หุ้นกลุ่มแบงก์ขึ้นรับปลดล็อคปันผล “เอเซียพลัส” จ่อปรับเพิ่มน้ำหนักลงทุน

HoonSmart.com>> นักลงทุนเก็งกำไรหุ้นกลุ่มแบงก์ รับข่าวแบงก์ชาติปลดล็อคจ่ายเงินปันผลได้ไม่เกิน 50% ฐานะเงินกองทุนแกร่งรับมือเศรษฐกิจ 3 ปีข้างหน้า “บล.เอเซีย พลัส” มองสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน เตรียมปรับเพิ่มน้้ำหนักลงทุนหุ้นกลุ่มแบงก์ ชู BBL-TISCO เด่น

ความเคลื่อนไหวหุ้นกลุ่มแบงก์เช้า 13 พ.ย.2563 ปรับตัวขึ้นรับข่าวปลดล็อคจ่ายเงินปันผลได้ไม่เกิน 50% ณ เวลา 10.00 น. หุ้น SCB เพิ่มขึ้น 3.14% หรือ 2.50 บาท อยู่ที่ 82 บาท หุ้น KBANK เพิ่มขึ้น 2.22% หรือ 2 บาท อยู่ที่ 92.25 บาทและ BBL เพิ่ม 2.21% หรือ 2.50 บาท อยู่ที่ 115.50 บาท

เมื่อวานนี้ ธปท. ประเมินผล stress test พบว่าทุกธนาคารมีเงินกองทุนแข็งแกร่งเพียงพอ ในช่วงปี 2563- 2565 รองรับแนวโน้มเศรษฐกิจใน 3 ปีข้างหน้า จึงอนุมัติให้ ธ.พ. จ่ายเงินปันผล แต่เนื่องจากสถานการณ์ยังมีความเสี่ยงอยู่ ธปท. จึงให้จ่ายได้ไม่เกินอัตราการจ่ายในปี 2562 และต้องไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิปี 2563

บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส มองภาพรวมคลายความกังวลต่อกลุ่มธนาคารและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนอีกครั้ง ถึงระดับความเพียงพอของอัตราส่วนเงินกองทุนเทียบสินทรัพย์เสี่ยง (CAR) โดย ณ สิ้นงวด 3Q63 CAR เฉลี่ยกลุ่มฯ อยู่ที่ 18.6% (ขั้นต่ำ 11% – 12%) และทำให้ความน่าสนใจด้านเงินปันผลของกลุ่มกลับมาอีกครั้ง แม้ดูเหมือนเป็นลบเล็กน้อยกับธนาคารพาณิชย์ที่มีอัตราการจ่ายเงินปันผลเกิน 50% ของกำไรสุทธิ อย่าง KKP (ปี 2562 จ่าย 60% ของกำไรสุทธิ) และ TISCO (ปี 2562 จ่ายเงินปันผลในอัตรา 85%)

อย่างไรก็ดีอัตราผลตอบแทนเงินปันผลของธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กที่ระดับประมาณ 5% ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ได้แก่ BAY (ปี 2562 จ่าย 19% ของกำไรสุทธิ), BBL (ปี 2562 จ่าย 37%), KTB ปี 2562 จ่าย 36%), SCB (ปี 2562 จ่าย 47% : ไม่รวมเงินปันผลพิเศษ 0.75 บาทต่อหุ้น), KBANK (ปี 2562 จ่าย 30.9%) และ TMB (ปี 2562 จ่ายราว 27%) มีอัตราการจ่ายในปี 2562 ต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ 50% ของ ธปท. จึงไม่ได้รับผลกระทบจากข้อจำกัดดังกล่าว แต่การดำเนินงานกลุ่มฯ ในปี 2563 ที่อ่อนตัวจากปี 2562 ค่อนข้างมาก ทำให้เงินปันผลสำหรับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ – กลาง ไม่ได้เป็นจุดเด่นมากนัก (อัตราผลตอบแทนเงินปันผลราว 2% – 4%)

ทั้งนี้ การจ่ายเงินปันผลยังขึ้นอยู่กับนโยบายเงินปันผลของแต่ละธนาคาร รวมถึงการจัดสรรกำไรงวดครึ่งปีแรกของปี 63 เป็นเงินกองทุน ในช่วงที่ผ่านมา (กำไรที่จัดสรรไปในเงินกองทุน ไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้)

ฝ่ายวิจัยเตรียมปรับน้ำหนักลงทุนกลุ่มฯ เพิ่มจาก น้อยกว่าตลาด เป็นเท่ากับตลาด เนื่องจากมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้น ทั้งการที่ ธปท. อนุมัติให้จ่ายเงินเงินปันผล ตัวขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐที่กำลังทยอยเกิดขึ้นในปี 2564 รวมทั้งลุ้นการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 20% ของ GDP ตั้งแต่ครึ่งปีหลังปี 64 อานิสงค์จากความคืบหน้าของวัคซีน

สำหรับกลุ่มฯ เลือก BBL ราคาเหมาะสม 127 บาท จากคุณภาพสินทรัพย์ค่อนข้างปลอดภัยในกลุ่ม ธ.พ. ขนาดใหญ่ คาด Div yield ปี 2563 ราว 2.2% (สมมติฐานการจ่ายเงินปันผล 25% ของกำไรสุทธิ) ตามด้วย KBANK ราคาเหมาะสม 90 บาท แม้ราคาเกินมูลค่าที่เหมาะสม แต่แนะนำ Trading (ต้นทุนต่ำแนะ Let profit run) จากการตั้งสำรองในช่วง 9 เดือนปี 63 ที่สูงพอสมควร ตามด้วย TISCO ราคาเหมาะสม 80 บาท มองอัตราผลตอบแทนเงินปันผลระดับ 5% ยังน่าสนใจ