BCP ขาดทุนสุทธิ 647 ลบ. Q3 บันทึกขาดทุนด้อยค่าทรัพย์สินฉุด

HoonSmart.com>>บางจาก คอร์ปอเรชั่น ไตรมาส 3/63 ขาดทุนสุทธิ 647 ล้านบาท ลดลง 275% จากงวดปีก่อน เหตุบันทึกด้อยค่าทรัพย์สินธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 1,003 ล้านบาท ด่านค่าการกลั่นลด ฉุดรายได้จากการขายและการให้บริการร่วง 28% จากงวดปีก่อน แต่ฟื้นตัวขึ้นจากไตรมาส 2/63

บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2563 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.2563 พลิกขาดทุนสุทธิ 647.02 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.58 บาท ลดลง 275% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 369.80 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.27 บาท

ส่วนงวด 9 เดือน ปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 7,218.50 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 5.59 บาท ลดลง 749% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 1,111.87 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.81 บาท

ในงวดไตรมาส 3/2563 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 33,652 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% จากไตรมาสก่อน แตลดลง 28% เมื่อเทียบงวดเดียวกันของปีก่อน มี EBITDA 2,769 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 145% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 29% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งการปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากสถานการณ์ไวรัส COVID-19 เริ่มคลี่คลาย รัฐบาลจึงคลายมาตรการล็อกดาวน์เพิ่มส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันค่อยๆฟื้นตัวขึ้น และราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน แต่ปรับเพิ่มขึ้นในกรอบแคบ เนื่องจากตลาดยังมีความกังวลการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 รอบ 2

ในไตรมาสนี้กลุ่มบริษัทฯ มี InventoryGain 272 ล้านบาท (รวมกลับรายการขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ (NRV) 26 ล้านบาท) และจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำส่งผลกระทบต่อความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการต่างๆ ของบริษัทร่วม OKEA ทำให้มีการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าทรัพย์สินของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 1,003 ล้านบาท ส่งผลให้ไตรมาสนี้มีขาดทุนสุทธิ 647 ล้านบาท เติบโต 66% จากไตรมาสก่อน แต่ลดลง 275% เมื่อเทียบงวดปีก่อน

ด้านกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้า ผลดำเนินงานยังได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันและค่าการกลั่น โดยค่าการกลั่นพื้นฐานในเดือนมิ.ย.ที่ 6.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ในเดือนก.ย.ปรับลดลงมาอยู่ที่ 0.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทำให้ในไตรมาสนี้มีค่าการกลั่นพื้นฐาน 2.33 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งปรับลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซล-ดูไบลดลงต่อเนื่อง ซึ่งผลิตภัณฑ์โรงกลั่นมีสัดส่วนการผลิตมากที่สุด อีกทั้งได้รับผลกระทบเงินบาทแข็งค่า

ส่วนกลุ่มธุรกิจการตลาด ธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น ขณะที่กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติผลดำเนินงานลดลง