HoonSmart.com>> ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผย 21 บจ.ไทยได้รับคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) ประจำปี 2563 “EGCO” เข้าใหม่ปีนี้ ด้าน 7 บจ.คว้าคะแนนอันดับ 1 ของโลกใน 7 กลุ่มอุตสาหกรรม ภาพรวมบจ.ไทยยังครองแชมป์เข้าดัชนี DJSI สูงสุดอาเซียนเป็นปีที่ 7 ตอกย้ำการยกระดับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ส่งเสริมความเชื่อมั่นในสายตาผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ “ไทยออยล์”รักษาแชมป์ปีที่ 6 อุตสาหกรรมการตลาดและการกลั่นน้ำมันและก๊าซ
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่งเสริมตลาดทุนไทยให้เกิดการพัฒนาที่ยังยืนอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม เพื่อให้ตลาดทุนไทยเป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วนตามวิสัยทัศน์ “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone” โดยสนับสนุนให้ บจ. ไทยเข้าร่วมประเมินความยั่งยืนของ DJSI ซึ่งนับเป็นความสำเร็จที่ บจ. ไทย ก้าวสู่มาตรฐานด้านความยั่งยืนในระดับสากลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนความมุ่งมั่นและให้ความสำคัญของ บจ. ล่าสุด 21 บจ. ไทยได้รับการยอมรับในระดับโลกให้เป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืน DJSI ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 โดยในจำนวนนี้มี 7 บจ. ได้รับคะแนนสูงสุดเป็นที่หนึ่งของโลกด้านความยั่งยืนใน 7 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งมากเป็นลำดับที่สองของโลกเป็นรองเฉพาะจากประเทศสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ บจ. ที่มีความโดดเด่นด้านความยั่งยืนส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมซึ่งมีบทบาทและเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ
“การดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักความยั่งยืนนอกจากส่งผลดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังทำให้ธุรกิจแข็งแกร่งและช่วยเสริมศักยภาพธุรกิจแม้เกิดภาวะวิกฤต การที่ บจ. ไทยได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืน DJSI โดยมีจำนวนสูงสุดในอาเซียนและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้รับคะแนนสูงสุดในกลุ่มอุตสาหกรรมเป็นลำดับสองของโลกนั้น เป็นผลจากความมุ่งมั่นของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันธุรกิจให้ความสำคัญในการดำเนินงานโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environment, Social, Governance: ESG) ควบคู่ไปกับการสร้างผลประกอบการที่ดี
ดังนั้น การเข้าสู่ดัชนี DJSI จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจและความน่าเชื่อถือในสายตาของผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และเชื่อว่าการลงทุนอย่างยั่งยืนหรือการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบจะกลายเป็นการลงทุนกระแสหลักของโลก (Mainstream Investment) ในไม่ช้า เนื่องจากปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน ผู้ลงทุนสถาบัน บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ต่างให้ความสำคัญและนำแนวคิดด้านความยั่งยืนไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการผ่านการให้ข้อมูล การวัดมูลค่า รวมถึงวิธีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ครอบคลุมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมเรื่องการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบจึงถือเป็นภารกิจที่สำคัญและท้าทายของตลาดหลักทรัพย์ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกในปัจจุบัน” นายภากรกล่าว
บจ.ไทย 7 แห่งที่ได้คะแนนเป็นที่หนึ่งด้านความยั่งยืนรายกลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 1) BANPU กลุ่มถ่านหินและเชื้อเพลิง 2) BTS กลุ่มขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง 3) PTTEP กลุ่มน้ำมันและแก๊สต้นทาง 4) PTTGC กลุ่มเคมีภัณฑ์ 5) SCC กลุ่มวัสดุก่อสร้าง 6) TOP กลุ่มการกลั่นและการตลาดน้ำมันและแก๊ส และ 7) TRUE กลุ่มบริการโทรคมนาคม
สำหรับบจ.ไทย 21 แห่งที่ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืน DJSI ได้แก่ ADVANC, AOT, BANPU, BTS, CPALL, CPF, CPN, EGCO, HMPRO, IRPC, IVL, KBANK, MINT, PTT, PTTEP, PTTGC, SCB, SCC, TOP, TRUE และ TU ในจำนวนนี้ บจ. ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าใหม่ในปีนี้คือ EGCO และมี 11 บจ. อยู่ในดัชนีกลุ่ม DJSI World ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกที่มีศักยภาพทั้งในด้านขนาดและผลการประเมินความยั่งยืน ได้แก่ ADVANC, AOT, CPALL, CPN, IVL, KBANK, PTT, PTTEP, PTTGC, SCB และ SCC
ทั้งนี้ การประกาศรายชื่อสมาชิกในกลุ่ม DJSI ในครั้งนี้จะมีผลตั้งแต่วันที่ 23 พ.ย.2563 โดยมีการทบทวนและประกาศรายชื่อสมาชิกในกลุ่ม DJSI ในช่วงเดือนก.ย.ของทุกปี
ด้านนายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ (TOP) เปิดเผยว่า บริษัทเป็นสมาชิกของ DJSI ในปี 2563 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 และเป็นอันดับ 1 ของอุตสาหกรรมการตลาดและการกลั่นน้ำมันและก๊าซ เป็นปีที่ 6 จากการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในระดับสากล ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานของบริษัทฯ เป็นรางวัลแห่งความสำเร็จและความภาคภูมิใจของพนักงานทุกคน
“ไทยออยล์ดำเนินธุรกิจตามวิสัยทัศน์ที่จะสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน มุ่งเน้นการบริหารจัดการธุรกิจด้วยสมดุล 3ด้านคือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ การสร้างคุณค่าสู่สังคมและการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นเลิศ ภายใต้หลักธรรมาภิบาลและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแก่ผู้มีส่วนได้เสียมาโดยตลอด
นายวิรัตน์กล่าว
“ในปีนี้อุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมีได้เผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยภายนอกหลากหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19และความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก นอกจากนี้ทิศทางการใช้พลังงานของโลกมีแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไปใช้พลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด บริษัทฯ จึงได้ปรับตัวผ่านทิศทางกลยุทธ์หลัก 3 ด้านคือ 1. การสร้างห่วงโซ่คุณค่าของผลิตภัณฑ์ (Hydrocarbon Value Chain) โดยการเร่งหาโอกาสในการลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมีเพิ่มเติมเพื่อต่อยอดจากธุรกิจการกลั่นน้ำมัน โดยเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง2. การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน เพื่อสร้าง Platform สำหรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคตรองรับกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากโครงการ CFP และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มไทยออยล์ 3.
การกระจายพอร์ตการลงทุนเพิ่มเติม (Earnings Diversification) ไปยังธุรกิจที่มีรายได้ที่มั่นคง รวมถึงธุรกิจใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือธุรกิจใหม่เชิงนวัตกรรมที่สอดคล้องกับแนวโน้มในอนาคต (New S Curve) เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้พอร์ตการลงทุนและเพิ่มเสถียรภาพของกำไร
รองรับความผันผวนจากธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมี” นายวิรัตน์กล่าว