรากล่าว
ที่ผ่านมาธปท.ได้เข้าดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้มีความผันผวนเกินไปจนอาจกลายเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความเปราะบางอยู่ในขณะนี้
ด้านนางสาวชญาวดี ขัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า ในปัจจุบันค่าเงินบาทมีความผันผวน แต่เป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกค่อนข้างมาก โดยเฉพาะความเชื่อมั่นที่มีมากขึ้นจากสถานการณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ รวมถึงความก้าวหน้าในการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด แต่มองว่าเงินทุนที่เข้ามาในตลาดของไทยยังไม่พบว่าเป็นการเข้ามาอย่างผิดปกติ
“เรื่องการพักเงิน เราติดตามใกล้ชิด ปัจจัยที่ทำให้เงินไหลเข้ามา ไม่ได้เป็นเหตุการณ์ที่ไทยเจอประเทศเดียว แต่ประเทศอื่นๆ ก็จะมีการไหลเข้าของเงินทุนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในตลาดบอนด์ ซึ่งปัจจุบันยังไม่พบความผิดปกติ แต่จะติดตามอย่างใกล้ชิด และต่อเนื่อง”นางสาวชญาวดี กล่าว
ส่วนการเปิดให้คนไทยฝากบัญชี FCD ได้เสรีนั้นจะส่งผลดีต่อหลายฝ่าย กล่าวคือ ผู้ประกอบการที่ต้องบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศ จะทำให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และมีต้นทุนลดลง เนื่องจากสามารถเก็บรายรับที่เป็นเงินตราต่างประเทศ หรือแลกเงินตราต่างประเทศเก็บไว้ก่อนได้ และสามารถแลกกลับมาเป็นเงินบาทในเวลาที่ต้องการได้ทันที ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินตราต่างประเทศจะสามารถบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้น และประชาชนจะสามารถแลกเงินตราต่างประเทศเก็บไว้ใช้เพื่อการเดินทาง และซื้อสินค้าและบริการในต่างประเทศ รวมถึงการโอนเงินระหว่างกันได้สะดวกขึ้น
“การเปิดให้นักลงทุนรายย่อยของไทยไปลงทุนในต่างประเทศหรือลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศได้มากขึ้น เป็นการสร้างสมดุลให้กับเงินทุนเคลื่อนย้ายของประเทศ ที่ผ่านมา คนไทยส่วนใหญ่มักลงทุนในประเทศ ทำให้กระจายความเสี่ยงได้ไม่มากนัก การที่สามารถออกไปลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น จะช่วยให้นักลงทุนรายย่อยของไทยมีทางเลือก ทำให้ช่วยกระจายความเสี่ยงของการลงทุนได้” น.ส.วชิรา กล่าว
สำหรับการทำให้คนไทยมั่นใจออกไปลงทุนต่างประเทศและบริหารความเสี่ยงได้นั้น ต้องทำให้ระบบและตลาดมีเสถียรภาพ ไม่ผันผวน ซึ่งทางการจะต้องติดตามข้อมูลต่างๆ ของตลาดอย่างเท่าทัน เพื่อติดตามและรู้ตัวตนของผู้ร่วมตลาด โดยเฉพาะในตลาดพันธบัตร เนื่องจากเป็นตลาดที่มีผู้เล่นหลากหลาย ทั้งกลุ่ม real money ที่ต้องการลงทุนจริง ผู้เล่นระยะสั้น และผู้เล่นที่เก็งกำไร แม้ว่าการมีผู้เล่นหลากหลายเป็นผลดีกับตลาด แต่ในบางช่วงก็อาจมีพฤติกรรมที่ส่งผลต่อเสถียรภาพของตลาดการเงินได้ ธปท.จึงมองว่านักลงทุนควรต้องมาลงทะเบียนเพื่อให้ทางการได้ทราบว่าผู้เล่นเป็นใครบ้าง ซึ่งไม่ได้มีความตั้งใจที่จะปิดกั้นการลงทุน ทุกคนยังสามารถเข้ามาลงทุนได้เช่นเดิม เพียงแต่ขอให้มาลงทะเบียนในครั้งแรกก่อนทำการซื้อขายตราสารหนี้ ซึ่งไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่ดำเนินการ หลายประเทศที่ต้องการมั่นใจในเรื่องเสถียรภาพของตลาดก็มีระบบนี้อยู่แล้ว เช่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และไต้หวัน ซึ่งจากเดิมที่เปิดให้เข้ามาลงทุนได้เสรีโดยไม่ต้องแจ้งทางการก่อน ทำให้ทางการไม่ทราบตัวตนและเกิดความไม่สมดุลของการลงทุนระหว่างคนในประเทศและต่างประเทศ
“เรารู้จักคนไทยที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ แต่เรายังไม่รู้จักตัวตนของนักลงทุนต่างประเทศ ดังนั้นการมีมาตรการที่ให้ลงทะเบียนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้ จะทำให้เรารู้จักนักลงทุนที่เข้าออกประเทศเราได้เท่าๆ กัน”นางสาววชิรา กล่าว
อย่างไรก็ดี มาตรการลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้นั้น คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ราวต้นปี 2564 ส่วนมาตรการเปิดให้คนไทยฝากเงินตราต่างประเทศได้เสรี และโอนเงินระหว่างบัญชี FCD ได้เสรี รวมทั้งการปรับกฎเกณฑ์และกระบวนการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศนั้น คาดว่าจะดำเนินการได้อย่างเร็วภายในสิ้นเดือนพ.ย.นี้ หลังจากวันนี้กระทรวงการคลังจะออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา รวมทั้ง ธปท. และสำนักงานก.ล.ต.จะทยอยออกประกาศที่เกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์ดังกล่าว คาดว่าจะเริ่มทำธุรกรรมได้ภายในเดือนพ.ย.นี้