TU เปิดโมเดล รุกธุรกิจ Foodtech เพิ่มกำไร ลั่นเงินสดสูง แถมปันผล

HoonSmart.com>>”ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป”ปรับโมเดลธุรกิจ หาโอกาสใหม่จาก “ฟู้ดเทค” มาร์จิ้นดีกว่าธุรกิจหลัก มองโปรตีนทางเลือก ซึ่งตลาดโลกใหญ่มากเกือบ 4 แสนล้านบาทและโตขึ้นทุกปี   แผนปี 64 ตั้งงบลงทุน 6 พันล้านบาท กลยุทธ์หนุนกำไรพุ่ง  หากกระแสเงินสดสูง พร้อมจ่ายเงินปันผลเพิ่ม เหมือนครึ่งปี 63 

ธีรพงศ์ จันศิริ

นาย ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) เปิดเผยว่า บริษัทมีโมเดลธุรกิจใหม่ที่ต้องปรับตัว และมองหาธุรกิจใหม่ๆ ที่มีกำไรมากขึ้น เปลี่ยนจากเดิมที่ธุรกิจหลักเน้นการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ต้องใหญ่ ต้องแมส บริษัทเตรียมการลงทุนธุรกิจใหม่ในอนาคต Foodtech เช่น อาหารทะเลที่ผลิตจากโปรตีนจากพืช เป็นต้น เพื่อรองรับกับแนวโน้มของทั้งโลก ความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายมากขึ้น สินค้าอาหารเป็นเฉพาะเจาะจง เน้นตามอายุ และฟังก์ชั่น เพื่อความสวยงาม สุขภาพที่ดี และอาหารสำหรับผู้ป่วย เช่น มะเร็ง ไต ทั้งนี้ตลาดโปรตีนทางเลือกของโลกมีขนาดถึง 12,800 ล้านเหรียญ หรือเกือบ 4 แสนล้าน และยังมีแนวโน้มเติบโตทุกปี ในช่วง 2562-2568 เฉลี่ยถึง 6.8% ต่อปี

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกล่าวว่า ในปี 2564 บริษัทตั้งงบลงทุนกว่า 6,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบลงทุนปกติ 4,200-4,500 ล้านบาท จะเน้นการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ไม่นับรวมการซื้อกิจการ (M&A) ซึ่งได้รับอนุมัติแล้วให้สร้างห้องเย็นแห่งใหม่ ในประเทศกาน่า 10 ล้านเหรียญ และเงินลงทุนอีก 2,000 ล้านบาทเป็นการลงทุนธุรกิจใหม่ ซึ่งเป็นการลงทุนคอลลาเจนเปปไทด์ วงเงิน 25 ล้านเหรียญสหรัฐ และการลงทุนอาหารสำเร็จรูป 1,000 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 แห่งอยู่ในประเทศไทย ส่วนปี 2563 มีการตัดงบลงทุน จากที่ตั้งไว้ 4,900 ล้านบาท เหลือ 3,700 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้เดินทางไปไม่ได้

นอกจากนี้บริษัทยังตั้งงบ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการลงทุนสตาร์ทอัพในช่วง 3-5 ปี เน้นธุรกิจโปรตีนทางเลือก อาหารฟังก์ชั่นและมีเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยบริษัทจะเข้าถือหุ้นน้อย ไม่เกิน 10% หรือไม่เกิน 3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะเป็นธุรกิจใหม่ เพิ่งเกิดขึ้นหรือยังไม่เกิด มีความเสี่ยงสูง บริษัทเฟ้นหาบริษัทที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือมีโมเดลธุรกิจใหม่ ซึ่งเริ่มลงทุนมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เป็นเงิน 5 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้แก่ บริษัท อัลเคมี ฟู้ดเทค ที่ทำธุรกิจนวัตกรรมอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานจากสิงคโปร์, บริษัท ไฮโดรนีโอ บริษัทเทคโนโลยีการบริหารจัดการฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำอยู่ในไทย , บริษัท มันนา ฟู้ดส์ บริษัทโปรตีนจากแมลงและอีคอมเมิร์ซจากสหรัฐอเมริกา, บริษัทจากเยอรมัน และ อิสราเอล และคาดว่าใน 2 เดือนจะลงทุนเพิ่มอีก 5 ล้านเหรียญสหรัฐ

“M&A ไม่ใช่เรื่องสำคัญอันดับต้นๆของเราอีกต่อไปแล้ว  เพราะ M&A ส่วนใหญ่ในอดีต เป็นการทำในธุรกิจหลัก เพื่อให้มีขนาดใหญ่ ซึ่งวันนี้คิดว่า เพียงพอแล้ว  เราจะมองหาโอกาสใหม่ๆ ที่มีกำไรดี  ในรูปแบบการร่วมลงทุน ในธุรกิจที่ไม่มีความชำนาญ และบริษัทจะขวนขวายหาพันธมิตรที่มีความชำนาญเสริมซึ่งกันและกันได้ทั้งในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจที่เราสนใจสตาร์ทอัพ เน้นทำน้อยได้มาก ต้องมีอัตรากำไรขั้นต้น (มาร์จิ้น) 20% ขึ้นไป  สูงกว่าธุรกิจหลักอยู่ที่ 16-17% เหลืออัตรากำไรสุทธิ 4-5% “นายธีรพงศ์กล่าว

สำหรับธุรกิจหลักยังต้องเน้นประสิทธิภาพ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ดูแลกระแสเงินสดให้ดี ขณะเดียวกันขนาดขององค์กร ก็กระชับ พนักงานที่เคยมีถึง 49,000 คน ปัจจุบันลดลงเหลือ 44,000 คน และสัดส่วนหนี้สินต่อทุนลดลงต่ำ เพียง 0.9 เท่า ไม่เกินที่กำหนด 1.1 เท่า จากที่เคยสูงสุด 1.35-1.4 เท่า ก็ตัดสินใจออกหุ้นกู้ชั่วนิรันด์ 6,000 ล้านบาท และมีการออกหุ้น ขณะนี้เป็นโอกาสของผู้กู้ ธนาคารคิดดอกเบี้ยต่ำเพียง 2% ต่อปี “นายธีรพงศ์ กล่าว

แนวโน้มการดำเนินงานในปี 2564 คาดว่ายอดขายยังเติบโตใกล้เคียงกับปีนี้ 5% เน้นความสามารถในการทำกำไรมากกว่า คาดมาร์จิ้น จะอยู่ระดับ 16-17% จากปีนี้น่าวชจะอยู่ที่ 17 % บวกลบ โดยงวด 9 เดือนปีนี้อยู่ที่ 18% เชื่อได้ว่ายังมีความสามารถในการทำกำไร  โดยยังคงนโยบายจ่ายเงินปันผลปีละ 2 ครั้ง หากสร้างกระแสเงินสดได้ดีก็จะจ่ายมากขึ้น จากนโยบายจ่ายมากกว่า 50% ของกำไรสุทธิ เหมือนในปีนี้ ที่ 9 เดือนมีกระแสเงินสดมากกว่า 9,000 ล้านบาท สูงกว่าทั้งปีก่อนที่มีจำนวน 7,000 ล้านบาท จึงจ่ายเงินปันผลครึ่งปีสูงกว่าปีก่อน 29% ในปีหน้าตั้งสมมติฐานโควิดก็ยังอยู่อย่างน้อยทั้งปี จึงยังต้องดูแลเรื่องการใช้จ่าย การลงทุน กระแสเงินสดต่อไป

นายธีรพงศ์ กล่าวว่า บริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ เวลาเกิดวิกฤต สามารถจัดการได้  บริษัทจัดตั้งมา 42 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยขาดทุนแม้แต่ไตรมาสเดียว ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตในเอเชีย สหรัฐ และยุโรป รวมถึงโควิด เพราะธุรกิจ ผลิตสินค้าที่มีความจำเป็น คืออาหารและราคาไม่สูง ถือว่าเป็นธุรกิจที่มีความปลอดภัยมากที่สุด และไม่หวือหวา บริษัทต้องมีความยืดหยุ่น ปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  ซึ่งการลงทุนในสหรัฐมานาน 20 ปี เชื่อว่าจัดการได้ ไม่ว่าใครจะมาเป็นประธนาธิบดี สร้างภูมิคุ้มกันได้  แต่ปัจจุบันการทำธุรกิจไม่ง่าย จะยากขึ้นเรื่อยๆ ณ วันนี้แต่ละประเทศเศรษฐกิจอ่อนแอ ทุกประเทศก็ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจจากภายในส่วนแนวโน้มค่าเงินบาท คาดว่าจะอยู่ที่ 30-31 บาทต่อดอลลาร์ ไม่มีเหตุผลที่จะอ่อนลง

ปัจจุบันบริษัทมียอดขายในสหรัฐและแคนนาดาสูงถึง 43%  ยุโรป 29% ไทย 10% และอื่นๆ 18%  โดยผลงานไตรมาส 2/63 มีกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 2,000 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนถึง 49.7%  และรวม 9 เดือนปีนี้กำไรพุ่ง 73.6% นอกจากได้รับผลกระทบทางบวกจากการแพร่ระบาดของโควิดแล้ว  กลยุทธ์ที่ทำมาในช่วง 2-3 ปี  ก็ช่วยได้มาก  เน้นการลดต้นทุน และค่าใช้จ่าย  ลดหนี้มาตลอด